ต่างจังหวัดติดเชื้อพุ่ง แซงกทม.ปริมณฑลเหตุแห่กลับบ้านไปรักษา/ป่วยเกินครึ่งล้าน


เพิ่มเพื่อน    

“หมอเบิร์ท” แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ 15,376 ราย ทะลุหมื่นห้า 2 วันติด ทำยอดรวมเกินครึ่งล้านแล้ว เสียชีวิตอีก 87 ราย ศบค.เผยยอดผู้ป่วยต่างจังหวัดแซงหน้า กทม.-ปริมณฑล ต้นตอจากการแห่กลับท้องถิ่นไปรักษา ทำให้สถานะเตียงในภูมิภาคเริ่มน่าห่วง บางจังหวัดใช้ไป 70% สาธารณสุขเริ่มออกอาการไม่เอาโครงการพาคนกลับบ้าน ชี้เพิ่มความเสี่ยงและอาการรุนแรง “ปากน้ำ” ส่อเค้าวิกฤติ เตียงในโรงพยาบาลเหลือแค่หลักหน่วย สุดสลด 2 หนูน้อยเฝ้าศพแม่เสียชีวิตในบ้านที่บางพลี “บึงสามพัน” ตัวเลขยังพุ่งต่อ
    เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,321 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 11,064 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,257 ราย มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 1,041 ราย มาจากต่างประเทศ 14 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 512,678 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 6,782 ราย หายป่วยสะสม 341,475 ราย อยู่ระหว่างรักษา 167,057 ราย อาการหนัก 4,289 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 967 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 87 ราย เป็นชาย 52 ราย หญิง 35 ราย โดยมากสุดอยู่ใน กทม. 40 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย โดยพบเชื้อหลังเสียชีวิต อยู่ใน จ.ปทุมธานี 4 ราย และ กทม. 1 ราย ซึ่งขณะนี้ผู้เสียชีวิตกระจายตัวในจังหวัดต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 4,146 ราย          
    “ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้หารือกันถึงสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านที่มียอดติดเชื้อสูง จึงมีความเป็นห่วงเรื่องการเข้าประเทศ เพราะยังมีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา”
    พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,573 ราย ซึ่งตัวเลข กทม.ยังไม่ได้รวมกลุ่มที่ตรวจหาเชื้อแบบ Rapid Antigen Test (ATK) ที่พบผลเป็นบวกอีกกว่า 1,000 ราย, สมุทรสาคร 1,074 ราย, สมุทรปราการ 970 ราย, ชลบุรี 867 ราย, นนทบุรี 719 ราย, ระยอง 411 ราย, ฉะเชิงเทรา 320 ราย, นครปฐม 311 ราย, ปทุมธานี 301 ราย และพระนครศรีอยุธยา 290 ราย ซึ่งขณะนี้พบว่าตัวเลขการติดเชื้อในต่างจังหวัดมียอดรวมกันสูงกว่า กทม.และปริมณฑล หลายจังหวัดพบว่าผู้ติดเชื้อมีประวัติเดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล จึงทำให้จังหวัดเหล่านี้มีผู้ติดเชื้อสูง และทำให้บางจังหวัดมีอัตราครองเตียงสูงไปถึง 70% แล้ว สำหรับจังหวัดที่มีนโยบายรับผู้ป่วยจาก กทม.และปริมณฑลไปรักษานั้น ขอเน้นย้ำมาตรการคัดกรองอย่างเคร่งครัด และการรักษาอาจต้องใช้ระบบเดียวกับ กทม.และปริมณฑล คือ แยกกักที่ชุมชน และแยกกักตัวที่บ้าน 
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า พื้นที่ กทม.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียวถึง 80% สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจหาเชื้อแบบ ATK หากผลเป็นบวกให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ทำการตรวจเพื่อนำเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน และ Community Isolation (CI) หรือการแยกกักที่ชุมชน ยอมรับระบบนี้อาจมีปัญหาบ้าง แต่เราพยายามปรับปรุง นอกจากนี้ กทม.ได้รายงานการลงพื้นที่ของชุดเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ หรือ CCRT โดยวันที่ 25 ก.ค.ได้ลงพื้นที่ 57 ชุมชน มีประชาชนเข้ารับบริการ 5,325 ราย ตรวจ ATK 896 ราย พบเชื้อ 132 ราย ให้กักตัวที่บ้าน 123 ราย ให้อยู่ศูนย์พักคอย 1 ราย ส่งโรงพยาบาล 3 ราย รวมถึงได้ฉีดวัคซีน 3,897 ราย นอกจากนี้มีการเสนอเข้ามาว่ากลุ่มที่ตรวจ ATK ในระบบก็จะเข้าสู่การรักษา แต่ผู้ที่ซื้อไปตรวจเอง หรือตรวจโดยเอ็นจีโอ หากเข้าระบบอาจต้องใช้เวลา เพราะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR และรอผลอีก 1-2 วัน ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้ CI รับผู้ที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกเข้าไปดูแล แต่ให้แยกส่วนกับบุคคลอื่นที่ได้รับการดูแลอยู่ก่อนหน้า เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ต้องรอการยืนยันผลการตรวจ RT-PCR ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเรื่องการตรวจ ATK ที่มีความแม่นยำจำกัด จึงหารือกันอย่างเร่งด่วน โดยอาจอบรมให้ชุมชนสามารถสวอบโพรงจมูกได้ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น 
เร่งขยายเตียงรองรับ
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค. มีการหารือกันถึงเรื่องมาตรการการขยายเตียง ซึ่งเดิมมีอยู่ในโรงพยาบาลหลัก 32 แห่งทั้งรัฐและเอกชน ไอซียูสนาม 4 แห่ง โรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง โดย รพ.เอกชนหลายแห่งได้แสดงความจำนงที่จะเข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม ในส่วนของ รพ.บางปะกอก 1 จะเข้ามาช่วยเรื่อง CI และเพิ่ม 200 เตียง ในต้นเดือน ส.ค. ที่เขตทุ่งครุ นอกจากนี้ เรื่องของโฮสพิเทลจะร่วมกับ รงแรมคิน ย่านเจริญนคร เขตธนบุรี เพิ่มได้อีก 500 เตียง โรงแรมบางกอกซิตี้สวีท เขตราชเทวี อีก 300 เตียง รพ.สนามอีก 140 เตียง ในเขตราษฎร์บูรณะ เป็นเหลือง 60 เตียง เปิดวันที่ 2 ส.ค.นี้ และแดงจะเพิ่มอีก 30 เตียง เขียว 50 เตียง จะเปิดได้ ส.ค.นี้เช่นกัน นอกจากนี้ รพ.บางปะกอก 1 ร่วมกับบริษัท บิ๊กซีเบอร์รี่ยุคเกอร์ ให้ปรับวอร์ดที่มีอยู่อีก 100 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยเหลือง ประมาณเดือน ก.ย. 
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า รพ.ปิยะเวท กำลังสำรวจพื้นที่รองรับผู้ป่วยทั้งเหลือง-แดง ในพื้นที่สี่มุมเมือง สุขสวัสดิ์ บางบอน รามอินทรา รังสิต และร่วมกับโรงพยาบาล หน่วยงาน เอกชนในพื้นที่ หน่วยงานสำนักงานเขตในพื้นที่มีความพยายามที่จะเข้ามาเพิ่มเตียงเหลือง-แดงอีก รพ.มงกุฎวัฒนะมีแผนเพิ่มเตียงทั้งหมด 3,320 เตียง ภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะสามารถเป็นเตียงในระดับที่ดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องออกซิเจนไฮโฟร กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไตที่จะต้องฟอกเลือด ผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องผ่าตัดทำคลอด รพ.พลังแผ่นดิน 2 จะเปิดเพิ่มอีก 720 เตียง รพ.พลังแผ่นดิน 3 จะเปิดได้อีก 1,800 เตียง รพ.กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานจะเพิ่มศักยภาพจาก 320 เตียง เป็น 400 เตียง โดยจะพยายามนำตัวเลขมาแสดงให้เห็นถึงภาพรวมว่ามีกระจายอยู่ในพื้นที่ใด เขตใดบ้าง ประชาชนจะเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง 
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำตลอดว่าขอให้เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม และต้องขอขอบคุณอย่างมากที่ รพ.เอกชนหลายๆ แห่งให้ความร่วมมือดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ และต้องขอขอบคุณสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขที่ช่วยกันประสานงานทำให้เห็นภาพการขยายเตียง มีความร่วมมือของโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คาดหวังว่าประชาชนจะสามารถได้รับบริการที่เข้าถึงได้เร็วยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการตายที่บ้านได้ 
“เราเพิ่มศักยภาพขึ้นมาเป็นหลายพันเตียง แต่ยังทำไม่ทัน ทำไม่พอ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไปที่ 1.5 หมื่นแล้ว ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขทั้งของ กทม. ปริมณฑล พื้นที่ทุกภาคส่วนก็ยังไม่ย่อท้อ แม้เราจะต้องปรับแผนเป็น CI ต้องเพิ่มศักยภาพเตียงเหลือง-แดง ในที่สุดก็คือเพื่อรักษาชีวิตประชาชน” พญ.อภิสมัยกล่าว 
ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์ ศปก.ศบค. ได้รายงานสรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกผู้ติดเชื้อคงที่ ประเทศเพื่อนบ้านยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ส่วนในประเทศสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น การกระจายทั่วประเทศพบมากใน กทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ป่วยอาการรุนแรงและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้น เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง เตียงรองรับผู้ป่วยเริ่มขาดแคลนในหลายพื้นที่ และยังคงมีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าประเทศทางช่องทางบก (กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย) ตลาด โรงงาน ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง ยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
    ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,041 ราย โดยพบในเรือนจำสีแดง 1,010 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 31 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 37,069 ราย หรือ 82.8% ของผู้ติดเชื้อสะสม 44,783 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
กลับถิ่นเท่าที่จำเป็น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รมว.สธ.มีความห่วงใยผู้ป่วยโควิด-​19 ต้องการให้ทุกคนได้เข้าสู่ระบบการรักษา โดยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน ติดตามดูแลโดยทีมปฏิบัติการเชิงรุก Comprehensive COVID-19 Response Team (CCR Team) สำหรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงที่จำนวนเพิ่มขึ้น สธ.ได้ให้ รพ.บุษราคัมร่วมดูแล ซึ่งสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการหนักใน รพ.บุษราคัมมีจำนวนมากขึ้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (อีโอซี) สธ.จึงเห็นชอบให้พัฒนาพื้นที่รองรับผู้ป่วยวิกฤติสีแดงเข้มเพิ่ม 17 เตียง 
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำงานอยู่ใน กทม.และปริมณฑลบางส่วนประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือกักตัวที่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัดว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงให้อาการป่วยเร็วหรือรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง และทำในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้ ขอให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อน หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทางสายด่วน 1330 กด 15 หรือแจ้งลงทะเบียนทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลในพื้นที่ตามมาตรฐาน 
ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation - HI) และการดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation - CI) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ว่าขณะนี้ สปสช.ได้ปรับวิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขกับหน่วยรับดูแลผู้ติดเชื้อแรกรับ (คลินิก/ศูนย์บริการสาธารณสุข/โรงพยาบาล) โดยจะได้รับการจ่ายชดเชยงวดแรกแบบเหมาจ่ายในอัตรา 3,000 บาทต่อราย โอนเงินให้ทุกสัปดาห์ และภายหลังเสร็จสิ้นสุดการดูแล หากค่าใช้จ่ายมีมากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายแบบเหมาจ่ายไปแล้ว หน่วยบริการจะได้รับการจ่ายชดเชยเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายชดเชยตามที่กำหนด จึงขอให้หน่วยบริการมั่นใจได้ว่าจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช.อย่างเพียงพอในการดูแลผู้ป่วย 
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ นั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 970 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบัน 33,698 ราย แบ่งเป็นในพื้นที่ 28,256 ราย นอกพื้นที่ 5,442 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 298 ราย ส่วนการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI และในชุมชน จำนวน 259,739 ราย พบเชื้อ 28,253 ราย ขณะที่ข้อมูลเตียงผู้ป่วยนั้น รพ.รัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่นๆ จำนวนเตียงคงเหลือ 5 เตียง รพ.สนามคงเหลือ 303 เตียง รพ.เอกชนเหลือ 2 เตียง โฮสพิเทลคงเหลือ 241 เตียง
    ทั้งนี้ ที่ จ.สภ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้เกิดเหตุสลดพบหญิงเสียชีวิตที่ห้องเช่าไม่มีชื่อภายในซอยไฟโอเนีย แยก 2 ที่เกิดเหตุเป็นห้องชั้นเดียว ภายในห้องพบเด็กหญิงวัย 7 ขวบ และ 9 ขวบ นอนเฝ้าร่างไร้วิญญาณของนางอาภาภรณ์ สุนทราชน อายุ 44 ปี ผู้เป็นมารดาที่นอนคว่ำหน้าเสียชีวิตอยู่กับพื้นห้อง ตามร่างกายไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด คาดเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นเชื่อว่ามาจากโควิด-19 เพราะผลตรวจสอบเด็ก 2 รายเบื้องต้นก็พบว่ามีผลเป็นบวก    
ส่วนที่ จ.สมุทรสาครนั้น นพ.มงคล วณิชภักดีเดชา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนลอ้อมน้อย ระบุว่า ดร.สมศักดิ์ ขวัญเมือง อดีตนายกเทศบาลนครอ้อมน้อย ที่อยู่ในเก้าอี้มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ได้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 เมื่อช่วงค่ำวันที่  25 ก.ค.ที่ผ่านมา
บึงสามพันยังน่าห่วง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยยืนยันล่าสุด 132 ราย ไม่รวมกรณีโรงงานสหฟาร์ม โดยเป็นคนในพื้นที่ 22 ราย นอกพื้นที่ขอเข้ามารักษา 110 ราย ขณะที่ความคืบหน้าการติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ทีมควบคุมโรคจังหวัดเพชรบูรณ์ และทีมควบคุมโรคของบริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด (ในเครือสหฟาร์ม) อ.บึงสามพัน ได้เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากแรงงาน ทั้งชาวไทย และต่างด้าวทั้งหมด 7,164 คน ผลตรวจด้วยวิธี Antigen test kit เพื่อค้นหาผู้ป่วยในเบื้องต้น พบว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 3,481 คน แบ่งเป็นแรงงานชาวไทย 391 คน และชาวเมียนมา 3,090 คน นอกจากนี้ได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ทั้งในพื้นที่หมู่ 2 บ้านหนองปล้อง และหมู่ 4 บ้านลำตะคล้อ โดยได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อจากกลุ่มเสี่ยง 366 คน และผลออกมาเป็นบวก 80 คน
จ.นครราชสีมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมารายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีกจำนวน 218 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่เป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 98 ราย ติดเชื้อมาจากการสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 95 ราย และป่วยโควิดเดินทางมารักษา 25 ราย รวมผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมของจังหวัด 4,845 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 46 ราย 
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 116 ราย กระจายใน 13 อำเภอ เป็นผู้ป่วยติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 2 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 116 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 2,438 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 381 ราย และอยู่ระหว่างรักษา 2,052 ราย
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ รายงานสถานการณ์โควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 41 ราย เป็นผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีที่มาถึง จำนวน 41 ราย มีภูมิลำเนากระจายไป 7 อำเภอ รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอก 3 จำนวน 706 ราย แยกเป็น ติดเชื้อจากภายนอกจังหวัดสะสม 659 ราย ติดเชื้อจากภายในจังหวัดสะสม 47 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 6 ราย 
ที่อาคารศูนย์กีฬาในร่ม โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก พร้อมคณะได้ตรวจความพร้อมของสถานที่พักคอย จุดที่ 1 เพื่อรองรับผู้ที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมายังจังหวัดพิษณุโลก ขณะนี้ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  มีความประสงค์จะเดินทางกลับมารับการรักษาในภูมิลำเนาในวันนี้อีก 35 ราย โดยขบวนรถบัส กองทัพภาคที่ 3 พร้อมรถนำขบวน รถพยาบาล และเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับกลับ โดยก่อนหน้านี้จังหวัดพิษณุโลก และ กอ.รมน.ภาค 3 พาคนกลับบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 92 ราย
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้นั้น จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อ วันที่ 25 ก.ค. มีจำนวน 214 คน  ยอดสะสม 7,701 คน รักษาหายแล้ว 4,397 คน ซึ่งวันนี้มีผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มอีก 4 คน ทำให้มียอดสะสมเสียชีวิต 95 คน และยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจหลายพันคน ที่น่าเป็นห่วงคือ อ.หนองจิก ที่พบผู้ติดเชื้อมากทุกวัน เนื่องจากมาตรการที่ไม่เข้มงวด เพราะหลายพื้นที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ขณะเดียวกันชุดกู้ชีพ-กู้ภัย มูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ๊ง จ.ปัตตานี ได้นำทีมกระจายไปทุกพื้นที่จังหวัดปัตตานี เร่งทำการฉีดพ่นยาหมู่บ้านต่างๆ เนื่องจากตอนนี้ประชาชนเกิดความกังวลมาก หวาดผวา ว่าคนในครอบครัวจะติดเชื้อ นอกจากนั้นมีรายงานว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ในจังหวัดไม่เพียงพอ ซึ่งล่าสุดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งก็ได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยให้มูลนิธิร่วมบำเพ็ญการกุศลท่งเต็กเซี่ยงตึ๊งเป็นผู้มอบให้ รพ.ปัตตานีแล้ว
ที่สนามกีฬา อบจ.นครศรีธรรมราช อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมคณะผู้บริหาร และนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. เดินทางตรวจเยี่ยมความพร้อมในการเปิดโรงพยาบาลสนามภายในสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัด อ.ร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามขนาด 120 เตียง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"