ติดเชื้อใหม่ทุบสถิติพุ่ง 1.6 หมื่นราย ตาย 133 ราย เสียชีวิตคาบ้าน 5 ราย คลัสเตอร์ใหม่ยังผุดต่อเนื่อง นายกฯ ถก ผวจ. 12 จว.พื้นที่สีแดงเข้มติดตามสถานการณ์โควิด ไม่พบจังหวัดใดยอดลดลง หวัง 4-6 สัปดาห์ดีขึ้น สั่ง สธ.-มท.บูรณาการเตียงเพิ่ม พร้อมหนุนเอกชนจัดตั้ง รพ.สนามภายในโรงงานร่วมกับ รพ.เอกชนในพื้นที่ ปลดล็อก ATK พบผลบวกลงทะเบียนดูแลที่บ้านได้ สธ.ย้ำออกจากบ้านเท่าที่จำเป็นป้องกันตนเองสูงสุด ส่วน ตจว.ยังหนัก เพชรบูรณ์สั่งปิดโรงงานน้ำตาล ภูเก็ตสั่งปิดแคมป์คนงาน
เมื่อวันพุธ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16,533 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16,321 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,447 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,874 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 202 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 543,361 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 10,051 ราย หายป่วยสะสม 360,694 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 178,270 ราย อาการหนัก 4,325 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 995 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 133 ราย เป็นชาย 65 ราย หญิง 68 ราย อยู่ใน กทม. 45 ราย โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตที่บ้านถึง 5 ราย อยู่ใน กทม. 1 ราย ฉะเชิงเทรา 1 ราย และ สมุทรปราการ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 4,397 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 195,980,289 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 4,192,978 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,997 ราย สมุทรสาคร 1,147 ราย สมุทรปราการ 1,088 ราย ชลบุรี 864 ราย กาญจนบุรี 585 ราย นนทบุรี 520 ราย นครปฐม 476 ราย ฉะเชิงเทรา 447 ราย อุบลราชธานี 313 ราย และปทุมธานี 308 ราย ขณะที่ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายพื้นที่ โดยพบที่ จ.ชลบุรี 3 คลัสเตอร์ คือแคมป์ก่อสร้าง อ.ศรีราชา พบผู้ป่วย 67 ราย บริษัทอุปกรณ์ยานยนต์ อ.ศรีราชา พบผู้ป่วย 61 ราย แคมป์ก่อสร้าง อ.หนองใหญ่ พบผู้ป่วย 14 ราย, จ.กาญจนบุรี ชุมชลตำบลแสนตอ อ.ท่ามะกา พบผู้ป่วย 428 ราย, จ.ปทุมธานี โรงงานเสาเข็ม อ.ลำลูกกา พบผู้ป่วย 8 ราย, จ.สุพรรณบุรี โรงงานแปรรูปไก่ 2 อ.สองพี่น้อง พบผู้ป่วย 59 ราย ขณะที่ จ.ราชบุรี พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ คือโรงงานแปรรูปไก่ อ.เมืองราชบุรี พบผู้ป่วย 27 ราย และรีสอร์ต อ.สวนผึ้ง พบผู้ป่วย 22 ราย
เมื่อเวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุดผ่านระบบ zoom เชื่อมสัญญาณจากบ้านพัก เพื่อประเมินสถานการณ์และความพร้อมของแต่ละจังหวัด โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที มีผู้ร่วมประชุม อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทีมกระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการจังหวัดสีแดงเข้ม 12 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, ชลบุรี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ, ปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา และสงขลา ยกเว้นกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ในที่ประชุมนายกฯ ได้ให้แต่ละจังหวัดรายงานสถานการณ์ โดย จ.ฉะเชิงเทรารายงานว่า มีระบบบับเบิลแอนด์ซีลโรงงานและแคมป์แรงงาน ซึ่งคลัสเตอร์โรงงานเป็นแหล่งระบาดหนักและมีคนงานข้ามจังหวัดมา จึงต้องใช้มาตรการฉีดวัคซีน จัดหาที่พัก จนไปถึงระดับสูงสุดคือปิด 14 วัน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าจังหวัดที่มีความเสี่ยงในเรื่องของโรงงานให้ใช้ระบบบับเบิลแอนด์ซีลในการป้องกัน มีการตรวจ Antigen Test Kit เพื่อความรวดเร็ว ถ้าผลบวกก็ให้เข้าสู่การรักษาและไปตรวจแบบ RT-PCR อีกรอบ ด้านกระทรวงสาธารณสุขรายงานแนวโน้มผู้ป่วยสีเหลืองไปสีแดงเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องมีเตียง วัคซีน และการตรวจที่เพียงพอ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำในที่ประชุมให้เฝ้าระวังการระบาดข้ามจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดเพิ่มเตียงให้เพียงพอ
ไม่มี จว.ใดติดเชื้อลดลง
ทั้งนี้ ระหว่างการหารือนายกฯ ถามที่ประชุมว่า 2-3 วันมานี้มีพื้นที่ใดที่การแพร่ระบาดลดลงบ้าง ซึ่งไม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดใดตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวย้ำว่า ต้องเสนอกันว่าปัจจุบันหายกลับบ้านจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะโยงไปในเรื่องเตียงว่าง แล้วจะได้เชื่อมโยงในการรับผู้ป่วยใหม่เข้ามาแทนที่ นอกจากนี้นายกฯ ยังให้แต่ละจังหวัดประเมินสถานการณ์แต่ละสัปดาห์ โดยแสดงความเป็นห่วงบรรดาหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและสำรวจประชากรในหมู่บ้านนั้นๆ รวมทั้งแนะนำให้ ผวจ.ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ปัญหา พูดคุยกัน จะได้นำผลสำเร็จไปจัดการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมบ้าง
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของแต่ละจังหวัดที่ไม่มีข้อขัดแย้งกับ ศบค. สาธารณสุขจังหวัด ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น แต่ละภารกิจมีคณะกรรมการรับผิดชอบ นำเสนอ ศบค.และ ผอ.ศบค.ตัดสินใจ ถือเป็นขั้นตอน และหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น 4-6 สัปดาห์จากหลักฐานทางการแพทย์ แต่ยังห่วงการใช้ Antigen Test Kit ของประชาชนว่ามีความเข้าใจการใช้มากน้อยขนาดไหน ขอให้จังหวัดทำผังจุดต่างๆ ให้ประชาชนเข้าใจ เช่น ศูนย์พักคอย, โรงพยาบาลสนาม ในส่วนของเรื่องงบประมาณหากขาด เช่นในเรื่องการเพิ่มเตียง อุปกรณ์การแพทย์ ให้เสนอเข้ามาได้ทันที และเป็นห่วงเรื่องของตลาด หากปิดแล้วจะช่วยประชาชนและผู้ค้าอย่างไร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการ ต้อให้ทำมาหากินได้ สำหรับเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์จะจ่ายไปทุกจังหวัดไม่ขาดแน่นอน
ในช่วงท้ายนายกฯ ได้สรุปสถานการณ์อาจจะยังไม่ดีขึ้นในเร็ววัน แต่จะพยายามควบคุมให้ดีที่สุด ซึ่งต้องดูสถานการณ์โลกด้วยจะเข้าใจยิ่งขึ้น และขอยืนยันรัฐบาลยังเข้มแข็ง
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้นในระยะนี้ นายกฯ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขทำการปลดล็อกการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจเร็ว Antigen Test Kit เมื่อพบผลเป็นบวกก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งศูนย์พักคอยระบบดูแลตนเองที่บ้านหรือระดับชุมชนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วย ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข โดย ผวจ.และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ที่เป็นโรงพยาบาลหลักดูว่าสามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ทีมหมอและพยาบาลที่มีอยู่สามารถดูแลได้เพิ่มเติม รวมทั้งให้มีการยกระดับขีดความสามารถเตียงในโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองหรือสีแดงให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งสนับสนุนภาคเอกชนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ ยืนยันว่าเวชภัณท์ต่างๆ ทั้งยารักษาฟาวิพิราเวียร์ ออกซิเจนและถังออกซิเจน ยังมีเพียงพอ รวมทั้งได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูแลป้องกันการกักตุนสินค้าด้วย
นายกฯ กล่าวถึงสิ่งสำคัญในขณะนี้คือ การเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ซึ่งจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข DMHTT อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องดูแลประสิทธิภาพการให้บริการ ทั้งในส่วนของโทรศัพท์สายด่วน Call Center ศูนย์พักคอย การจัดให้มีทีมดูแลประชาชนตามหมู่บ้าน เพื่อนำผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาให้มากขึ้น ที่อยากเห็นคือ “หมู่บ้านสีฟ้า” ที่ประชาชนและชุมชนช่วยเหลือแบ่งปัน ดูแลซึ่งกันแลกัน ร่วมกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาด
สธ.ปลดล็อก ATK
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อภายในครอบครัวและชุมชน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ โดยประชาชนที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองด้วยชุดตรวจเร็ว Antigen Test Kit แล้วพบผลเป็นบวก สามารถเข้าระบบแยกกักตัวแบบดูแลตนเองที่บ้าน Home Isolation โดยแจ้งสายด่วนโทร.1330 ต่อ 14 หรือเพิ่มเพื่อน สปสช.ในระบบไลน์ @nhso ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ศูนย์พักคอย Hospitel หรือโรงพยาบาลซึ่งจะมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งเพื่อป้องกันผลบวกลวง ก็ขอให้ติดต่อ สปสช.เช่นกัน และจัดเป็น “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable Case)” จะได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สำหรับการแจกชุดตรวจ ATK ฟรีแก่ประชาชนซึ่งบอร์ด สปสช.