ทูลกระหม่อมฯภาวนาเร่งจองวัคซีนGen2


เพิ่มเพื่อน    

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงภาวนาให้โควิดคลี่คลาย ทรงแนะรีบจองวัคซีน generation  2 ด่วน สธ.ยันฉีดไฟเซอร์กระตุ้นเข็ม 3 ให้บุคลากรด่านหน้าไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ลั่นไม่มีวีไอพี "อนุทิน" แจงชัดปม  จ.ม.แอสตร้าฯ นายกฯ เซ็นสัญญาตั้งแต่ พ.ย.63 และส่วนข้ออ้าง 3 ล้านโดสไม่มีที่มา ย้ำไทยต้องการ 10 ล้านโดส/เดือน สวนดุสิตโพลเผย ปชช.สนใจข่าวประสิทธิภาพวัคซีน ชี้การบริหารจัดการวัคซีนทำสับสน
    เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์อินสตาแกรมโดยระบุว่า "สวัสดีวันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ทำบุญใส่บาตรทุกวัน สวดมนต์ภาวนาขอให้สถานการณ์การระบาดโควิดคลี่คลายซะที ขอบอกอีกครั้งว่าเราต้องรีบจองวัคซีน  generation 2 ด่วน ซึ่งนอกจาก Novavax ที่ดิฉันเขียนถึงเมื่อวันก่อน Pfizer, Moderna, AstraZeneca เขาก็กำลังทำวัคซีน generation 2 อยู่เช่นกัน ซึ่งจะป้องกันเชื้อ Variants  ได้ดีกว่าวัคซีนที่มีตอนนี้ รีบจองอย่าช้าอีกล่ะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน #เพราะเราเป็นกำลังใจให้กัน #ไม่ว่างไม่ใช่ไม่สวย"
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงประเด็น "สถานการณ์โควิด-19 และวัคซีนไฟเซอร์" ว่า บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าจะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ไม่ใช่ 2  แสนโดสอย่างที่เป็นข่าวปลอม ที่มีการนำเสนอออกมาในสื่อมวลชนบางแห่ง ทั้งนี้วัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามาประเทศไทย ในช่วงเดือน ก.ค. และเริ่มฉีดได้ในเดือน ส.ค. ขอย้ำว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส เป็นการฉีดวัคซีน กระตุ้นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ตอนนี้ได้รับการฉีดไปบ้างแล้ว โดยฉีดวัคซีน "ซิโนแวค" จำนวน 2 เข็ม และฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" ไปแล้วอีก 1 เข็ม
    โฆษก สธ.กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาว่ามีการบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 3  เพื่อกระตุ้น ยืนยันไม่เป็นความจริง แต่เป็นความสมัครใจเอง  ส่วนที่มีข้อมูลว่ามีการเรียกเก็บเงินค่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นค่าใช้จ่ายทั้ง 21.5 ล้านโดสที่มีแผนจะเข้ามาในไตรมาส 4 นี้  นั้นไม่เป็นความจริง แต่เป็นการฉีดให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ย้ำว่าเป็นข่าวปลอม ประชาชนต้องระวังอย่าได้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อ และจะไม่มีการให้วัคซีนแก่กลุ่มพิเศษหรือกลุ่ม วีไอพีอย่างเด็ดขาด หากใครพบมีการทำเช่นนั้นขอให้แจ้งเข้ามาได้ทันที สธ.จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด 
    นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนที่สะสมตั้งแต่วันที่ 28  ก.พ.-24 ก.ค.64 โดยเป้าหมายสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับวัคซีน 12.5 ล้านคนภายในปี 64 ซึ่งในเข็มที่ 1  ฉีดไปแล้ว 2.5 ล้านคน หรือ 20% ส่วนในเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วอยู่ที่ 1.6 แสนคน หรือ 1.3% จึงเป็นเรื่องสำคัญในการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง รวมถึงผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มโรคก็พบว่ายังได้รับวัคซีนไม่มาก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 5.3 ล้านคน ในเข็มที่ 1 ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 1.3 ล้านคน และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 2.3 แสนคน
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรากรณีจดหมายแอสตร้าเซนเนก้าที่ถูกมองว่าการจองล่าช้า ที่มาทำในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 26 ล้านโดส และอีกครั้งเดือน พฤษภาคม 2564 จำนวน 35 ล้านโดส เมื่อเทียบกับอาเซียนแล้วเราค่อนข้างช้ากว่าที่อื่นว่า อย่างที่เขาบอกว่าเดือนมกราคม 2564 หรือพฤษภาคม 2564 อันนี้เป็นวันที่เขาบันทึกลงไปในสารบบของเขา แต่จริงๆ แล้วการคอนเฟิร์มรัฐบาลไทยได้ลงนามไป ถ้าจำได้ตั้งแต่วันที่ 27  พฤศจิกายน 2563 มีการลงนามที่ทำเนียบรัฐบาล มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แล้วด้านหลังมีประธานของแอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษร่วมลงนาม เพราะว่ามันเป็นออนไลน์ แต่ในงานเอกสารคือส่งกลับไป กว่าเขาจะส่งกลับมาใช้เวลาอีก 2 เดือนกว่า อันนี้ก็เป็นระบบของเขาไม่เกี่ยวกับเรา แต่ว่าสำหรับเราออเดอร์คอนเฟิร์มเรียบร้อยแล้ว ส่วนเอกสารที่ 2 อีก 35 ล้านโดสที่มาเดือนพฤษภาคม 2564  เอกสารเราส่งไปตั้งแต่เดือนมีนาคมเช่นเดียวกัน  
ย้ำคุยแอสตร้าฯ 10 ล้านโดส/เดือน
    ส่วนที่บอกว่า ทีมของรัฐมนตรีที่ไปเจรจาบอกไทยต้องการแค่ 3 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้นในการฉีด นายอนุทิน กล่าวว่า เนื้อหาในจดหมายที่อ้างว่าประเทศไทยฉีดได้เดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้นเอง เขาส่งมาให้ถึง 6 ล้านโดส อันนี้คือในทางการตลาดหรือเป็นการบลัฟกัน เพื่อให้บอกว่าเขาได้ทำมากกว่าที่เราต้องการ แต่ตนโทร.ไปถาม Country  Manager ของเขา ว่าฉันไม่เคยได้ยินเลยนะว่าใครพูด 3  ล้านโดส เขาก็บอกว่าเขาโน้ตเอาไว้ 
    "ผมก็เลยบอกว่าโน้ตไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะวันที่ 7  กันยายน 2563 ที่พบกัน นั่นคือการพบกันครั้งแรกระหว่างผมกับผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ใช่เป็นการเจรจาใดๆ  ทั้งสิ้น สาระของผมที่ตอบกลับเขาไปมีประโยคหนึ่งคือ เขาบอกว่าเขาคิดว่าจะจัดส่งให้ประเทศไทย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ผมตอบไปว่าประเทศไทยต้องการ 10 ล้านโดสต่อเดือน นั่นคือสาระที่ผมตอบจดหมายฉบับนี้ไป"
    ส่วนที่ว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้จะฉีดได้ 100 ล้านโดสตามเป้าหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เราฉีดได้ประมาณเดือนละ 10  ล้านโดส จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีก็อีก 6 เดือน ประมาณ 60 ล้านโดส จำนวนวัคซีนที่เข้ามาในแต่ละเดือนก็ ประมาณ 10-12 ล้านโดส เดือนมิถุนายน 64 มีวัคซีนเข้ามาใกล้ๆ 10  ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 64 มีวัคซีนเข้ามาในระบบทั้งหมด ประมาณ 10-12 ล้านโดส จากนี้ไปเราได้สั่งไฟเซอร์ไปอีก  20 ล้านโดส ซึ่งจะมาในไตรมาสที่ 4 ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า เขาก็ตอบมาในไลน์ของตนและไลน์ของอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า เมื่อเขาหาฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ได้เขาก็จะสามารถเพิ่มการส่งให้แก่ประเทศไทยได้
    ส่วนกรณีที่มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายว่า ทำไมไม่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงทางวัคซีนสั่งห้ามส่งออก แต่อาจจะไม่ต้อง  100% อย่างน้อยตามเป้าที่เราต้องการ นายอนุทินกล่าวว่า  มาตรการมันง่าย เป็นหนังสือ ฉบับเดียวก็มีผล แต่ถามว่าโรงงานที่เขามาผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย  เป็นโรงงานของเรา เป็นของคนไทย หรือเป็นโรงงานที่รับจ้างเขาผลิต เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดู บริษัทผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ถ้าเราไปทำอะไรเขา เขาอาจจะต้องรักษา integrity ของเขา ไปบีบเขามากไม่ได้ เพราะถ้าไปบีบปุ๊บเดี๋ยวประเทศอื่นเขาบีบด้วย เขาอาจจะบอกขอยกเลิกสัญญา เราจะทำอย่างไร ยังไม่นับรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศในภูมิภาคนี้ มีความต้องการวัคซีนโควิด มีการระบาดของเชื้อเป็นอย่างมากเหมือนกัน ถ้าเราไปบล็อกตรงนั้น เขาก็จะมากดดันประเทศไทยทันทีในหลายๆ เรื่อง
    ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องไทยพิจารณากลับเข้ารับวัคซีนโควิดผ่านโครงการโคแวกซ์ นายอนุทินกล่าวว่า  ไม่ได้หมายความว่าการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในปีนี้ถือว่าผิดแผน ผิดพลาดล้มเหลว แต่ไทยตัดสินใจบนสถานการณ์จริง  หากมองในมุมของประเทศไทยที่มีการซื้อวัคซีนตรงกับบริษัทผู้ผลิตที่เราตกลงกันไว้ตั้งแต่ ก.ย.63 ทำให้ตั้งแต่เดือน ก.พ.64 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.64 ไทยเรามีวัคซีนรวมสะสมทั้งสิ้นประมาณ 27 ล้านโดส ซึ่งย้อนกลับไปตอนที่ไทยมีแผนวัคซีน เราไม่ได้เลือกโคแวกซ์เป็นแผนหลัก เพราะตอนนั้น เราไม่อยากวางเงินซื้อ ซึ่งเรารู้ดีว่าหลังจากนั้นเราจะกำหนดอะไรไม่ได้ ทางไทยจึงกันงบไว้จัดซื้อจัดหากับผู้ผลิตโดยตรง  ที่การพูดคุยหารือยังเป็นไปได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันของโครงการโคแวกซ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  ไทยและโคแวกซ์ได้หารือกันมาตลอด มีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่าในปี 2565 การกักตุนวัคซีนจะน้อยลง โคแวกซ์จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น  บริหารจัดการง่ายขึ้น ชาติสมาชิกจะมีความชัดเจนเรื่องการได้รับวัคซีน ไทยจึงเข้าร่วม เราตัดสินใจบนสถานการณ์จริง
'จภ' เปิดจองซิโนฟาร์ม
    ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมเปิดสิทธิ์จองวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับประชาชน เฉพาะกลุ่มที่ลงทะเบียนรอบแรก 18 ก.ค.64 ได้สำเร็จ แต่ยังไม่ได้เข้าจองวัคซีนจำนวน  48,756 ราย จะเปิดให้เข้าจองวัคซีนได้ในวันอังคารที่ 27 ก.ค.64  เวลา 10.10 น. จนถึง 28 ก.ค.64 เวลา 18.00 น. ผ่าน 2  ช่องทาง ได้แก่ 1. เว็บไซต์ https://sinopharm.cra.ac.th  และ 2.แอปพลิเคชัน CRA SINOP ทั้งระบบ iOS และ  Android โดยสามารถเลือกวันเข้ารับการฉีดในโรงพยาบาลที่กำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 6-15 ส.ค.64 หากไม่ได้เข้ามาดำเนินการวัคซีนและโอนเงินภายในวันที่ 29 ก.ค.64 ระบบจะยกเลิกการลงทะเบียนของท่านโดยอัตโนมัติ และหากท่านยังมีความประสงค์ในการจองวัคซีนซิโนฟาร์ม ท่านจะต้องทำการลงทะเบียนใหม่ในครั้งต่อไปอัตราค่าวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 โดสต่อคน 1,554 บาท (โดสละ 777 บาท) โดยทุกๆ 2 โดส ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะบริจาคสมทบครึ่งโดสให้แก่ผู้ด้อยโอกาส
    ในวันเดียวกัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  แจ้งด้วยว่า บมจ.การบินไทย โดยฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ร่วมกับฝ่ายบริการคลังสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ได้รับขนส่งวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส น้ำหนักรวม  33.39 ตัน จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศไทย 2  เที่ยวบิน โดยมาถึงกรุงเทพฯ ที่อาคารขนถ่ายสินค้าการบินไทย เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 25  ก.ค.64 เวลา 09.13 น. และเวลา 10.28 น.
    ที่อาคารจอดรถอำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานีร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไดรฟ์ทรู  (Drive Thru) แก่กลุ่มเป้าหมายผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ จ.ปัตตานี ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้พิการที่ไม่สะดวกในการนั่งวีลแชร์ โดยมีประชาชนกลุ่มดังกล่าวเดินทางมาฉีดวัคซีนเกือบ 60 คน ซึ่งการบริการฉีดวัคซีนแบบไดรฟ์ทรูได้รับความสนใจจากประชาชนชาวปัตตานีเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความสะดวกต่อคนพิการและผู้สูงอายุที่แทบไม่ต้องลงจากรถ 
    สวนดุสิตโพลเปิดผลสำรวจ เรื่อง “ข่าวสารในช่วงวิกฤติ โควิด-19” จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,619  คน ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.64 สรุปว่าข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤติโควิด เรื่องที่ประชาชนสนใจคือ ร้อยละ 72.41 ระบุเป็นเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนและอาการข้างเคียง รองลงมาร้อยละ 71.23 ระบุเป็นมาตรการของภาครัฐในพื้นที่ควบคุม พื้นที่เสี่ยง ร้อยละ 68.38 ระบุเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วย  โรงพยาบาลสนาม จำนวนเตียง
    เมื่อถามถึงแหล่งข้อมูลที่ประชาชนเชื่อถือ พบว่าร้อยละ  65.30 ระบุเป็นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รองลงมา  ร้อยละ 59.75 ระบุเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ อินฟลูเอนเซอร์ ร้อยละ 46.98 ระบุเป็นสื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก  ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ส่วนความรู้สึกของประชาชนกับข่าวสารช่วงโควิดพบว่า ร้อยละ 43.99 ระบุว่าสับสนมาก  รองลงมาร้อยละ 40.75 ระบุว่าค่อนข้างสับสน ร้อยละ 15.26  ระบุว่าไม่สับสน
     เมื่อถามถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้สับสนช่วงโควิด ร้อยละ 74.61 ระบุเป็นการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล การจอง-เลื่อนฉีดวัคซีน รองลงมา ร้อยละ 73.11 ระบุเป็นการฉีดวัคซีนแบบสลับยี่ห้อ วัคซีนเข็มที่ 3 ร้อยละ 72.23 ระบุเป็นความปลอดภัย ประสิทธิภาพ อาการข้างเคียงของวัคซีน ส่วนการติดตามข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤติโควิด ร้อยละ  36.34 ระบุว่าวิตกกังวลมากจนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน ร้อยละ 30.31 ระบุว่าวิตกกังวลในระดับปานกลาง/เป็นระยะ ๆ ร้อยละ 22.17 ระบุว่าวิตกกังวลมากที่สุดจนเกิดพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำและหวาดกลัว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"