พาย้อนกลับไปรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่แม่การะเกดข้ามเวลาไปกันอีกครั้ง เพราะเป็นยุคที่มีการบันทึกว่ามีการจับพระสึกมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) สร้างความไม่พอใจให้เสนาบดีกลาโหม ซึ่งก็คือสมเด็จพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก เพราะพยายามจะโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งยังได้กระทำการหมิ่นน้ำใจชาวพุทธหลายครั้ง
เช่น จัดการสึกภิกษุสามเณรให้ลาสิกขาออกมารับราชการและใช้แรงงานโดยไม่สมัครใจ เป็นต้น สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงโอนอ่อนตามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในหลายเรื่อง ทำให้พุทธศาสนิกชนอย่างเสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์รู้สึกโกรธเคืองในตัวชาวกรีกผู้นี้ยิ่งนัก
แต่หลักฐานบางกระแสระบุว่า นโยบายสึกพระสงฆ์น่าจะมาจากสมเด็จพระนารายณ์เองต่างหาก เนื่องจากฟอลคอนไม่อาจทำเรื่องเช่นนี้ได้เองหากพระนารายณ์ไม่ทรงอนุญาต
เรื่องนี้หลวงสรศักดิ์ไม่พอใจอย่างมาก ถึงกับชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ฟันหักไป ๒ ซี่ ก่อนจะหนีพระราชอาญาไปพึ่งเจ้าแม่วัดดุสิต มารดาโกษาเหล็กและโกษาปานซึ่งเป็นพระนมสมเด็จพระนารายณ์
เจ้าแม่วัดดุสิตจึงพาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปเมืองลพบุรีเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ สมเด็จพระนารายณ์ก็พระราชทานอภัยโทษให้
มีหลักฐานร่วมสมัยชิ้นหนึ่งคือ เอกสารเรื่องการเจรจาทางศาสนาระหว่างฟอลคอนกับพระอธิการ เดอ ชัวซี (abb de Choisy) ฟอลคอนกล่าวเองว่าพระสงฆ์ไทยในตอนนั้นถูกสึกมาทำงานมาก แต่พระมอญไม่โดน และตามสัญญาทางศาสนาคริสต์ที่ว่าด้วยการให้มิชชันนารีรับคนไทยไว้ในโบสถ์เหมือนเป็นข้าวัดเพื่อสอนศาสนา ฟอลคอนเองกล่าวว่าเป็นไปได้ยากไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือข้าวัด โดยให้เหตุผลว่า
"เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกคนเหล่านี้ออกจากวัดวันละหลายๆ คน ส่งไปให้อยู่กับนายข้อมือเพ้อใช้ทำการโยธาต่อไป"
และ "พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ได้ทรงปฏิบัติการบางอย่างซึ่งน่ากลัวจะทำให้เกิดการลำบากยิ่งกว่าที่จะยกสิทธิให้เราอันจะทำให้เกิดการลำบากขึ้นนั้นหลายเท่าเสียอีก เช่นว่าให้พระสงฆ์สึกตั้ง ๕๐ หรือ ๖๐๐ องค์เป็นต้น"
ฟอลคอนได้เล่าว่า "เคยเห็นพระเจ้าแผ่นดินให้พระสงฆ์สึกในวันเดียวตั้ง ๗๐๐ องค์ และให้ลูกศิษย์ออกจากวัดตั้ง ๑๐,๐๐๐ คนก็มี แต่ถึงดังนั้นพวกไทยก็หาได้บ่นอย่างใดไม่ ถ้าหากว่าได้รู้สึกเสียแล้วว่านิสัยของคนไทยไม่ใคร่เอาใจใส่ในการศาสนาเท่าไรนัก"
นากจากนี้ในหลักฐานชั้นต้นคือจดหมายของฟอลคอน ส่งถึงบาทหลวง เดอ ลาแชส (Fran ois d'Aix de la Chaize) พระอธิกรณ์ (confessor) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๘๖ ได้รายงานถึงความไม่พอใจของข้าราชการและพลเมืองที่มีต่อสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง
เช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๖๘๔ มีข้าราชการยื่นบัตรสนเท่ห์ต่อลูกขุน ณ ศาลหลวง มีเนื้อหา "ปรักปรำบรรดานักบวชว่าเป็นศัตรูของกฎหมายบ้านเมือง อนึ่งยังได้ระบุไว้ด้วยว่าในหลวงนั้นทรงไม่สมเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของพระ (พุทธ) ศาสนาเลย แล้วยังกล่าวร้ายป้ายสีอีกนานาประการ" แต่สุดท้ายก็จับตัวผู้ทอดบัตรสนเท่ห์ได้ ซึ่งให้การว่า "ได้รับความผลักดันจากคำทำนายทายทักซึ่งพระภิกษุรูปหนึ่งบอกให้ คำพยากรณ์นั้นระบุว่าในหลวงทรงเป็นศัตรูพระ (พุทธ) ศาสนา จักต้องสิ้นพระชนม์ และยังข้อทำนายอันพิลึกพิลั่นอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก"
และเรื่องที่เกิดขึ้น ๓ ถึง ๔ เดือนหลังจากคณะทูตของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ เดินทางกลับฝรั่งเศส (ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ.๑๖๘๖) มีผู้นำบัตรสนเท่ห์ไปแขวนบนต้นไม้หน้าประตูพระราชวังเมืองละโว้
มีข้อความเขียนบอกว่า ผู้ใดได้พบหนังสือและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าจะได้รับโทษตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ในหนังสือแจ้งถึงภัยของศาสนาพุทธ มีท่วงทำนองอุกอาจและพาดพิงถึงขุนนางพราหมณ์ที่เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ว่ารู้ตื้นลึกหนาอย่างดีแต่ปกปิดไว้
นอกจากนี้ลาลูแบร์ยังได้บันทึกถึงการสอบไล่ของพระสงฆ์ตามนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งให้ทดสอบความรู้เพราะมีพระสงฆ์จำนวนมากที่มาบวชหนีราชการ
ผลคือลาลูแบร์กล่าวว่าตอนที่เขาเข้ามา (พ.ศ.๒๒๓๐) มีพระสงฆ์ถูกจับสึกหลายพันรูปเพราะสอบตก และคนที่เป็นแม่กองสอบพระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีก็คือ ออกหลวงสุรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือในอนาคตนั่นเอง
ช่วงปลายรัชสมัยพระนารายณ์มีหลักฐานว่ามีกลุ่มพระสงฆ์คอยให้ความช่วยเหลือพระศรีสุธรรมราชาอยู่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยว่าทำให้พระองค์ไม่ทรงวางพระราชหฤทัยสถาบันสงฆ์นัก
นอกจากนี้เองในรัชสมัยของพระองค์การก่อกบฏโดยพระสงฆ์ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น มีหลักฐานว่าถึงขั้นทรงให้ปิดวัด หรือแม้กระทั่งเรื่องสึกพระก็พอให้เห็นความขัดแย้งของกษัตริย์กับสงฆ์ได้ ทำให้สถาบันสงฆ์เอาใจออกห่างพระองค์
อันที่จริงเหตุผลของการสึกพระสงฆ์ออกมารับราชการอาจไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ เพราะเชื่อว่าเหตุผลหลักคือการดึงประชากรในระบบไพร่ที่หลบเลี่ยงการเกณฑ์กลับมาสู่ระบบราชการของอยุธยา
เนื่องจากโดยปกติแล้ว ไพร่หลวงต้องถูกเกณฑ์รับราชการปีละ ๖ เดือน ไพร่สมต้องรับใช้มูลนาย แต่พระสงฆ์ถือเป็นชนชั้นพิเศษที่ไม่ถูกเกณฑ์เดือน ไม่ต้องรับใช้มูลนาย ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปรบ
ดังนั้นจึงปรากฏว่ามีไพร่หลบหลีกจากการถูกเกณฑ์ไปบวชจำนวนมาก
การที่ราชสำนักให้พระสงฆ์สึก จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยคัดกรองพระสงฆ์ที่ไม่มีความรู้พระปริยัติธรรมมากเพียงพอ ซึ่งอาจเป็นไพร่ที่หลีกเลี่ยงการเกณฑ์กลับมาสู่ระบบราชการ และก็ส่งเสริมให้พระสงฆ์ต้องตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมมากขึ้น เพื่อเป็นการอุดหนุนพระพุทธศาสนาไปในตัว
การสอบไล่และการสำรวจสมณครัวเป็นเรื่องปกติที่ไม่ได้มีแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์
แต่ถึงกระนั้น จำนวนพระสงฆ์ที่ถูกสึกและข้าวัดที่ถูกบังคับให้ออกจากวัดมารับราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังสูงกว่าปกติธรรมดามาก
จนผู้ชำระพงศาวดารสมัยหลังมองว่าเป็นการ "กระทำให้ร้อนในพระพุทธศาสนา" ดังนั้นจึงอาจไม่ได้มาจากเหตุผลการนำไพร่กลับมาสู่ระบบราชการเพียงประการเดียว
อีกผลหนึ่งที่เป็นไปได้สูงคือ สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์ลดอิทธิพลของสถาบันสงฆ์ลงไปด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะสถาบันสงฆ์มีสถานะสูงรวมถึงมีกำลังข้าพระในปกครองจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นที่เคารพนับถือของพลเมืองในสังคม จึงมีอิทธิพลในการใช้ศาสนาชี้นำความคิดของราษฎรได้มาก
แต่สถาบันสงฆ์ก็อาจกลายเป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ได้เช่นเดียวกัน ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์อยุธยาหลายครั้งว่า....
....วัดได้กลายเป็นฐานปฏิบัติการทางการเมืองของพระราชวงศ์และขุนนางหลายครั้ง โดยมีสถาบันสงฆ์เป็นผู้เกื้อหนุน....
พระราชวงศ์หลายพระองค์เคยเสด็จออกผนวชหนีราชภัย และหลายพระองค์ทรงก่อกบฏด้วยการสนับสนุนของพระสงฆ์ เช่น ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระศรีศิลป์พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงก่อกบฏด้วยการสนับสนุนของพระสังฆราชวัดป่าแก้ว พระเจ้าทรงธรรมทรงเคยผนวชเป็นที่พระพิมลธรรมได้ศึกษาพระไตรปิฎกจนเชี่ยวชาญ มีผู้ฝากตัวเป็นศิษย์มากจนชิงราชสมบัติได้
พระศรีศิลป์พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมทรงได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ในเมืองเพชรบุรี จนก่อกบฏต่อสมเด็จพระเชษฐาธิราช และเมื่อเจ้าฟ้าไชยได้ราชสมบัติต่อจากพระเจ้าปราสาททองก็ปรากฏหลักฐานว่าพระศรีสุธรรมราชาเสด็จหนีไปอยู่ในวัด
แม้แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็ยังทรงปรากฏในหลักฐานของบาทหลวง เดอ แบส (Claude de B ze) ว่าทรงได้รับความช่วยเหลือจากพระสงฆ์ จนสามารถชิงราชสมบัติจากพระศรีสุธรรมราชาพระเจ้าอาได้เช่นเดียวกัน
แต่หากศึกษาจากอุปนิสัยของฟอลคอน คนผู้นี้มิได้จริงจังกับศาสนาใดนัก นอกจากผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ
กรณีท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา ขณะนางมีอายุได้ ๑๖ ปี บิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก
ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา
และแม้หลังการสมรส มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า ดังปรากฏในงานเขียนของบาทหลวงโกลด เดอ แบซ (Claude de B ze) ว่า"...สตรีผู้ถือมั่นในพระคริสตธรรมนี้มีอายุได้ไม่เกิน ๑๖ ปี ได้หลีกหนีความบันเทิงเริงรมย์ทั้งหลาย อันสตรีในวัยเดียวและฐานะเดียวกันกับนางใฝ่หากันหนักหนานั้น แล้วมุ่งแต่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ากับทำความสบายอกสบายใจแก่ท่านสามีเท่านั้น นางไม่ออกจากทำเนียบไปไหนมาไหนเลย นอกจากจะไปวัด..."
จากบันทึกน้อยครั้งที่ฟอลคอนจะไปวัด และระยะหลังสามีภรรยาคู่นี้มักระหองระแหงกัน เพราะความทะเยอทะยานของฟอลคอน และนี่เป็นอุปนิสัยที่ไม่แคร์ใครทั้งนั้น เขาทำได้ทุกเรื่องแม้แต่การมีส่วนร่วมในการจับพระสึก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |