เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีความเปราะบางอย่างมากจากวิกฤติการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ก็เจอการระบาดของเชื้อไวรัสร้ายอย่างหนัก ทั้งอินโดนีเชีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนาม ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักพันถึงหลักหมื่น ไม่นับรวมเมียนมา ซึ่งไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการ
เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในเวลานี้กลายเป็นฮอตสปอต หรือศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ของโลก ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับกลุ่มประเทศในแถบยุโรป หรืออเมริกา ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดที่ตัวเลขดีขึ้นตามลำดับ
ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เกือบทุกประเทศอาเซียนเจอปัญหาแบบเดียวกันคือ ความประมาทในการบริหารจัดการ ยกตัวอย่างเคสไทยกับเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่คุมโควิดดีมาตลอด จึงทำให้ประมาท และวางแผนไม่ทันกับไวรัสที่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันในเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะวางแผนในการสั่งซื้อผิด ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับแล้ว และอีกส่วน คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางวัคซีน ที่ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนามีปัญหาในการหาซื้อวัคซีนได้ยาก เนื่องจากถูกกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อกวาดเก็บไปหมด แต่ยังไม่นับรวมกับปัญหาการล่มสลายของระบบสาธารณสุขในประเทศ ที่ส่งผลต่อการรองรับการรักษาผู้ป่วย
เมื่อรวมๆ กัน ส่งให้ประเทศในย่านอาเซียนกลายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก ที่เรียกว่าเข้าขั้นไอซียู
แน่นอนการระบาดในครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีมาตรการขอความร่วมมือในการงดออกจากบ้าน ก็ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจตกวูบได้รับผลกระทบ ซึ่งในเวลานี้หลายสำนักก็ประเมินว่า จีดีพีไทยอาจจะโตแค่ระดับ 1% หรือต่ำกว่านั้น
เพราะจากสถานการณ์ล่าสุดยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การระบาดของโควิดระลอกนี้จะไปจบที่ตรงไหน แต่ที่แน่ๆ ในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ จนถึงปลาย ก.ย. น่าจะเป็นช่วงที่ยังไม่น่าจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักได้ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.3% แต่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบ
ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยในเดือน พ.ค.ขยายตัวได้มากกว่า 40% ทำให้คาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวได้มากกว่า 10% ก็จะช่วยชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการบริโภคภายในประเทศได้บางส่วน
ซึ่งชัดเจนว่าการส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวที่พอจะประคองเศรษฐกิจได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีสิ่งที่น่ากังวล เพราะเจ้าเชื้อโควิด-19 ดันไประบาดในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะโรงงาน ซึ่งนี่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการส่งออกและการหารายได้ของไทย
โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังคงอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยกว่า 14,000 คน และมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในโรงงานมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวไม่คลี่คลายและขยายวงกว้างไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 อาจส่งผลให้ไทยมีโอกาสเผชิญกับภาวะห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก (Supply Side Disruptions) และนำมาซึ่งการขาดแคลนสินค้าอุปโภคและบริโภคภายในประเทศบางรายการได้ และจะสะท้อนไปถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออกตามมา
เมื่อโรงงานเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ หากการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานกระจายไปทั่วประเทศ และยังคุมการระบาดได้ไม่ดี บอกเลยว่างานนี้เรื่องใหญ่แน่นอน และจะกระทบไปยังเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นลูกโซ่ด้วย โดยเฉพาะการส่งออกที่เป็นความหวังของเรา.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |