ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 15,027 ล้านบาท เยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ใน 9 ประเภทกิจการ 13 จังหวัดแดงเข้ม ไฟเขียวลดค่าเทอม-ช่วยค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ศธ.วงเงิน 2.3 หมื่นล้าน อว.อีก 1 หมื่นล้าน กสทช.ทุ่ม 1.2 พันล้าน ทำแพ็กเกจเน็ตแรงราคาถูกเสิร์ฟ นร.-นศ. 2 เดือน
เมื่อวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจำนวน 15,027.686 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,522.99 ล้านบาท จากเดิม 13,504.696 ล้านบาท โดยเพิ่มจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประมาณการจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย
นายอนุชากล่าวว่า กรอบวงเงิน 15,027.686 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างในระบบประกันสังคมใน 9 ประเภทกิจการ ใน 13 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย 7,238.631 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 สัญชาติไทยที่เป็นลูกจ้างในกิจการของนายจ้างตามคุณสมบัติ จำนวน 7,789.055 ล้านบาท ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยายังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้ 1.มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ดังนี้ สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน, จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้, ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63
2.มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ขณะที่แนวทางการดำเนินการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 / 50,001-100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50, สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน นอกจากนี้ กระทรวง อว.ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย
นายอนุชากล่าวว่า ศธ.และ อว.จะได้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอนของ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ.2564 รวมทั้งจะมีการกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป
ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายกฯ มีความห่วงใยอย่างมาก พร้อมกำชับให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้เรียน ทั้งในสถานศึกษาทั่วไป ด้อยโอกาส ยากจน และกลุ่มเด็กพิการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัด ศธ.และนอกสังกัด ศธ.ที่ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท จำนวนรวมเกือบ 11 ล้านคน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า บอร์ด กสทช.มีมติอนุมัติวงเงิน 1,200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดให้มีแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตสำหรับนักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา นักเรียนระดับ ปวช. และการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ภายใต้สังกัดของ ศธ.ที่มีการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน สำหรับภาคการศึกษาต้น ของปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.-15 ต.ค.64
นอกจากนี้ ประชาชนสามารถโทร.ฟรี เมื่อโทร.เข้าเลขหมายโทรศัพท์แบบสั้น 4 หลัก ได้แก่ เลขหมาย 1330 (สปสช.), 1323 (กรมสุขภาพจิต), 1422 (กรมควบคุมโรค), 1646 (ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.), 1668 (กรมการแพทย์), 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ), 1506 (สำนักงานประกันสังคม) และ 1138 (กรมการสื่อสารทหารกองบัญชาการกองทัพไทย) ที่เปิดให้ประชาชนใช้ติดต่อในเรื่องโควิด-19 อีกทั้งสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร เพื่อรองรับผู้ที่แยกกักตัวที่บ้าน และแยกกักตัวในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่อยู่ในโครงการสนับสนุนการส่งข้อความสั้น (SMS) กรณีหน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการแจ้งประชาชน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในช่วงต้นการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแม่ค้าในตลาดต่างๆ โดยยกตัวอย่างตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ที่เพิ่งมีการสั่งปิดไปเพราะโควิด-19 และแม่ค้าออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือ จึงสั่งการให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปหามาตรการช่วยเหลือเยียวยา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |