"อนุทิน" ปัด "สธ." ขัดแย้ง "กทม." บอกแค่ปัญหาการทำงานเคลียร์เข้าใจกันแล้ว เชื่อทุกคนแบกความเครียดเหมือนกัน "หมอโอภาส" แจง 2 เดือนจัดสรรวัคซีนให้ กทม.ไปแล้ว 2.7 ล้านโดส "รมว.สธ." ยันตั้งแต่ ส.ค.จะหาวัคซีนได้เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน ลุยฉีดวันละ 1 ล้านโดสทุกพื้นที่ "บิ๊กตู่" สั่งแก้ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อแออัด "ศักดิ์สยาม" เร่งจัดระเบียบนัดหมายใหม่ "กทม." เตรียมฉีดวัคซีนพระ-สัปเหร่อ 221 วัน เริ่ม 30 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งเรื่องการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระหว่าง สธ.กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า ไม่ได้เกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรระหว่าง สธ.และ กทม. เพียงแต่เกิดการตีความที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทางกรมควบคุมโรค โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันมีการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดไปที่ กทม.ตามข้อมูลที่ได้ประสานมา จากนั้นทางพื้นที่จะต้องไปจัดสรรจำนวนที่ต้องส่งมอบตามหน่วยงานและตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งต้องจัดสรรไว้สำหรับคนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม ไปจนถึงการฉีดในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ กทม.ด้วย ซึ่งเรื่องมีอยู่เท่านี้
นายอนุทินกล่าวว่า การกระจายวัคซีนจะมีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เป็นผู้พิจารณาและรับทราบข้อมูลทั้งหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่คิดว่าเป็นปัญหาระหว่างกัน พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วก็คุยเข้าใจกันดี เชื่อว่าทุกคนแบกความเครียดเหมือนกันหมด ก็ขอให้เดินหน้าทำงานกันต่อ
"ปัญหาเมื่อวานนี้ (27 ก.ค.) เป็นเรื่องของการทำงาน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดต่างก็มีความต้องการวัคซีนให้ได้มากที่สุด ซึ่งทาง ศบค.ก็เป็นผู้จัดสรรแผนการกระจายวัคซีนออกไป โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้รับมาปฏิบัติส่งวัคซีนออกไปตามที่ ศบค.กำหนด” นายอนุทินกล่าว
ถามว่าขณะนี้ฉีดวัคซีนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทำไมยังเกิดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่ รองนายกฯ และ รมว.สธ.กล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามความจำเป็นของพื้นที่ สัดส่วนประชากร อย่างเช่นที่ สธ.กำหนดว่า เดือน มิ.ย.-ก.ค. ต้องฉีดให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดอัตราการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งนโยบายก็จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การสู้กับโรคต้องปรับตามสถานการณ์อยู่ตลอด
ซักถึงภาพความแออัดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ รองนายกฯ และ รมว.สธ. กล่าวว่า ช่วงเวลานั้นให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นหลัก เพราะเราต้องเร่งฉีดกลุ่มดังกล่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงเปิดให้บริการแบบวอล์กอินเข้ามา โดยจะเปิดให้บริการถึง 31 ก.ค. ซึ่งประชาชนมารับบริการเป็นจำนวนมาก แต่ในเดือน ส.ค.จะเป็นการฉีดให้ประชาชนทั่วไป ผ่านการลงทะเบียนเพื่อจองวันรับวัคซีนตามปกติ ความแออัดก็จะลดน้อยลง แต่สำหรับผู้สูงอายุมากกว่า 75 ปี ก็ยังสามารถเข้ามารับวัคซีนได้เลยเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมากที่สุด
"ขอย้ำศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อเก็บตกผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจากกลุ่มต่างๆ บุคลากรสาธารณสุขที่เข้าไปช่วยเหลือต่างทำงานกันอย่างเต็มที่ ตรงนี้ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงาน" รองนายกฯ และ รมว.สธ.กล่าว
ฉีดวัคซีนล้านโดสต่อวัน
ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สธ.ได้จัดสรรวัคซีนให้แก่ กทม.ได้ตามเป้าหมาย โดยช่วงเดือน มิ.ย.2564 จัดสรรวัคซีนให้ 1.1 ล้านโดส เดือน ก.ค. 1.6 ล้านโดส รวม 2 เดือน จำนวน 2.7 ล้านโดส โดย กทม.เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการกระจายวัคซีนลงจุดฉีดต่างๆ
ทั้งนี้ ภาพรวมการฉัดวัคซีน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ฉีดได้ 327,389 โดส ทำให้ยอดฉีดสะสมรวม 16,427,059 โดส เฉพาะพื้นที่ กทม. ฉีดวัคซีนแล้ว 5,553,406 โดส โดยเป็นการฉีดเข็ม 1 จำนวน 4,540,215 คน คิดเป็นร้อยละ 58.97 ของจำนวนประชากร กทม.ที่มี 7,699,174 คน โดยในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีเป้าหมาย 1,041,828 คน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 798,745 คน คิดเป็นร้อยละ 76.67 ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวมีเป้าหมาย 659,380 คน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 491,514 คน คิดเป็นร้อยละ 74.54
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด ผ่านระบบ zoom เชื่อมสัญญาณจากบ้านพัก เพื่อประเมินสถานการณ์และความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยใช้เวลาประชุม 1 ชั่วโมง 30 นาที มีผู้ร่วมประชุม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, ทีมกระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการจังหวัดสีแดงเข้ม 12 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร
นายอนุทินกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งยืนยันว่า การจัดหาวัคซีนจะได้เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือนตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป และตั้งเป้าจะฉีดได้วันละ 1 ล้านโดส กระจายไปทุกพื้นที่ตามเป้าหมายที่ ศบค.มอบหมาย
ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาความแออัดของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เสริมการจัดระเบียบการให้บริการ เพิ่มมาตรการเว้นระยะห่าง ลดความแออัด สำหรับประชาชนที่เข้ารับวัคซีน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดระเบียบพื้นที่เพื่อลดความแออัดลง
"นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ระบุตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป สถานการณ์ความแออัดของผู้เข้ารับวัคซีนจะดีขึ้น เนื่องจากจะเริ่มใช้ระบบนัดหมาย โดยผู้ที่จะเดินทางมารับวัคซีนจะมีวัน เวลานัดที่ชัดเจน มีการย้ำเรื่องการไม่มาก่อนเวลาเพื่อลดการรวมตัวของประชาชน" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุด พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้รายงานว่าเกิดกรณีการทุจริตการจองคิวเพื่อขอเข้ารับวัคซีน โดยมีการแฮ็กระบบของบริษัทเครือข่ายมือถือแห่งหนึ่ง เพื่อนำโควตาวัคซีนไปขายสิทธิ์ต่อหัวรายละ 500-1,000 บาท แต่ตรวจสอบพบได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว ขอให้ประชาชนทุกท่านลงทะเบียนตามระบบ อย่าหลงเชื่อผู้ที่นำสิทธิ์ต่างๆ มาเสนอขายให้ เพราะบริษัทเครือข่ายมือถือที่เข้ามาร่วมให้บริการลงทะเบียนมีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวด เมื่อถูกตรวจสอบได้ท่านจะต้องถูกตัดสิทธิ์เพื่อไปเข้าระบบที่ถูกต้องใหม่อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สธ.กับ ก.คมนาคม โดยกรมการแพทย์ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เตรียมเปิดจองคิวฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 แอสตร้าฯ ผ่าน 4 ค่ายมือถือ เอไอเอส, ทรู, ดีแทคและเอ็นที โดยเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น โดย 1.ประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป วันละ 10,000 โดส 2.ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน (100 กก.ขึ้นไป หรือค่า BMI มากกว่า 35) โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน วันละ 10,000 โดส ไม่รวมผู้ติดตาม เริ่มจองพร้อมกันวันที่ 29 ก.ค. เวลา 09.00 น. ระยะเวลาฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค.64
คิว 'พระ-สัปเหร่อ' ได้วัคซีน
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด วัดมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโค วิด-19 ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ตลอดจนการจัดการฌาปนกิจศพ กทม.โดยสำนักงานเขตบางกอกน้อย และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ จึงร่วมกับวัดศรีสุดารามวรวิหาร กำหนดให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแก่ พระ, สัปเหร่อและมัคนายก ตลอดจนบุคลากรอื่นๆ ของวัด เริ่มวันที่ 30 ก.ค.นี้ โดยตั้งเป้าหมายจำนวน 221 วัด นำร่องในพื้นที่กลุ่มกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ รวม 15 เขต
โดยกลุ่มกรุงธนเหนือ 8 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน 8 วัด เขตจอมทอง 17 วัด เขตตลิ่งชัน 29 วัด เขตทวีวัฒนา 4 วัด เขตธนบุรี 25 วัด เขตบางกอกน้อย 32 วัด เขตบางกอกใหญ่ 14 วัด เขตบางพลัด 23 วัด รวมจำนวน 152 วัด และกลุ่มกรุงธนใต้ 7 เขต ได้แก่ เขตทุ่งครุ 4 วัด เขตบางขุนเทียน 16 วัด เขตบางบอน 3 วัด เขตบางแค 5 วัด เขตภาษีเจริญ 27 วัด เขตราษฎร์บูรณะ 7 วัด และเขตหนองแขม 7 วัด รวมจำนวน 69 วัด และจะขยายการฉีดวัคซีนให้แก่พระในพื้นที่กลุ่มเขตอื่นๆ ต่อไป
"สำนักอนามัยจะดำเนินการอบรมให้ความรู้และคำแนะนำในการฌาปนกิจศพผู้ป่วยโควิด-19 อย่างถูกวิธีให้กับพระและสัปเหร่อ ตลอดจนผู้มีหน้าที่จัดการพิธีศพ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคโควิด-19 อีกด้วย" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้โทรศัพท์หานายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ว่ามีเพื่อนที่อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งข้อมูลมาบอกว่าทำไมไม่ประสานติดต่อขอวัคซีนจากอเมริกา เนื่องจากเขามีวัคซีนเหลืออยู่ 50 ล้านโดส ซึ่งนายดอนระบุว่าทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ แต่ว่ายังไม่เกิดผลจริงจัง ดังนั้นจึงได้บอกไปว่ามันมีช่องทางไหนที่สามารถช่วยกันเพื่อให้สถานการณ์และความปลอดภัยของประชาชนดีขึ้น ความเป็นความตายของชาวบ้านหนึ่งชีวิตมีความหมาย จะมีทางไหนที่เราป้องกันเขาได้ก็ต้องพยายามทำ เช่นเดียวกับ ส.ส.ทุกจังหวัดที่กำลังช่วยกันเต็มที่ เพื่อลดภาระแพทย์และพยาบาล
"ยังยืนยันว่าเราต้องรณรงค์ เคี่ยวเข็ญ ขอความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เพราะตรงนี้ราคาถูกที่สุด" นายชวนกล่าว
วันเดียวกัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงประเด็นการสำรวจข้อมูลข้าราชการตำรวจเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพบตำรวจในสังกัด บช.น.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนต่างๆ มีสถิติการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ตามนโยบายรัฐบาลกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่กับผู้ป่วย การสำรวจข้อมูลจึงเพื่อจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้น แต่ปัจจุบัน บช.น.ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม
"เป็นการสำรวจผู้ที่มีความสมัครใจจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้วยังได้สำรวจผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก ผู้ที่ในตอนแรกอยู่ระหว่างการปรึกษาแพทย์ และต่อมาแพทย์อนุญาตให้ทำการฉีดวัคซีนได้ หรือผู้ที่เคยติดเชื้อและหายแล้วในระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อเช่นเดียวกัน เพื่อให้มีข้อมูลสถานภาพการฉีดวัคซีนของกำลังพลครบถ้วนตามระบบ" เอกสารระบุ
จ.ปัตตานี นายราชิด สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่เพื่อนำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปฉีดเข็มแรกให้กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวนกว่า 300 คน ในหมู่ 1 หมู่ 4 และหมู่ 6 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี หลังทราบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่ค่อนข้างมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไกลได้ ยกเว้นใกล้ๆ บ้าน อีกทั้งหลานๆ ที่มีผู้สูงอายุมีความกังวลที่จะเคลื่อนย้ายและเดินทางไกล
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนให้มีการฉีดวัคซีนถึงหมู่บ้าน หรือชุมชน เนื่องจากผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือกลุ่มที่บกพร่องทางร่างกาย จะไม่สามารถเดินทางไกลได้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทางอีก เนื่องจากสถานการณ์โควิด ชาวบ้านหลายคนไม่มีเงินค่าเดินทาง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |