ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างหนักของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่กลั่นกรองมวลน้ำถึง 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับการยกระดับเป็นปัญหาระดับชาติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพเขาหัวโล้นสร้างความตื่นตัวรักษาป่าให้กับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจน โครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานตามแนวพระราชดำริ ได้เข้ามาทำงานขับเคลื่อนเพื่อหยุดยั้งการทำลายป่าต้นน้ำน่านควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพป่าให้คืนกลับมาใหม่
เช่นเดียวกับนายบัณฑูร ล่ำซำ ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ"รักษ์ป่าน่าน" เพื่อหาทางรอดทำให้คนอยู่กับป่าได้ ในช่วงหลายปีมานี้ เจ้าสัวใหญ่แบงก์กสิกรไทย ไม่ย่อท้อในการปัญหา เพื่อผลักดันให้น่านหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการทำลายป่า และหาคำตอบที่เป็นทางออกให้กับชาวบ้าน เนื่องจากผลลัพธ์ของความพยายามยังไม่ขยับเขยื้อนเท่าที่ควร แม้จะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล รวบรวมสาเหตุของปัญหาหลายครั้งแล้วก็ตาม
ล่าสุดบัณฑูร ได้เป็นโต้โผใหญ่จัดการประชุมผู้นำชุมชน 99 ตำบล หัวข้อ"วิถีทำมาหากินอย่างยั่งยืนใน จ.น่าน" ที่บ้านเจ้าสัวบัณฑูร จ.น่าน เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้นำชุมชนในโครงการรักษ์ป่าน่านร่วมพบปะแลกเปลี่ยน และซีอีโอแบงก์กสิกรไทยได้แจกเอกสารประกอบการประชุมครั้งนี้ เป็นแผนที่ 2 ฉบับ แผ่นที่ 1 แสดงพื้นที่ทั้งหมดในแต่ละตำบล ปี 2560 ส่วนแผ่นที่2 แสดงพื้นที่การเกษตรบนพื้นที่สูงในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2560
นายบัณฑูร กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีแนวทางการพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox) ซึ่งการแก้ไขพื้นที่ป่าและการใช้ประโยชน์พื้นที่จังหวัดน่านและกลไกการบริหารจัดการ เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องที่รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญจะมีการทดลองบริหารจัดการด้วยวิธีการทำงานใหม่ ซึ่งตนกำลังจะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน โดยมีคณะกรรมการกำกับเชิงนโยบายควบคุมการทำงานแก้ไขพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านอีกชั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตลอดจนรัฐมนตรีของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำหรับคณะกรรมการดำเนินงานแก้ปัญหาป่าน่านนั้น จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนบุคคลที่มีความรู้ความสามารถร่วมทำงานกันเป็นทีมในการพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมรูปแบบใหม่ หรือ Nan Sandbox ซึ่งนายกฯ เห็นชอบในรูปแบบนี้
ซีอีโอกสิกรไทย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยอมรับการโครงสร้างเดิมและกลไกบริหารจัดการของกระทรวงต่างๆ และจังหวัดแก้ปัญหาน่านไม่ตก ทั้งจังหวัดมีพื้นที่อนุรักษ์และป่าสงวนฯ 6.4 ล้านไร่ แต่เห็นได้ชัดเจนจากสถานภาพป่าต้นน้ำน่านที่หายไป 1.8 ล้านไร่หรือถูกทำลาย 28% ภายในระยะ 10 ปี ข้อมูลนี้ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ เป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชติ ฟ้องถึงความล้มเหลวของการบริหารจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าน่าน ต่างก็โทษกัน และมีข้ออ้างถึงความอับจน คนที่แพ้ก็คือประเทศไทย การจะแก้ไขปัญหาต้องแก้กฎระเบียบเพื่อใ้ห้ข้อตกลงร่วมกันเกิดขึ้นได้ ไม่ดันทุรังกอดกฎหมายหรือกฎกระทรวงแบบเดิมๆ
" จังหวัดน่านจะเป็นตุ๊กตาทดสอบใน Sandbox จะแก้ไขปัญหาอย่างไร กรณีน่านหินที่สุด เพราะพื้นที่น่านอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และผืนป่ามีความเสียหายหนักอย่างมีนัยยะสำคัญ ระบบบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันแก้ปัญหาไม่ได้ ป่าต้นน้ำน่านเป็นโจทย์ของประชาชนและประเทศไทย ไม่ใช่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง รวมถึงจะต้องมีองค์ความรู้ของโลกสมัยใหม่หรือโลกทุนนิยมดึงมาเพื่อแก้ความอับจนในการทำมาหากินของภาคเกษตร" นายบัณฑูร กล่าว
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดน่านรูปแบบใหม่ ซีอีโอกสิกรนำเสนอโมเดลให้ฟังว่า เป็นการจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่านใน 99 ตำบล โดย 72 % ยังเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ 18% ต้องฟื้นฟูกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่อนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ และอีก 10% ยอมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ แต่ยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ โดยกฎหมาย
" 99 ตำบลในน่านจะจัดสรรกรรมสิทธิกันใหม่ เพื่อรักษาความยั่งยืนของระบบนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นข้อเสนอที่พบกันครึ่งทางระหว่างรัฐกับประชาชน ชาวบ้านมีสิทธิทำกินในป่าสงวนฯ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ไม่ใช่ปลูกข้าวโพดหรือพืชเดี่ยว เพราะพิสูจน์แล้วไม่รอด ไม่พอกิน และทำให้เสียป่าน่าน ในโมเดล Nan sandbox จะค้นหาว่าจะเลือกปลูกพืชผลชนิดใดให้คนอยู่กับป่าได้ และมีรายได้ต่อไร่ต่อคนมากขึ้น " นายบัณฑูร กล่าว
สำหรับพืชผลที่จะส่งเสริมให้ชุมชนปรับเปลี่ยนปลูกแทนข้าวโพด ศัตรูของป่าน่าน ซีอีโอกสิกรไทยระบุว่า จะต้องมีตลาดสินค้ารองรับ มีการแปรรูปเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างไร มีน้ำเพียงพอทำเกษตรหรือไม่ ดูเรื่องพันธุศาสตร์ และฟาร์มเทค ตนเห็นว่าต้องเพิ่มอำนาจต่อรองของเกษตรกร มียี่ห้อและเส้นทางถึงผู้ซื้อปลายทาง อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เกษตรกรเสียโอกาสจากการปลูกข้าวโพดจะต้องมีมาตรการชดเชยด้านการเงิน ซึ่งตนเห็นว่ามีกองทุนสีเขียวของต่างประเทศเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ในระหว่างการประชุมผู้นำชุมชน 99 ตำบล นายบัณฑูร ฝากถึงผู้นำแต่ละชุมชนด้วยว่า แต่ละตำบลต้องจัดสรรที่ดินในพื้นที่ของตนเองให้ได้ โดยเป็นตัวเลขที่เป็นธรรม พื้นที่ทำกินคืนเป็นผืนป่าจำนวนเท่าไหร่ จะมีพื้นที่เกษตรในป่าเท่าไหร่ รวมถึงสำรวจหนี้สินของแต่ละตำบลด้วย นี่คือ Set Zero เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ในการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่าน เมื่อ 99 ตำบลได้ข้อตกลงการจัดสรรที่ดินแล้ว จะรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกำกับเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าน่าน หากโมเดลนี้สำเร็จจะเป็นการพัฒนาแบบประชารัฐอย่างแท้จริง และเป็นตัวอย่างแก้ปัญหาป่าไม้และที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นายสว่าง เปรมประสิทธิ์ กำนันตำบลสะเนียง อ.เมือง 1 ใน 99 ผู้นำชุมชน กล่าวว่า ปัจจุบันตำบลสะเนียงมีการสำรวจและทำแนวเขตป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน และพื้นที่ทำการเกษตรแล้ว เห็นว่า ตัวเลข 18 % ที่ให้ชุมชนฟื้นคืนป่าให้เป็นต้นไม้ใหญ่ และอนุญาติให้ปลูกพืชเศษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ จะเป็นการสร้างอาชีพให้ชุมชน อาจจะปลูกต้นไม้ยืนต้นอย่างต้นสักเพื่อรักษาระบบนิเวศ
" การแก้ปัญหาจะต้องทำให้ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ ควรมีการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่เข้ากับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ที่ผ่านมาการพัฒนาติดขัดปัญหากฎหมายในบ้านเราที่มีหลายฉบับ การจัดการป่าต้องส่งเสริมให้ชุมชนดูแลรักษาป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ได้ แต่ละชุมชนมีข้อห้าม กติกา ไม่ขยายพื้นที่รุกป่าเพิ่มเติมอยู่แล้ว รัฐต้องให้ชาวบ้านทำกินในพื้นที่ทำกินที่ทำมาก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ต้องยอมรับว่า 85% ของพื้นที่จังหวัดน่านเป็นป่าสงวนฯ เป็นพื้นที่สูง มีพื้นที่ราบเพียง 10 % เท่านั้น
จากที่เคยเป็นพื้นที่ข้าวโพดยึดป่า แต่ปัจจุบันตำบลเมืองจัง อ.ภูเพียง กล้าที่จะไม่หันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนข้าวโพด โดยสำรวย ผัดผล นายกการบริหารส่วนตำบล ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จ.น่าน กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดสรรพื้นที่ทำกินใหม่ให้เหมาะสมกับชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ผ่านมาได้ร่วมโครงการรักษ์ป่าน่านได้สนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวและพืชอาหารแทนข้าวโพด เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่าย มีการทำโครงการนาแลกป่าและได้พื้นที่ป่าเพิ่มจากกระบวนการดังกล่าวกว่าร้อยไร่ ก่อตั้งกลุ่มเกษตรกรหัวไวใจกล้า จะช่วยยกระดับการผลิตในตำบลให้มีคุณภาพมากขึ้น เรามีผลผลิตส่งต่อให้ชาวเมืองน่าน เป็นการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับตนเอง แล้วยังมีพื้นที่ทำกินที่คืนเป็นผืนป่า ทำให้ได้ฝายเพิ่มขึ้น มีน้ำกินน้ำใช้ทำเกษตร ปัญหาปากท้องดีขึ้น
" ปัจจุบันบ้านสบยางได้ฟื้นป่าคืนกว่า 1,000 ไร่แล้ว ทั้งนี้ เห็นว่า จะแก้เขาหัวโล้นน่านต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และจากปัญหาที่ไม่มีการออกกฎหมายระดับกลาง จึงใช้หลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญนำเอาจารีต ข้อปฏิบัติมาดูแลป่าชุมชนออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น ก็ตั้งเป้า 54 ตำบลในน่าน " นายก อบต.เมืองจัง และปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวในท้าย
แม้จังหวัดน่านจะเผชิญปัญหาป่าไม้และที่ดินสาหัส มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ปรากฎการณ์ Set Zero นี้ที่ภาคเอกชน ภาครัฐ ชุมชน ขับเคลื่อนเพื่อดูแลรักษาป่าต้นน้ำน่านต้องติดตามว่าจะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไร