“ม็อบทะลุฟ้า” รายวันมาพอเป็นน้ำจิ้ม “ไผ่” บอกให้สาวกรอติดตามครั้งหน้าจัดที่ไหนอย่างไร “ภูเก็ต” ก็มีคาร์ม็อบจน “อนุชา” ต้องออกโรงขอร้อง กสม.ชง 4 ข้อให้ที่ประชุม ครม.เคาะให้เสรีภาพจัดชุมนุม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวถึงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลว่า วันนี้มี 2 กลุ่มหลัก กลุ่มที่ 1 หมู่บ้านทะลุฟ้า ที่นำโดยนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลา 15.00 น. และกลุ่มที่ 2 กลุ่มฮาร์เลย์ เป็นม็อบจักรยานยนต์ ซึ่งนัดหมายในลักษณะคล้ายๆ คาร์ม็อบที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เวลา 13.00 น. โดยจะเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล แต่ล่าสุดการข่าวทราบว่าจะวนอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ
“กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การชุมนุมด้วยประการหนึ่งประการใดไม่สามารถกระทำได้ เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมบนผิวการจราจร การใช้เครื่องเสียง จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกและ พ.ร.บ.เครื่องกระจายเสียง” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว และว่า ที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 21-24 ก.ค. มีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้หลายพื้นที่ ซึ่งตำรวจพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท เริ่มกระจายกำลังรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ขณะที่ประชาชนบางส่วนเริ่มเดินทางมารวมตัว ซึ่งในเวลา 13.30 น. นายจตุภัทร์ได้เดินทางมาถึง และในเวลา 13.50 น. กลุ่มทะลุฟ้านำรถกระบะ 3 คัน ตั้งเทียนพรรษาคันละ 1 เล่ม และรถปราศรัยขนาดใหญ่เริ่มตั้งขบวน ส่วนกลุ่มม็อบมอเตอร์ไซค์ ซึ่งนำโดยนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน ขี่รถฮาเลย์-เดวิดสัน กว่า 40 คัน ต่อท้ายรถปราศรัย ตามด้วยรถจักรยานยนต์ทั่วไป และรถยนต์ โดยเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถ.พิษณุโลก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำลวดหนามหีบเพลงมาวางซ้อนกัน 3 ชั้น และมีการวางรั้วแผงเหล็กซ้อนอีกชั้น ส่วนเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาวางซ้อนกัน 2 ชั้น ปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านเข้าไปได้ รวมไปถึงได้นำรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือจีโน่ มาจอดประจำการไว้ด้วย 1 คัน
โดยมีกลุ่มมวลชนมาถึงหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร แกนนำต่างหมุนเวียนขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และช่วงหนึ่งมีการจำลองศพห่อผ้าขาวมาจุดไฟเผา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขับไล่และต่อต้านรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ หลังจากมีการปราศรัยกันจนถึงเวลา 17.35 น. นายจตุภัทร์ก็ได้ยุติการชุมนุม โดยได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาร่วมสู้ พร้อมให้รอฟังประกาศจากเพจทะลุฟ้าต่อไปว่าจะจัดกิจกรรมเมื่อใด
ทั้งนี้ พบว่าที่ จ.สุรินทร์ กลุ่มคนสุรินทร์ผู้รักประชาธิปไตย ร่วมกับกลุ่มคนสุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ และกลุ่มต่างๆ จัดขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 100 คันเปิดไฟ บีบแตร พร้อมชู 3 นิ้ว วิ่งไปรอบเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนชนิด mRNA และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก
เช่นเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต ที่มีกลุ่มคณะราษฎรภูเก็ต และกลุ่มภูเก็ตปลดแอก ได้จัดชุมนุมขบวนคาร์ม็อบเรียกร้องวัคซีนไฟเซอร์ ทำให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ ต้องชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงยืนยันแล้วว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามาในเดือน ก.ค.นี้ จะนำมาใช้เพื่อฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกก่อนอยู่แล้ว และขณะนี้เราได้เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเพิ่มบรรยากาศการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังดีขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง ได้โปรดให้ความร่วมมือช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะยังกล่าวถึงการดำเนินคดีกับดารา-นักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงออกมาคอลเอาต์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า ต้องตรวจพิสูจน์ต่อไป เพราะมีรายละเอียดเยอะ และคำพูดบางคำพูดหรือส่วนไหนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างไร ฝ่ายกฎหมาย บช.น.อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลา
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ก.ค. มีการพิจารณาวาระเพื่อทราบถึงข้อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอให้ ครม. โดย กสม.เห็นว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ได้รับรองอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ กสม.เสนอแนะดังนี้ 1.ครม.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การบังคับใช้กฎหมายหรือปฏิบัติการใดๆ ควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาส ให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยอาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการ ชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ ซึ่งจัดทำโดยองค์การสหประชาชาติมาเป็นแนวทาง 2.ครม.ควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ให้ความคุ้มครอง เสรีภาพ โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลัก แทนการใช้กฎหมายอื่น เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงควรทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล
3.ครม.ควรดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่าความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า และจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และ 4.กสม.ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของ ครม.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม โดยควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงระบุเหตุผลความจำเป็น และความได้สัดส่วนที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด
รายงานข่าวแจ้งว่า การสอบถามความเห็นของส่วนราชการนั้น กระทรวงกลาโหมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของนักเรียนนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่จะได้รับความคุ้มครอง ต้องไม่เป็นการกล่าวหรือการกระทำโดยวิธีการอื่นที่ก้าวร้าว หรือใช้คำกล่าวที่สร้างความเกลียดชัง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น และต้องชุมนุมที่สงบโดยปราศจากอาวุธ ขณะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เพิ่มเติมว่า การบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจ ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ในการดูแลการชุมนุมที่มีการละเมิดกฎหมาย จะเป็นไปตามสมควรแก่เหตุและยุทธวิธีใช้กำลังเท่าที่จำเป็นของสถานการณ์ตามหลักสัดส่วน และไม่ตัดสิทธิ์ที่เจ้าหน้าที่ในการป้องกันตนเองหรือเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า หากสามารถกระทำได้และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเจ้าหน้าที่
“สภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่า มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองฯ มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ความสมดุล ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน”
ส่วน กทม.ให้ความเห็นว่า หลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ เป็นข้อเสนอแนะให้ดำเนินการในขั้นตอนของการตรากฎหมาย หรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุน เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากร ตามที่ สตช.ร้องขอ ซึ่งไม่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตามหลักการชี้แนะดังกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |