กรณี “ระบบราชการ” กำหนดชะตากรรมของคนไทยแม้ในยามวิกฤติ มีให้เห็นจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าหากไม่มีการ “รื้อทั้งระบบ” จริง ๆ เราอาจไม่มีทางเอาชนะสงครามโควิด-19 ได้เป็นแน่แท้
เหตุการณ์หนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาครเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ตอกย้ำว่าระเบียบราชการบางครั้งอาจสำคัญกว่าความอยู่รอดของชาวบ้าน
ถึงจุดเดือดของผู้ว่าฯ “ปู” วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ที่ต้องลั่นวาจาว่า
“ให้มันรู้ไปว่าระเบียบกับความตายอะไรสำคัญกว่า”
เรื่องของเรื่องคือข่าวชิ้นนี้
“ผู้ว่าฯ ปู” วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครบอกว่า ต้องมีการปรับการทำงานของศูนย์พักคอยในจังหวัดสมุทรสาคร ใหม่ เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
การปรับการทำงานศูนย์พักคอยครั้งนี้ ผู้ว่าฯ ปูบอกว่าจะเริ่มให้ load ผู้ป่วยเข้าไปรักษาตัวในวันนี้ทันที เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในแต่ละวันเกิดขึ้นมาก จะให้รอขั้นตอนทุกอย่างของ สธ.บางครั้งไม่ทันการณ์ เพราะฉะนั้นจะมอบให้เจ้าหน้าที่คัดกรองนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาก่อน
“ศูนย์พักคอยคือศูนย์ที่นำผู้ติดเชื้อมาพักรักษาตามอาการ ต่างจากโรงพยาบาลสนามเพราะไม่มีแพทย์ แต่จะใช้กระบวนการคนในชุมชน ดูแลกันเอง และจะส่งต่อโรงพยาบาลเมื่อเตียงว่าง แต่หากรายใดอาการหนักจะรักษาก่อน ทุกวันนี้ขั้นตอนที่เราจะนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ศูนย์พักคอย มีมาตรการเยอะมาก โดยเฉพาะการนำผู้ติดเชื้่อเข้าศูนย์จะต้องตรวจเอกซเรย์ปอดตามข้อกำหนดของ สธ. และอาจจะไม่ทันเวลาสำหรับโรคระบาดที่มีผู้ติดเชื้อมากในแต่ละวัน ถ้ารอขนาดนั้นการที่เราจะแยกโรคออกจากคนคงไม่ทันการณ์" ผู้ว่าฯ ปูกล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครบอกว่า เราจะให้ปรับลดข้อกำหนดของคนเข้าศูนย์พักคอยลง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและครอบครัวเข้าไปรักษา และจะขอให้ทีมแพทย์ตรวจคัดกรองในศูนย์ อย่างน้อยคนป่วยก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง คนไม่ป่วยก็ไม่ต้องกังวล และถ้าเตียงในโรงพยาบาลมีจึงจะนำเข้ารักษาตามระบบโดยเร็วที่สุด
สิ่งสำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่สมุทรสาครตอนนี้ทำงานแทบไม่มีวันหยุด และหลายคนก็ติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้บุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เราเชื่อว่าคนสมุทรสาครจะร่วมมือกันเพื่อก้าวผ่านโควิด-19 ครั้งนี้ไปด้วยกัน
นั่นแปลว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่แสดงความเป็นผู้นำที่กล้า “แหกกฎ” เพื่อเร่งรัดให้ระบบการช่วยคนป่วยโควิดได้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ ข้าราชการส่วนใหญ่ก็จะไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรที่มีการอ้างเอ่ยถึง “ระเบียบราชการ”
อีกกรณีหนึ่งคือการใช้ “สายด่วน 1668” ที่ผ่านมาหลายเดือนจึงพบว่า ผู้ใช้เบอร์นี้โทร.ขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขนั้นต้องเสียค่าโทรศัพท์!
เพิ่งมารู้และแก้ไขกัน แต่ก็ทำให้คนป่วยคนไข้ต้องรับภาระที่ไม่สมควรในภาวะวิกฤติเช่นนี้
เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเพราะมีคนร้องเรียนว่าถูกเก็บค่าโทร. 1668 จึงมีการสอบถามไปที่ กสทช.
ข่าวที่ตามมาแจ้งว่า เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมาคุณหมอประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.อธิบายว่า
หมายเลขสายด่วน 1668 เป็นหมายเลขสายด่วนที่กรมการแพทย์ได้ขอใช้งาน โดยได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเลขหมายมาแล้วเนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ยังไม่ได้มีการยื่นขอยกเว้นค่าบริการเรียกสายมายัง กสทช. ทำให้ประชาชนที่โทร.เข้าเลขหมายดังกล่าวยังต้องเสียค่าใช้จ่ายตามปกติ
จากนั้นก็มีการประสานมาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) โดยส่งหนังสือมาขอให้เบอร์ที่ให้บริการเกี่ยวกับ COVID-19 ทุกเลขหมายเป็นเบอร์ที่ได้รับการยกเว้นค่าบริการเรียกสาย
คุณหมอประวิทย์บอกวันนั้นว่า “หนังสือ” ที่ว่านี้น่าจะอยู่ระหว่างการจัดส่ง และจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง
ในยุคสมัย “ดิจิทัล” เช่นนี้ ระบบราชการของเรายังต้องการ “หนังสือเป็นทางการ” ที่เป็นลายลักษณ์อักษรบนกระดาษหรืออย่างไรจึงจะถือว่ามีผลทางด้านกฎหมาย
พอข่าวนี้ว่อนในโซเชียลมีเดียไม่กี่ชั่วโมง ก็มีคำสั่งให้แก้ปัญหานี้ด้วยการให้ทุกเบอร์โทรศัพท์ที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเป็นบริการสาธารณะฟรี
เห็นไหมครับว่าระบบราชการนั้น ถ้ามีคนจี้ถามและเรียกร้องจึงจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง และยอมรับความจริงที่ว่า
ระบบราชการมีไว้เพื่อรับใช้ประชาชน
มิใช่ต้องให้ประชาชนเรียกร้อง ทวงถามและร้องเรียนกันทุกครั้ง ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเสียก่อน
ขณะที่ระเบียบและกฎเกณฑ์ราชการทุกอย่างยังเหมือนเดิม...แต่เจ้าไวรัสโควิดตัวนี้ยังเริงระบำโจมตีคนไทยอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขคนป่วยและตายพุ่งพรวดพราดไปอย่างไม่หยุดยั้งแม้แต่นาทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |