วันที่ 27 ก.ค. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 (29 กรกฎาคม 2564) จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 5,771 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยผลสำรวจสรุปได้ดังนี้ เมื่อสอบถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารที่ต้องเร่งแก้ไขในปัจจุบันพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 71.84 การพูด อันดับ 2 ร้อยละ 67.87 การเขียน และอันดับ 3 ร้อยละ 53.75 การอ่าน ส่วนผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องตรงตามหลักภาษาไทย ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า อันดับ 1 ครู อาจารย์ อันดับ 2 พ่อ แม่ ผู้ปกครองและอันดับ 3 พิธีกร ผู้ประกาศข่าว และสำหรับประเภทเพลงที่เห็นว่ามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาษาไทยพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 70.23 เพลงลูกทุ่ง อันดับ 2 ร้อยละ 54.67 เพลงลูกกรุง และอันดับ 3 ร้อยละ 52.11 เพลงพื้นบ้าน
นายอิทธิพล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันผลสำรวจได้สอบถามถึงการที่จะช่วยสืบสานอนุรักษ์ภาษาไทย ให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป เด็ก เยาวชน และประชาชนระบุว่า อันดับ 1 ร้อยละ 79.80 การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยวิธีการพูด อ่าน เขียน อันดับ 2 ร้อยละ 59.07 พูดออกเสียงให้ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นภาษาถิ่น ภาษาพื้นเมืองและภาษาไทยกลาง และอันดับ 3 ร้อยละ 45.64 ตั้งใจเรียนรู้และถ่ายทอดภาษาไทยอย่างถ่องแท้ ส่วนแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยในยุคปัจจุบันพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 61.53 อินเทอร์เน็ต อันดับ 2 ร้อยละ 56.52 โรงเรียน มหาวิทยาลัย และอันดับ 3 ร้อยละ 43.39 หอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดของหน่วยงานต่างๆ เมื่อสอบถามถึงความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า อันดับ 1 รับชมวีดิทัศน์ รายการโทรทัศน์ ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย และอันดับ 2 รับชมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับวันภาษาไทยผ่านทาง Facebook Fanpage
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้มีข้อเสนอแนะต่อ วธ.เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ มองเห็นถึงความสำคัญ และคุณค่าของการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ได้แก่ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมทางวิชาการด้านภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ เช่น นิทรรศการ อภิปรายทางวิชาการ การประกวดงานเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง การอ่านทำนองเสนาะ ขับเสภาและเล่านิทาน รวมทั้งส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องในสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ การจัดทำสื่อ เช่น โปสเตอร์ อินโฟกราฟิก เพื่อรณรงค์การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสอนเด็กเยาวชนใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ เนื่องจากภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย รวมถึงการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อกำหนดแนวทางจัดการศึกษาวิชาภาษาไทยที่สามารถสอนให้เด็กใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องทั้งในชีวิตประจำวันและในสื่อออนไลน์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |