ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบอย่างหนักในด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ในด้านเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของทางการ หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ก็เจอกับสถานการณ์กดดันในด้านเศรษฐกิจในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
สำหรับประเทศไทยเอง ภาพที่เห็นได้ชัดเจนจากผลกระทบจากการปิดกิจการ ส่งตรงมายัง “แรงงาน” ปัญหาการว่างงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะพยายามผลักดันมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของ “ภาคแรงงาน” แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังทำได้ไม่ดีพอ เรียกว่าการแก้ปัญหายังไม่ตรงจุดเกิดเหตุ! นั่นเพราะหากยังควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัดไม่ได้ การแก้ปัญหาในมิติอื่นๆ ที่กำลังประสบก็จะไม่สัมฤทธิผลอย่างแน่นอน
พูดกันตามตรงว่า ปัญหาการว่างงาน คนไม่มีงานทำ คนตกงาน ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่ประสบ โดยจากข้อมูลของ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ซึ่งได้จัดทำ World Employment and Social Outlook – Trends (WESO Trends) ปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานแนวโน้มการจ้างงานและประเด็นทางสังคมทั่วโลก พบว่า ILO มีการคาดการณ์ว่าวิกฤติตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการเติบโตของการจ้างงานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้น และปัญหาดังกล่าวอาจจะกินระยะเวลายาวนานถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย
โดย ILO ระบุว่า ตำแหน่งงานขาดแคลน เนื่องจากวิกฤติโลกจะทะยานสูงถึง 75 ล้านตำแหน่งในปีนี้ ก่อนจะปรับลดลงมาเหลือ 23 ล้านตำแหน่งในปี 2565 ขณะที่ช่องว่างที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน รวมถึงการว่างงานและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง มีจำนวนเทียบเท่ากับการจ้างงานเต็มเวลา 100 ล้านตำแหน่งในปีนี้ และ 26 ล้านตำแหน่งในปีหน้า อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีคนว่างงานทั่วโลกพุ่งสูงถึง “205 ล้านคน” ซึ่งสูงกว่าปี 2562 ที่มีคนว่างงานทั่วโลกอยู่ที่ 187 ล้านคน ข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ 5.7% และหากตัดเหตุผลด้านการระบาดของโควิด-19 ออกไป จะเท่ากับว่าการว่างงานในอัตราดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556
สำหรับประเทศไทย “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ประเมินตลาดแรงงานไทยว่ามีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิด scarring effects ที่แก้ไขได้ยาก หากไม่ดูแลอย่างทันท่วงที โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระยังมีความกังวลมากและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3
ตลาดแรงงานอาจจะมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าในอดีต และคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวจะมีลักษณะเป็น W-Shaped ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวเริ่มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้อาจทำให้ในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น กลุ่มนี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ช้า จากการสูญเสียทักษะและอาจทำให้ตลาดแรงงานกลายเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ธปท.ยังได้มีการประเมินระดับรายได้ของกลุ่มแรงงาน พบว่าแรงงานในภาคการค้ามีรายได้ลดลง และเริ่มเห็นการปลดพนักงาน ส่วนภาคบริการรายได้ปรับลดลงชัดเจน มีการลดวันทำงาน ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของครัวเรือนที่เดิมเปราะบางอยู่แล้ว
ขณะที่ “สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย” ได้ออกมายอมรับว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจแล้วไม่น้อยกว่า 11 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 65.3% ของจีดีพีจากปี 2562 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)
ขณะที่ผลกระทบในตลาดแรงงานพบว่า หากเปรียบเทียบตัวเลขแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ในเดือน พ.ค.2564 พบว่ามีจำนวน 11.07 ล้านคน ขณะที่ช่วงเดียวกันในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาด มีแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 อยู่ที่ 11.54 ล้านคน ข้อมูลตรงนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “วิกฤติเศรษฐกิจทำให้แรงงานในระบบหายไปแล้วถึง 4.63 แสนคน หรือลดลง 4.01%”
ส่วนแรงงานต่างด้าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงานของประเทศ พบว่าในเดือน พ.ค.2562 แรงงานต่างด้าวทุกประเภท อยู่ที่ 3.18 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลในเดือน พ.ค.2564 แรงงานในส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น หายไปกว่า 27.6% หรือ 8.82 แสนคน เมื่อรวมกับแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 จะพบว่า ขณะนี้แรงงานหายไปแล้วว่า 1.34 ล้านคน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี แสดงให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่หดตัวอย่างชัดเจน
โดยแรกเริ่มเดิมที “สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย” ได้มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่า ในปี 2564 อัตราการว่างงานสะสมของแรงงานไทยจะอยู่ที่ระดับ 2.9 ล้านคน และมองว่าภาพรวมตลาดแรงงานไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ แต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่ ตามทิศทางของเศรษฐกิจและยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับแรงงานไทยที่มี 3 รูปแบบ คือ 1.แรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบัน 2.แรงงานที่ตกงาน และ 3.แรงงานใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเร่งปรับลดรายจ่ายเพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดนั่นเอง
ด้าน “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” เอง ก็มองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง “ตลาดแรงงาน” อีกด้วย นั่นหมายถึงรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในการคุ้มครองทางสังคม ตลาดแรงงาน รวมถึงประชากรสูงวัยที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ให้สามารถรับมือและเข้าใจกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้
“ภาวะประชากรสูงวัยในไทย จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในไทย และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้น การมีนโยบายที่ดี จึงมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนตลาดแรงงานอย่างมาก และทำให้ตลาดแรงงานไทยมีความยั่งยืน ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี”
แฮรี โมรอซ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ตำแหน่งงาน 7 แสนตำแหน่งหายไปจากตลาดแรงงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานก็ลดลงด้วย ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าแรงงานในระบบ ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอีกครั้ง สะท้อนจากในไตรมาส 1/2564 พบว่าชั่วโมงการทำงานมีการปรับตัวลดลงกว่าปีก่อน ตรงนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานไทยไม่มีการฟื้นตัว หรือฟื้นตัวได้ช้า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหายไปจำนวนมาก ขณะที่แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด
"ผลกระทบจากประชากรสูงวัยเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน การหดตัวของวัยทำงานอย่างมากในไทยจะหลายเป็นปัญหาในระยะยาว หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบายที่ชัดเจน อาจทำให้ตั้งแต่ปี 2563–2583 จะมีแรงงานในวันทำงานลดลงอย่างน้อย 4 ล้านคน ขณะที่ประชากรสูงวัยที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงด้วย" นายแฮรีระบุ
และก่อนหน้านี้ “ธนาคารโลก” ยังเคยประเมินผลกระทบที่รุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ยังไม่มีการระบาดในระลอกที่ 2 และ 3 ว่า สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้มีคนไทยจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน โดยการเกิดขึ้นของโควิด-19 ถือเป็นประเด็นซ้ำเติมความท้าทายเดิมที่มีอยู่แล้วในตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่อ่อนแอลง และแรงงานนอกระบบ รวมถึงในระยะกลางยังต้องเผชิญปัญหาประชากรสูงอายุด้วย
โดย “ธนาคารโลก” มีข้อเสนอเพื่อช่วยประสิทธิภาพของแรงงานโดยรวม ในระยะสั้น ด้วยการสนับสนุนให้ขยายการคุ้มครองเพื่อช่วยแรงงานที่ตกงาน ผ่านมาตรการเยียวยาด้านการเงินและช่วยฝึกทักษะอาชีพสำหรับผู้ตกงาน ส่วนมาตรการระยะยาวคือการเพิ่มด้านประสิทธิภาพการทำงานให้สอดคล้องกับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ การลดช่องว่างระหว่างแรงงานผู้หญิงกับแรงงานชาย ตลอดจนแนะนำให้ขยายเวลาการเกษียณอายุออกไปอีก เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |