1 ก.ค. 2564 นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กรุงเทพฯเขตภาษีเจริญ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าและยุ่งยากของระบบการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าโครงการ Home Isolation และ Community Isolation ว่าตอนนี้ประชาชนสับสนเพราะไม่รู้ว่าเมื่อพบว่าตนเองติดเชื้อแล้ว จะต้องไปเริ่มต้นติดต่อหน่วยงานไหนในชุมชนเพราะทั้ง อสส. ศูนย์สาธารณสุข และศูนย์พักคอยในแต่ละเขตก็โยนกันไปมา รวมถึงเมื่อจะต้องส่งตัวผู้ติดเชื้อระดับสีแดงไปรักษาต่อในโรงพยาบาล กลับต้องจองคิวผ่านแอปพลิเคชันมือถือ ทำให้คนสูงอายุและคนยากจนกลับเข้าไม่ถึงการรักษา โดยนางสุภาภรณ์กล่าวภายหลังลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนติดเชื้อโควิดว่า ภายหลังจากศบค. อนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเองหรือ Antigen Test Kit ปรากฏว่าในชุมชนหลายแห่งพบการตรวจพบเชื้อสูงขึ้น ชุมชนในย่านภาษีเจริญอย่างน้อย 9 ชุมชนก็รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งระบบ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งในหลักการดีควรสนับสนุน แต่ระบบปฏิบัติในขั้นตอนการปฏิบัติงานพบปัญหาแทบทุกจุดทุกขั้นตอน ดังนี้
ประการแรก เมื่อเราตรวจพบผู้ติดเชื้อจากการใช้ชุดตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเองหรือ Antigen Test Kit แล้ว ปัญหาคือ เราหาโรงพยาบาลในการส่งตัวผู้ติดเชื้อไปตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยระบบ RT-PCR ยากมาก เราก็ต้องกระจายผู้ติดเชื้อให้ไปตรวจซ้ำในหลายโรงพยาบาล ต้องเดินทางก็เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ
ประการสอง เมื่อผู้ติดเชื้อกลับเข้าชุมชนทำ Home Isolation ก็ไม่รู้จริงๆว่า จะต้องเริ่มต้นติดต่อหรือบอกใคร เมื่อถามไปผู้นำชุมชน ก็ให้ไปถาม อสส. อสส. ก็ให้ไปถามศูนย์สาธารณสุข ศูนย์สาธารณสุขก็ให้ไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์สายด่วน 1330 คนติดเชื้อก็โทรจนท้อใจ หากไปติดต่อศูนย์พักคอย ศูนย์พักคอยก็จะให้กลับไปที่ศูนย์สาธารณสุขอีก จึงกลายเป็นว่า ในแต่ละเขตใครเป็นเจ้าภาพดูแล เมื่อประชาชนติดเชื้อและต้องการแจ้งเข้าระบบ Home Isolation จะต้องไปติดต่อใคร ตรงนี้สับสนทุกเขต
ประการสาม เรื่องจัดยา จัดทีมแพทย์มาตรวจ และจัดอาหาร ต้องบอกว่าล่าช้ามาก เพราะต้องไปกรอกข้อมูลผ่านมือถือ ยุ่งยากซับซ้อน จนผ่านไปเป็นสัปดาห์ก็ยังไม่ได้ยา ส่วนเรื่องอาหารก็มีคนในชุมชนทำโครงการดูแลกันเอง แต่ถ้ากรณีเป็นบ้านเดี่ยว ตึกแถว ไม่ได้อยู่ในชุมชนก็จะเหมือนถูกปล่อยปละละเลย
ประการสี่ หากผู้ติดเชื้อรอเตียงนานจนอาการเพิ่มขึ้นจากระดับสีเขียว ไประดับสีเหลืองจนถึงระดับสีแดง เมื่อจะส่งตัวไปโรงพยาบาลก็พบว่า โรงพยาบาลหลายแห่งไม่รับตัว บอกว่าต้องไปลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองของโรงพยาบาลเพื่อจองคิวก่อน ซึ่งคนป่วยระดับสีแดงยากจนไม่มีมือถือ จะไปกดจองคิวผ่านแอปฯ ได้อย่างไร ทำไมไม่รีบจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้เขา แต่กลับให้เขาต้องไปจองคิวรักษา เท่ากับว่าถ้าได้คิวก็ได้รักษา ถ้ากดคิวไม่ได้ก็อดเข้ารับการรักษา ชีวิตคนป่วยขั้นวิกฤตขึ้นอยู่กับดวงและแอปพลิเคชันของภาครัฐเท่านั้นหรือ ทำไมรัฐต้องเอาขั้นตอน ระเบียบ และระบบราชการมาเป็นอุปสรรคในการเขาถึงการรักษา ทั้งที่ระบบราชการ ควรช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ลงเพื่อช่วยชีวิตชาวบ้านในยามวิกฤต
“ภาครัฐที่คิดระบบ Home Isolation ไม่มีความเข้าใจระบบการทำงานที่ตัวเองดูแลอยู่ ไม่เข้าใจข้อเท็จจริงของปัญหาว่าวันนี้ผู้ป่วยล้น คนปฏิบัติงานขาดแคลน หน้างานไร้เจ้าภาพดูแล จะติดต่ออะไรก็พบแต่ระบบราชการที่ซับซ้อน และสร้างขั้นตอนที่ยุ่งยากให้ประชาชนสารพัด จนแทนที่จะเอาเวลาไปช่วยผู้ป่วยได้กลับต้องเอาเวลามาจิ้มมือถือเพื่อจองคิวผ่านมือถือ ถ้ารัฐยังแก้ปัญหาแบบไร้ทิศทางแบบนี้ น่าเป็นห่วงว่าในช่วงสัปดาห์หน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจนดูแลไม่ไหวและจะกลายเป็นสาธารณสุขล้มเหลวในที่สุด” นางสุภาภรณ์ กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |