วิกฤติโควิดตอกย้ำความจริงที่น่าเจ็บปวดในสังคมไทยมากมายหลายอย่าง
หนึ่งในความจริงอันที่น่ากลัวนั้นมาจากความตระหนักว่า บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่าระบบราชการอาจจะเป็น “พันธมิตร” กับไวรัสตัวร้ายนี้มากกว่าจะเป็นกลไกช่วยให้เราเอาชนะสงครามครั้งนี้
เพราะระบบราชการยึดเอาระเบียบกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่เข้าข่าย “ควบคุมและสั่งการ” มากกว่า “บริการและตอบสนอง” ความต้องการของประชาชน
มีตัวอย่างชัดๆ หลายกรณีที่ยืนยันความจริงข้อนี้
นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนสั่งทุกหน่วยงานทำทุกทาง ลดจำนวนผู้ติดเชื้อในบ้าน ผู้ที่คอยรถมารับ หรือคอยอยู่ตามถนน จะต้องไม่ให้เห็นภาพนี้อีกต่อไป
ท่านบอกว่านี่ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ต้องหาวิธีการให้คนเหล่านี้มาสู่โรงพยาบาล
สัจธรรมของระบบราชการของไทยประการหนึ่งก็คือ ถ้าเป็น “ความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน” ก็แปลว่าไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบเลย
เพราะเรื่องที่เป็น “ความรับผิดชอบร่วม” นั้นมักจะลงท้ายด้วยการไม่มี “เจ้าภาพ” ในการแก้ปัญหา
พอมีถึงประเด็นเรื่องความล่าช้าของการจัดหาวัคซีน เราก็ได้ยินคำขอโทษจากคุณหมอนคร เปรมศรี ที่อธิบายตอนหนึ่งว่า ปัญหาประการหนึ่งคือ
“แม้หลายฝ่ายรวมถึงสถาบันฯ จะเป็นผู้จัดหาวัคซีนร่วมกัน แต่การตัดสินใจต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะทำงานและคณะกรรมการแต่ละชุดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ...”
ท่านเอ่ยถึง “ความเกี่ยวพันทั้งเรื่องงบประมาณ และความผูกพันด้านสัญญาที่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการได้ตามลำพัง...”
นอกจากนี้ “การดำเนินการทุกส่วน ก่อนการลงนามส่วนใดจะส่งปรึกษาหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศเพื่อพิจารณาก่อน...”
เท่านั้นไม่พอ คุณหมอยังบอกว่า “ในการดำเนินการของภาครัฐที่จำเป็นต้องมีระบบระเบียบที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่เกิดความรับรู้ว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัด...”
สรุปว่าที่คนไทยได้รับวัคซีนที่ดีและปลอดภัยช้า สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะระบบราชการ
เคยมีการบอกกล่าวกับประชาชนว่ารัฐบาลไม่สามารถจะจัดสรรงบประมาณไปของวัคซีนที่เราอยากได้เหมือนบางประเทศ ก็เพราะระเบียบการใช้งบประมาณนั้นถ้าจะมีการใช้เงินก็ต้องมี “ของ” ที่จับต้องได้เสียก่อน
การจะไปลงทุนร่วมวิจัยกับใครเพื่อเป็นหุ้นส่วนในการศึกษาหาวัคซีนนั้นทำไม่ได้ นักการเมืองหรือข้าราชการคนไหนทำเช่นนั้นมีสิทธิ์ถูกตั้งกรรมการสอบได้
นอกจากนั้นคณะกรรมการต่างๆ ก็เป็นข้าราชการเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้จะเผชิญกับวิกฤติระดับโลกอย่างโควิด-19 ก็ยัง “รักษาตัวรอด” ไว้ก่อนดีกว่า
การไม่ตัดสินใจและการอ้างระเบียบราชการเป็นการรักษาตัวเองให้อยู่ใน “เขตปลอดภัย” ไว้ก่อน
ที่เรียกว่า play safe หรือ “นโยบายปลอดภัยไว้ก่อน ไม่ทำก็ไม่ผิด ถ้าทำก็เสี่ยงจะผิดได้ตลอดเวลา” นั่นแหละ
นั่นแปลว่าสำหรับข้าราชการจำนวนไม่น้อย การไม่ทำอะไรย่อมจะปลอดภัยกว่าการพยายามจะทำในสิ่งที่เสี่ยงกับการถูกตั้งประเด็นว่าทำผิดกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่มากมายก่ายกอง
เมื่อเจอกับวิกฤติที่เขย่าทั้งโลก และเผชิญกับไวรัสร้ายแรงที่ไม่สนใจว่าประเทศไหนจะมีกฎระเบียบอย่างไร มีช่องว่างช่องโหว่ที่ไหนก็โจมตีได้ทันที ข้าราชการของไทยเราก็ตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต
ยิ่งในกรณีที่มีปัจจัยแทรกซ้อนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นโควิด-19 ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้หนทางสู้รบปรบมือกับโควิดเราหมดสภาพไปต่อหน้าต่อตา
เช่นไวรัสตัวนี้แปลงร่างกลายพันธุ์เพื่อหลบเลี่ยงวัคซีนชุดปัจจุบันได้ การหาวัคซีนมาให้คนไทยจึงไม่ใช่แค่ต้องบริหารงบประมาณและเร่งหาแหล่งผลิตเท่านั้น
แต่ยังต้องสามารถปรับแผนและไล่ตามการกลายพันธุ์ให้ได้อย่างทันท่วงทีด้วย
ยกแรกนี้ระบบราชการเราแพ้โควิดราบคาบ
นี่เป็นเพียงสองตัวอย่างที่เราเห็นต่อหน้าต่อตาเท่านั้น ยังมีเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบันอย่างหนักหน่วงอีกหลายกรณี
พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |