“วัคซีน” ฟื้นเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้เรียกว่าเข้าขั้น “วิกฤติ” จากยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่และยอดผู้เสียชีวิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งขณะนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น จากสายพันธุ์ของไวรัสที่รุนแรงขึ้น การกลายพันธุ์ต่างๆ จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญกดดันการควบคุมการแพร่ระบาดให้อาจทำได้ยากมากขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ยังเห็นตรงกันว่า ทางรอดสำคัญของวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ก็คือ “วัคซีน” ทั้งในส่วนของการเร่งการจัดหา และเร่งการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงนั่นเอง

            “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ระบุว่า ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ๆ รวมถึงสายพันธุ์ที่แรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัส อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงเรื่องการจัดซื้อและกระจายวัคซีนที่ล่าช้ากว่าคาดการณ์มาก จะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ หรือลดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้

            ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์มองว่า การเร่งจัดซื้อและกระจายวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นตัวกำหนดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะนโยบายการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการบริโภคในภาคบริการของไทยด้วย ขณะที่ภาคการคลังแม้ปัจจุบันจะยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง และยังมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ แต่ในระยะข้างหน้าการใช้นโยบายการคลังแบบเฉพาะเจาะจง เน้นให้ความช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมายจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะทรัพยากรทางการคลังจะถูกจำกัดมากขึ้นจากการระบาดที่ยังยืดเยื้อ

            โดยยังมี 3 ปัจจัยสำคัญกับภาพรวมของเศรษฐกิจที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.การจัดซื้อและเร่งกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชน และ 3.การกลับคืนมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

            ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เอง ก็มองว่า การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่กลายมาเป็นสายพันธุ์หลัก อาจจะทำให้การระบาดในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ การระบาดเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีนหลายๆ ตัวสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็อาจจะลดลง ส่งผลให้การบริหารจัดการทำได้ยากขึ้น

            นอกจากนี้ “วัคซีน” ยังกลายมาเป็นอีกประเด็นสำคัญสำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ด้วย ซึ่งวัคซีนที่ได้มาและการกระจายวัคซีนที่จะเป็นตัวสะท้อนระยะเวลาในการได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศไทย โดยหากมองจากสถานการณ์ปัจจุบันการได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ยังคงอีกไกล และเมื่อรวมปัจจัยเรื่องความร้ายแรงของสายพันธุ์ไวรัส ทำให้สัดส่วนประชากรที่ต้องได้รับวัคซีน ความเร็วในการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค.2564 พบว่ามีประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรก 15% และเข็ม 2 เพียง 5% เท่านั้น

            แน่นอนว่าหากสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอให้กับประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก็จะช่วยลดทอนความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ๆ ในอนาคตได้ อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการเปิดประเทศ และยังเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชนอีกด้วย

            แต่ในมุมกลับกัน หากปฏิบัติการด้านวัคซีนยังทำได้ไม่ดีพอ ทั้งในแง่ของการจัดหา และการเร่งกระจายวัคซีนสู่ประชาชน โอกาสในการระบาดระลอกใหม่ๆ ก็มีมากขึ้น ระยะเวลาในการได้ภูมิคุ้มกันหมู่ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ทำได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นหมายถึงความเสี่ยงในการที่รัฐบาลอาจจำเป็นต้องใช้ “มาตรการล็อกดาวน์” ในระยะถัดๆ ไปก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในระดับใดก็ตาม ย่อมสร้างความเสียหายให้กับภาพรวมเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

                แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามเร่งเรื่องการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ควรทำควบคู่ไปในหลายๆ มิติ ทั้งในกลุ่มแรงงานและประชาชนทั่วไปควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดกับภาพรวมเศรษฐกิจได้บ้าง.

ครองขวัญ รอดหมวน

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"