ได้อนุมัติแล้วนั้น คาดว่าภายในต้นเดือนสิงหาคมจะสามารถแจกจ่ายชุด ATK ไปยังสถานพยาบาลได้ โดยเน้นในพื้นที่สีแดงเพื่อให้ส่งชุดตรวจต่อไปยังประชาชน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์พักคอยวัดราษฎร์นิยมธรรม เขตสายไหม และศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตดอนเมือง ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทั้งในครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนมาก จึงมีแผนให้สำนักงานเขตรับผิดชอบเปิดศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 ศูนย์ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ล่าสุดดำเนินการแล้วเสร็จ 21 เขต โดยได้เปิดรับผู้ป่วยไปแล้ว ช่วยให้ผู้ป่วยที่ยังตกค้างในชุมชนได้แยกกักตัว ลดปัญหาการแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชน รวมถึงให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบการดูแลเบื้องต้นโดยทีมแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลืองและสีแดงก็จะมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลภูมิพลที่จะรับรักษาดำเนินการต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เชื้อแพร่กระจายเร็ว การติดเชื้อเป็นวงกว้าง การออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอาจทำให้เกิดการติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และนำเชื้อกลับมาติดคนในครอบครัวได้ การควบคุมสถานการณ์การระบาดยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในทุกจังหวัดเพื่อลดตัวเลขการติดเชื้อลง โดยขอให้อยู่บ้านมากที่สุด ลดการออกจากบ้าน ลดการเดินทางข้ามจังหวัด เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล หรือไปฉีดวัคซีน เป็นต้น ขอให้ป้องกันตนเองสูงสุดเสมือนคนรอบข้างเป็นผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันเชื้อมาสู่ตนเองและไม่ให้เชื้อแพร่สู่ผู้อื่น
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ขอเชิญชวนคลินิกเอกชนที่ไม่ได้เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ สปสช.เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวในรูปแบบ Home Isolation เข้าร่วมการประชุมชี้แจงระบบบริการและการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุข ในการให้บริการตรวจโควิดแบบชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) หรือ HI สำหรับสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียงค้างคืนพื้นที่ กทม. ในวันที่ 3 ส.ค.64 ระหว่างเวลา 09.00-11.00 น. ผ่านระบบ ZOOM Meeting คลินิกเอกชนต่างๆ ใน กทม.มีกว่า 3,000 แห่ง แต่คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ทำงานกับ สปสช.มีเพียงกว่า 200 แห่ง หากมาเข้าร่วมดูแลด้วยก็จะทำให้สามารถรองรับการทำ Home Isolation ให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้อีกเป็นจำนวนมาก
ต่างจังหวัดยังอ่วม
ส่วนสถานการณ์ต่างจังหวัด ใน จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,088 ราย เสียชีวิต 12 ราย เป็นชาย 8 ราย เป็นสัญชาติเมียนมา 1 ราย เป็นหญิง 4 ราย ทั้งหมดมีโรคประจำตัว รวมเสียชีวิตสะสม 311 ราย จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงถึง 312 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตรวดเดียว 3 ราย รวมสะสม 51 ราย โดยในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ เป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 74 ราย
จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 220 ราย เป็นตัวเลขผู้ป่วยทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดมา รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,874 ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย
จ.อำนาจเจริญ รายงานว่ามีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 60 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีที่มาถึง 60 ราย
นพ.ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ รายงานที่ประชุมในกรณีของโรงงานน้ำตาล บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ ว่าจากการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นพบว่ามีคนงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 68 ราย ซึ่งขณะนี้กำลังระดมตรวจคนงานทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 1,350 ราย คาดว่าน่าจะมีการติดเชื้อไม่เกิน 100 ราย ที่ประชุมได้พิจารณาสั่งการให้โรงงานน้ำตาลหยุดสายการผลิตเป็นเวลา 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564
จ.สงขลา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 283 ราย มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 11,163 ราย เสียชีวิตสะสม 61 ราย นอนรักษาในโรงพยาบาล 2,645 ราย รักษาหายแล้ว 8,457 ราย คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา มีมติให้ปิดชุมชนหัวเลน ม.6 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.-10 ส.ค. 64
จ.ยะลา ผู้ป่วยรายใหม่ 182 ราย มีรายงานตัวเลขผู้เข้ารับการกักตัว กรณีผลสืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ตม.เบตง, เจ้าหน้าที่ศุลกากร และผู้ใกล้ชิดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 99 คน
จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการปิดแคมป์คนงานที่พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ เรียบร้อยแล้ว โดยมีกำหนดปิดเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |