การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด (บ้านน้ำคำ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน/ สานพลังทางสังคม หน่วยงานภาคีร่วมมือชุมชนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาใช้พื้นที่ชุมชนต้นแบบ 5 จังหวัด อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ นครราชสีมา และพัทลุง เป็นพื้นที่วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สร้าง ‘วัคซีนทางสังคม’ เริ่มกรกฎาคม-ธันวาคมนี้ โดยจะใช้ผลการศึกษาวิจัยจากชุมชนต้นแบบเป็นโมเดลขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในปี 2564 ที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ตระหนักถึงสภาวะวิกฤตความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการวิจัยการสนับสนุนการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19’ ขึ้นมา ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคมนี้
โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม มีการจัดการประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนโครงการวิจัยฯ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยการประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น สปสช. สช. สสส. สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ประมาณ 87 คนร่วมประชุม
การประชุมผ่านระบบ Zoom
โครงการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากโควิด
นางสาวจันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการวิจัยการสนับสนุนการจัดการเชิงพื้นที่ฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ว่า 1. เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา ผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ในชุมชน และคนเปราะบาง ในมิติด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม 2. เพื่อหนุนเสริมและสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายองค์กรชุมชนในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในระยะเร่งด่วนและระยะฟื้นฟู ในมิติทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
3.เพื่อศึกษาระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ของชุมชนที่เป็นโมเดลต้นแบบและขยายผลไปยังชุมชนอื่น 4. เพื่อเสริมพลังกลไกเครือข่ายชุมชนให้เป็นระบบเครือข่ายความปลอดภัย (Social Safety Net) ในการป้องกันความเสี่ยงของชุมชนเมื่อเกิดสภาวะวิกฤต และ 5. เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อรองรับสภาวะวิกฤต (Pre-crisis management) ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ มอบอาหาร-น้ำดื่มให้โรงพยาบาลสนาม
ทั้งนี้การดำเนินโครงการวิจัยได้เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคม-ธันวาคมนี้ โดยจะเริ่มกระบวนการตั้งแต่การจัดตั้งกลไก เตรียมทีมงานโครงการ การคัดเลือกจังหวัดเป้าหมาย วางแผนการดำเนินงานร่วมกับกลไกและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง สำรวจปัญหา ความต้องการของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อออกแบบแนวทางความช่วยเหลือ ทั้งในระยะเร่งด่วน เฉพาะหน้า ระยะฟื้นฟู และพัฒนา การดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน
การเชื่อมโยง ประสานความความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก การบูรณาการแผนงาน และ เชื่อมโยงสู่แผนการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด การวิเคราะห์และสรุปบทเรียนผลการดำเนินงานของโครงการ
การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาโครงการร่วมกัน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับชุมชน กลไกในพื้นที่ และหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและพัฒนาเป็นแผนหรือนโยบายระดับพื้นที่ ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการเชิงรุกรองรับสภาวะวิกฤตเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ใช้พื้นที่ชุมชนต้นแบบ 5 จังหวัดอีสาน-ใต้เป็นพื้นที่วิจัย
สำหรับการคัดเลือกจังหวัดที่ดำเนินการวิจัยครั้งนี้ คณะกรรมการโครงการฯ ได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งของกลไกเครือข่ายองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ เช่น มีการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชนตำบล ฯลฯ มีการประสานความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น สามารถขับเคลื่อนงานโครงการให้บรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกวิจัยนำร่อง 5 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ นครราชสีมา และพัทลุง
ส่วนการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่ 5 จังหวัดจะมีทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน บ้านมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย ฯลฯ ร่วมเป็นคณะวิจัย ทั้งนี้การขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้จะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนจน กลุ่มเปราะบาง รวมถึงเปิดพื้นที่ให้คนจนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอนด้วย โดยทั้ง 5 จังหวัดมีแผนงานการขับเคลื่อนเบื้องต้นดังนี้
กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคำโพน จ.อำนาจเจริญ มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด
สุรินทร์ : เตรียมข้อมูลพื้นที่เพื่อวางแผนการทำงาน คัดเลือกชุมชน 5 พื้นที่ตามเกณฑ์ที่ภาคลงมติร่วมกัน โดยเลือกพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีต้นทุนในการทำงานอยู่แล้ว ทั้งพื้นที่ชนบทและพื้นที่เมือง
นครราชสีมา : ใช้กลไกสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกหลัก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่มี สร้างทีมนักวิจัยและนักปฏิบัติการ ออกแบบเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อสรุปบทเรียนพื้นที่
กาฬสินธุ์ : เตรียมคัดเลือกพื้นที่ตามเกณฑ์ที่ภาคมีข้อตกลงร่วมกัน มีทั้งหมด 5 พื้นที่ 5 โมเดล มีการวางทีมคณะทำงานโดยเชื่อมโยงการทำงานทั้งในส่วนของท้องที่และท้องถิ่น
อำนาจเจริญ : วางแผนการทำงานร่วมกับทีมวิชาการในพื้นที่ ทั้งแกนนำขบวนองค์กรชุมชน ผู้แทนจากพื้นที่ทั้งเขตเมืองและชนบท ภาคีที่เกี่ยวข้อง (พมจ.) มีการนิยามคำว่าชุมชนร่วมกันเพื่อคัดเลือกพื้นที่ ชุมชนเมือง และชุมชนชนบท
พัทลุง : กำหนดเป้าหมายทำงานเชิงรุก สร้างอาชีพ ลดการพึ่งพาระบบสาธารณสุข เช่น จัดตั้งศูนย์พักคอย ใช้สมุนไพรรักษาโควิด ใช้ทุนชุมชนเพื่อสร้างโมเดลในการจัดการตนเอง โดยใช้กลไกชุมชน ผ่านการระดมทุนและการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เป้าหมาย 5 ชุมชน 50 ครัวเรือน
ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการโครงการวิจัยครั้งนี้ เป็นงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 3.3 ล้านบาทเศษ ในจำนวนนี้เป็นงบสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน-ฟื้นฟู-พัฒนา เช่น การดูแลสุขภาวะในช่วงโควิด การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย จังหวัดละ 500,000 บาท โดยแต่ละจังหวัดจะมีพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในการวิจัยอย่างน้อย 5 ชุมชน
วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว
นางสาวจันทนา กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้มีโจทย์การวิจัยที่สำคัญ คือ 1. การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชน มีผลกระทบต่อคนเปราะบางในมิติทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างไรบ้าง 2. การแก้ไขปัญหาวิกฤตในชุมชนเพื่อการดูแลคนเปราะบางเดิม (ก่อนที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่) มีการจัดการอย่างไร
3.ชุมชนจะมีระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาคนเปราะบางในสภาวะวิกฤตโควิด-19 ในระยะเร่งด่วน ระยะฟื้นฟู ในมิติทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่อย่างไร และ 4. ชุมชนจะมีการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้พ้นสภาวะวิกฤต
นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเสนอความเห็นว่า การวิจัยเรื่องโควิดครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการสร้างระบบของชุมชนเพื่อดูแลช่วยเหลือกันในระยะยาว โดยใช้โอกาสจากงานวิจัยมาหนุนเสริม ใช้ทุนต่างๆ ที่มีในชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนมาช่วยเหลือกันในช่วงโควิด หรือมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเปราะบางเพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และต้องจัดทำข้อมูลกลุ่มเปราะบางให้ชัดเจน มีปัญหาความต้องการอย่างไร อาจเชื่อมทุนจากภายนอกมาหนุนเสริม และต้องเปลี่ยนระบบ ต้องทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนมาดูแลกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
“ระยะยาวชุมชนจะสามารถจัดระบบ เพื่อวางแผนพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมของชุมชน รวมทั้งแผนพัฒนาในด้านต่างๆ และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายนอกเหนือจาก 5 จังหวัดที่วิจัย เพื่อให้พื้นที่อื่นมาเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยน เช่น ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่วิจัย แต่ได้รับผลกระทบมาก จะเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อเกื้อหนุนกัน เช่น นำสินค้าผลผลิตจากชุมชนมาแลกเปลี่ยนหรือขายราคาถูก และใช้โอกาสจากงานวิจัยไปทำงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ สามารถตอบคำถามงานวิจัยได้ เพราะชุมชนไม่ได้ทำวิจัยเพื่อวิจัย แต่เป็นการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา และขยายการพัฒนาของชุมชนไปเชื่อมโยงกับระบบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้” นางสาวพรรณทิพย์กล่าว
พี่น้องเครือข่ายชุมชน จ.กาญจนบุรี ส่งน้ำใจช่วยเหลือชาวชุมชน กทม.ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
นพ.สำเริง แหยงกระโทก จากจังหวัดนครราชสีมา เสนอความเห็นว่า อยากให้งานวิจัยครั้งนี้เน้นไปที่จุดสำคัญ คือ การทำศูนย์พักคอย หรือ CI (Community Isolation) ว่า CI เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไร มีความสำเร็จอย่างไร หรือไม่สำเร็จ ให้เจาะลึกเพื่อให้เกิดบทเรียนที่ชัดเจน เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครทำวิจัยเรื่องนี้ ยังเป็นเรื่องใหม่
“ขณะนี้โรงพยาบาลไม่พอ โรงพยาบาลสนามก็ไม่พอ ดังนั้นชุมชนจึงต้องมาช่วยกันทำ CI เพื่อมาดูแลผู้ป่วยสีเขียวหรือเหลืองอ่อนซึ่งยังมีอาการไม่มาก เพราะไม่ต้องใช้หมอ ไม่ต้องใช้พยาบาล ใช้คนในชุมชนมาช่วยกันทำ ดูแลกัน เช่น อบจ. อบต. พระ อสม. ชาวบ้าน ฯลฯ เป็นการรวมตัวของคนในตำบล จึงอยากให้ทีมวิจัยภาคอีสาน 4 จังหวัดทำวิจัยเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นบทเรียน” นพ.สำเริงเสนอ
ระดมสรรพกำลังสู้โควิด-สร้างวัคซีนทางสังคม
นุชจรี พันธ์โสม เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง เล่าว่า สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีสมาชิก 20 ชุมชน ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ จัดทำครัวกลางเพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้ยังใช้ที่ว่างในชุมชน (ที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์) ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก เพื่อนำมาเป็นทำอาหาร และเป็นแหล่งอาหารสำรองของชุมชน รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ป้องกันการแพร่เชื้อ แจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ
สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ถือเป็นต้นแบบแห่งหนึ่งในการรับมือกับโควิด โดยใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นศูนย์พักคอยในชุมชน
“ส่วนโควิดปีนี้ เราได้เตรียมสถานที่พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยจะใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชน รองรับได้ผู้ป่วยได้ 10 เตียง และเตรียมห้องประชุมของชุมชนรองรับได้ประมาณ 30 เตียง ส่วนผู้ที่ป่วยไม่มากหรือมีสถานะสีเขียว เราจะให้กักตัวในบ้าน (Home Isolation) แยกตัวออกจากคนในครอบครัว โดยเราจะส่งข้าวกล่องให้ 3 มื้อ และประสานงานกับ สปสช.เพื่อจัดส่งยา เครื่องวัดอ๊อกซิเจน เพื่อวัดค่าอ๊อกซิเจนในเลือด และรายงานผลทางไลน์ให้ทางศูนย์สาธารณสุขทราบทุกวันเพื่อติดตามอาการและดูแลผู้ป่วย” นุชจรีบอกถึงการดูแลผู้ติดเชื้อ
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การทำศูนย์พักคอยในชุมชนหรือ CI หรือศูนย์พักพิงเพื่อจะส่งต่อ ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถจะส่งต่อไปไหนได้แล้วเพราะไม่มีที่จะให้ส่ง แต่ CI จะดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ซึ่งชุมชนสามารถทำได้ โดยเฉพาะ พอช. เครือข่ายชุมชน สภาองค์กรชุมชน เพราะทำเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องอาชีพ และที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว
นพ.ปรีดากล่าวว่า การทำ CI โดยชุมชนไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ จึงต้องช่วยกันทำ และต้องรีบทำ เพราะไม่งั้นจะเสียชีวิตอีกมาก และมี ‘4 อ.’ ที่ต้องช่วยกันทำ คือ 1. อาการ ดูอาการ การหายใจ ว่าเป็นอย่างไร รักษาตามอาการ และช่วยกันดูแล 2.อาหาร 3. อาศัย คือศูนย์พักคอยหรือที่พักพิง และ 4. อาศัยฐานทุนที่มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
“ถ้าเป็นไปได้อยากให้ สปสช.เชื่อม CI เข้าสู่ระบบและจัดสรรงบประมาณให้ศูนย์พักคอยชุมชนโดยตรง เช่น ทำเรื่องอาหาร เพื่อขยายการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ทำให้ชุมชนที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จะได้มีอาชีพ โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำเรื่องนี้ จนกว่าวัคซีนจะมีมากขึ้น และสิ่งที่พวกเราทำนี้ ทั้งสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เป็นวัคซีนทางสังคมที่พวกเราช่วยกันทำได้อย่างดี ต้องสร้างเครือข่าย ต้องทำต่อไป และขยายไปทั่วประเทศ แล้วเราจะไปรอด” นพ.ปรีดาย้ำ
สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ สร้างวัคซีนทางสังคม นำอาหารและสิ่งของจำเป็นมอบให้ครอบครัวที่กักตัวในบ้าน
นพ.ปรีดากล่าวในตอนท้ายว่า ในวันที่ 9 สิงหาคมนี้จะมีการพูดคุยกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ โดยมี สปสช. สสส. พอช. และพี่น้องชุมชน เพื่อกระชับความร่วมมือให้เต็มที่และมากขึ้น เพราะจะต้องระดมสรรพกำลังร่วมกันให้มากกว่าโควิดรอบแรก เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์หนักกว่าสงครามโลก เป็น ‘สงครามโรค’ และหากระบาดระลอก 4 หรือเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่จะอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่านี้ ขณะที่ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้แล้ว
ดังนั้นจึงต้องช่วยกันยันสมรภูมิในพื้นที่ให้ชัดเจน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยใช้จุดแข็งของ พอช.และสภาองค์กรชุมชน คือมีกำลังคนในพื้นที่ มีทีม และมีทุนบางส่วนแล้ว ในส่วนของ สปสช. สสส. และ สช.จะเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องรูปแบบ ความรู้ เรื่องการจัดการ การรับมือกับโรคระบาด เพื่อดูแลพี่น้องในชุมชน เป็นการสานพลัง สานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหากฎระเบียบต่างๆ หรืออุปสรรคทางนโยบาย โดย สช.จะช่วยเชื่อมประสานงานทางหน่วยงานนโยบาย เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เป็นทางรอดของประเทศไทย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |