บิ๊กตู่ถกทีมเศรษฐกิจ ลั่นงบประมาณยังคล่อง พร้อมดูแลกลุ่มพิเศษดึงให้พ้นวิกฤติ ขณะที่สมาคมธนาคารไทยประสานธนาคารสมาชิก พร้อมรับโอนเงินเยียวยาประกันสังคมผ่านระบบพร้อมเพย์ เริ่ม 4-6 ส.ค.โอนเงินเข้ากระเป๋า 10 จังหวัดสีแดง
เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ส่งผ่านคณะทำงานซึ่งเป็นการบันทึกเทปไว้ในช่วงเวลา 17.00 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการประชุมทีมเศรษฐกิจเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน ทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สาธารณสุข เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 ก.ค.ได้หารือกับคณะทำงานด้าน เศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งประเทศรอบบ้านของเราในทุกมิติ
พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ในส่วนของเงินงบประมาณตนเองได้สอบถามไป ก็ได้รับการยืนยันว่างบประมาณของประเทศยังมีเพียงพออยู่ ซึ่งเราใช้งบประมาณก้อนแรกไปแล้วจากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเหลืออยู่ประมาณกว่า 2 พันล้านบาท ส่วนงบประมาณงวดใหม่กว่า 500,000 ล้านที่ได้ขออนุมัติเงินกู้มานั้นยังไม่ได้ใช้อะไรเลย จึงสั่งการว่าต้องเตรียมมาตรการให้พร้อมทั้งมาตรการเดิมและมาตรการใหม่ ซึ่งอาจจะต้องมีการพุ่งเป้าลงไปในบางกิจการหรือบางกลุ่มเป็นพิเศษให้ทั่วถึง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกันในเรื่องการเพิ่มเติมวัคซีนให้ภาคธุรกิจ เจ้าของโรงงาน รวมทั้งแรงงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ไปแล้ว ทั้ง ม.33, ม.39, ม.40 ซึ่งคนที่ไม่ได้อยู่ใน ม.33 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนได้ ยังมีเวลาอีก 3 วัน สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ ทำอย่างไรจะไม่ทำให้ภาคการผลิตเสียหาย แต่ก็มีหลายโรงงานที่จำเป็นต้องปิดเนื่องจากมีการแพร่ระบาด ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
“วันนี้หลายโรงงานให้ความร่วมมือในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม แต่บางโรงงานทำไม่ได้ก็ต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้ เพื่อแยกไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีทั้งในส่วนของกระทรวงแรงงานและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทั้งนี้การพูดคุยกันในวงเศรษฐกิจนี้มีหลายประเด็น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า รวมทั้งแก้ปัญหาปัจจุบันด้วย” นายกรัฐมนตรีระบุ
วันเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยได้มีการประสานธนาคารสมาชิก เพื่อเตรียมพร้อมดำเนินการรับโอนเงินเยียวยาประกันสังคมเข้าบัญชีธนาคารผ่านระบบพร้อมเพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้นายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกปิดกิจการตามประกาศคำสั่งของ ศบค. โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะทำการโอนให้ผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ได้รับสิทธิ์ในวันที่ 4-6 สิงหาคม 2564 เฉพาะ 10 จังหวัด จำนวนผู้ประกันตนกว่า 2.87 ล้านราย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สำหรับ 3 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จะแจ้งการโอนเงินให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง
ทั้งนี้ นายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้ ต้องเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ตามคุณสมบัติและเงื่อนไข โดย สปส.จะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์บนเว็บไซต์ของ สปส. โดยผู้ประกันตนที่มีบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนจะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องติดต่อธนาคารเพื่อเปิดบัญชีใหม่ หรือลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยบัตรประชาชนใหม่ สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ์และมีบัญชีธนาคาร แต่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน หรือเดิมผูกด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ สามารถดำเนินการผูกบัญชีหรือเปลี่ยนพร้อมเพย์จากโทรศัพท์มือถือมาเป็นผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนด้วยตนเอง ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารที่มีบัญชีอยู่ เช่น Mobile Application, Internet Banking และเครื่อง ATM ตามช่องทางที่แต่ละธนาคารให้บริการ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคาร เพื่อความสะดวกและลดความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19
ส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ์และยังไม่เคยมีบัญชีเงินฝาก สามารถใช้บริการเปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ จากนั้นค่อยลงทะเบียนผูกพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขบัตรประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอรับสิทธิ์ตามมาตรการเยียวยาดังกล่าว หากมีข้อสงสัยเรื่องการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชนหรือช่องทางที่สามารถทำได้ สามารถศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ หรือติดต่อสอบถามผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารที่ใช้บริการอยู่
ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) มีมติดังนี้ 1.เห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิ์จากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเป็นการจ่ายย้อนหลังให้แก่ผู้มีสิทธิ์จำนวน 4.7 ล้านคน รายละเอียดคือ ปีงบประมาณ 2563 จ่ายเงินสงเคราะห์ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. อัตรา 100 บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และอัตรา 50 บาท/เดือน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และปีงบประมาณ 2564 เป็นอัตราเช่นเดียวกับปีก่อน จ่ายเดือนเว้นเดือน (6 งวด) เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2563
น.ส.รัชดาระบุว่า 2.เรื่องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นที่เคยเป็นประเด็นก่อนหน้า ที่ประชุมมีมติตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คือคืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้สูงอายุที่รับเงินซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นราย และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังหาแนวทางดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือน หลัง ครม.พิจารณาเห็นชอบมติดังกล่าว, ถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพฯ แบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกมิติ 3.เห็นชอบขยายเวลาการพักชำระหนี้ของลูกหนี้กองทุนผู้สูงอายุ ต่อไปอีก 6 เดือน จากที่จะหมดเวลาในเดือน 30 ก.ย.ปีนี้ ไปจนถึง 31 มี.ค.65 4.เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) พร้อมรับสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |