ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน กรมควบคุมมลพิษ ได้ระบุว่า โดยเฉลี่ยไทยมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 2 ล้านตัน/ปี และ 1.5 ล้านตัน/ปี นำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา คิดเฉลี่ยมนุษย์สร้างขยะพลาสติกราวคนละ 50 กิโลกรัมต่อปี แต่มีการนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10% ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด19 ระบาด ขยะพลาสติกยิ่งเพิ่มชึ้นกว่าเดิมมาก ข้อมูลปี 2563-2564 พบว่าปริมาณของคนที่ผลิตขยะพลาสติกในประเทศไทย ใช้ขยะพลาสติกมากขึ้นในปี 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 40% และในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงเมษายนที่ผ่านมา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% และอาจจะมากกว่าเดิมจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคโควิด
ด้วยเหตุนี้ คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย จึงได้คิดแนวทางเยียวยาปัญหามลภาวะจากขยะพลาสติก มลพิษทางอากาศ และน้ำ ผ่านนวัตกรรมใหม่ “เทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis technologies)” ซึ่งสามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-oil) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือก เพื่อการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดรับการร่วมมือเป็นพันธมิตรทั้งกับองค์กรธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาล
ยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ซีอีโอ คอร์สแอร์ กรุ๊ปฯ
นายยูสซี เว็คโค ซาโลรานตา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์สแอร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า มลภาวะจากขยะพลาสติกทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมาพร้อมอุปสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ปกป้องสุขภาพส่วนบุคคล ส่งผลถึงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพิ่มปริมาณมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยรายงานว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นถึง 60% โดยอัตราการผลิตพลาสติกรายปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายงานการผลิตทั่วโลกมากกว่า 370 ล้านเมตริกตันต่อปี หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ ภายในปี ค.ศ. 2050 ขยะพลาสติกกว่า 12 พันล้านตันจะทับถมอยู่ในหลุมขยะฝังกลบและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ
ซีอีโอ คอร์สแอร์ฯ กล่าวอีกว่า การลดปัญหาจากขยะพลาสติก ทำให้สหภาพยุโรป ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาขยะพลาสติก ได้ออกกฎหมายว่าในธุรกิจที่ผลิตพลาสติกจะต้องใช้วัตถุดิบที่เป็นพลาสติกรีไซเคิล มาเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตอย่างน้อย 30% สำหรับการผลิตทั้งหมด แต่ถ้าบริษัทไหน ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ก็จะต้องเสียค่าปรับเป็นภาษีให้กับสหภาพยุโรป การออกกฎหมายดังกล่าว ก็เพื่อพยายามที่จะทำให้บริษัทที่ผลิตพลาสติกมีความรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ตัวเองมากขึ้น คาดว่ากฎหมายนี้จะเกิดขึ้นในทั่วทุกที่บนโลกและหวังว่าจะเกิดขึ้นในประแถบตะวันออกเฉียงใต้ในเร็วๆนี้
เครื่องจักที่เป็น "เทคโนโลยีไพโรไลซิส"เปลี่ยนขยะพลาสติก ให้เป็นพลังงาน
ส่วนเทคโนโลยีไพโรไลซิส ที่นำมาใช้ในกระบวนการแปรสภาพพลาสติกเป็นน้ำมัน ยูสซี ได้อธิบายว่า โรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมัน หรือที่เรียกว่าการรีไซเคิลทางเคมีของคอร์สแอร์ มีเนื้อที่ 6,400 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นการใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส ที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันกำมะถันต่ำ ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้ามากที่สุดในอุตสาหกรรมประเภทนี้ โดยลำเลียงขยะพลาสติกลงในเครื่องไพโรไลซิส (Pyrolysis Machine) ซึ่งสามารถรองรับขยะพลาสติกได้ทุกชนิด โดยขณะนี้เรามุ่งเน้นไปที่พลาสติกที่เป็นปัญหาหลักของโลก อย่าง ถุงพลาสติก พลาสติกห่อหุ้ม และบรรจุภัณฑ์ และบ่อขยะในประเทศไทย จากการคาดการณ์ว่ามีบ่อขยะมากกว่า 2,000 บ่อ ซึ่งมีพลาสติกที่ถูกสะสมมานานหลายปี สำหรับกระบวนการทำงานของไพโรไลซิส เครื่องจักรจะให้ความร้อนกับขยะพลาสติกเพื่อให้เกิดควันและก๊าซ ขั้นตอนนี้ไม่ใช่การเผา เพราะจะยังไม่มีเปลวไฟสัมผัสถูกเนื้อพลาสติก จึงไม่ทำให้เกิดไอพิษลอยสู่ชั้นบรรยากาศ
โดยก๊าซไวไฟที่ได้จากกระบวนการแปรสภาพจะถูกรวบรวมและนำไปใช้เพื่อสร้างความร้อนในขั้นตอนการแปรสภาพขยะพลาสติกต่อไป ส่วนควันที่เกิดขึ้นจะลอยผ่านระบบกลั่นและเปลี่ยนเป็นของเหลว ซึ่งพลาสติกก็จะเกิดการแปรสภาพเป็นน้ำมันกำมะถันต่ำ หรือก็คือน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-Oil/ Advanced Biofuel) มีลักษณะเหมือนน้ำมันดิบและสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และนํ้ามันอากาศยาน และสำคัญที่สุด น้ำมันชีวภาพขั้นสูงสามารถใช้เพื่อการผลิตพลาสติกใหม่ ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักในการลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะถูกนำไปฝังกลบและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ยูสซี ยังบอกอีกว่า น้ำมันชีวภาพขั้นสูงบางส่วนที่ผลิตได้ ยังหมุนเวียนกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องจักรไพโรไลซิสเอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากภายนอก ซึ่งในอนาคตจะมีการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนของเครื่องจักรเหล่านี้ในตัวเอง เพื่อสร้างระบบนิเวศพลังงานที่เพียงพอสำหรับป้อนภายในโรงงาน จึงคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ยั่งยืนที่สุดในการทำพลาสติก เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องนำน้ำมันใหม่มาจากใต้พื้นโลก เป็นการลดการใช้ปริมาณน้ำมัน นำไปสู่การลดปริมาณมลพิษและคาร์บอนได้ออกไซด์ด้วย
ระบรรทุกนำขยะพลาสติกเข้าโรงงาน
“ปัจจุบันเครื่องจักรของเรา มีกำลังการผลิตราว 200,000 ลิตรต่อเดือน โดยโรงงานจะขยายเนื้อที่อีก 10,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตให้ได้มากกว่า 1,000,000 ลิตรต่อเดือนในปี 2565 และคาดว่าจะสามารถขจัดขยะพลาสติกได้ 50-90% ของขยะพลาสติกในประเทศ โดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนกิโลกรัม/เดือน และจะเปลี่ยนเป็นน้ำมันได้ 2 แสนลิตร ขึ้นอยู่กับความสะอาดของพลาสติกด้วย "
เขายังยกตัวอย่างกรณีพลาสติกที่สกปรกว่า ถ้ามีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมจะสามารถเปลี่ยนไปเป็นน้ำมันได้ที่ 50-75 ลิตร แต่หากพลาสติกที่มาจากบ้านเรือนและมีความสะอาดสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมันได้ 90% ทั้งนี้จะมีการขยายกิจการทั้งในประเทศและยุโรป หากสำเร็จคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 2 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำมันได้ที่ 1 ล้านลิตร
พื้นที่ตั้งของโรงงานคอร์สแอร์ ฯ ในกรุงเทพฯ
สำหรับเป้าหมายในอีก 10 ปี ยูสซี เผยว่า จะเดินหน้าขจัดขยะพลาสติกออกไปจากสิ่งแวดล้อมให้ได้ 2 พันล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นน้ำมันที่จะผลิตได้คือ 1 พันล้านลิตร โดยมาจากแหล่งขยะทั้งการแยกขยะพลาสติกจากต้นทาง เก็บขยะพลาสติกจากขยะครัวเรือน และขยะพลาสติกจากบ่อขยะ แม่น้ำและทะเล นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบริษัทและองค์กรชื่อดังของไทยหลายแห่ง อาทิ ไมเนอร์ กรุ๊ป, เซ็นทารา กรุ๊ป, ชาเทรียม โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี่, บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน), แดรี่โฮม และอีกหลายแห่ง ในการคัดแยกขยะ หรือไปตัวกลางในการคัดแยก โดยทาง คอร์สแอร์ จะเป็นผู้ไปนำเก็บและออกค่าใช้จ่ายทุกอย่าง จึงถือว่าช่วงเวลาที่เราต้องร่วมมือกันในการใช้พลาสติกอย่างถูกต้องสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้