เมื่อพูดถึงขนส่งสาธารณะระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหลากสี รถไฟไทย รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดให้บริการในอนาคต สำหรับเส้นทางรถไฟไทยปัจจุบัน มีระยะทางรวม 4,346 กิโลเมตร (กม.) หลังจากภาครัฐมีแนวคิดดำเนินการก่อสร้างทางคู่ เพื่อแก้ปัญหาการสับหลีกขบวนรถ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางคู่เพิ่มเติมในหลายเส้นทาง รวมถึงเส้นทางรถไฟสายใหม่ๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ตั้งเป้าปี 2580 ประเทศไทยจะมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟ 6,463 กม.
ส่วนการพัฒนารถไฟฟ้าของประเทศไทยมีพัฒนาการเกือบ 20 ปีใน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 156 กม. โดยแผนการเกิดโครงการรถไฟฟ้า ล่าสุดมีรถไฟฟ้า 14 สาย ในปี 2572 ระยะทางรวม 550 กม. จำนวน 367 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 4,762 ตารางกิโลเมตร
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ตามแผนมี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 2,466 กม. ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มโครงการแล้วเฟสแรก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพ-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบรางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาจากการที่ประเทศต้องการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจอื่นๆ ก็จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย อาทิ ธุรกิจด้านท่องเที่ยว ที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดธุรกิจอื่นๆ ตามมาในท้องถิ่น
แน่นอนว่าที่ผ่านมาระบบขนส่งทางรางทั้งหมดยังไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จึงได้เร่งผลักดันให้ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางเกิดขึ้น และล่าสุดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ก.ค.2564 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางของประเทศ และยังมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย การจัดสรรความจุ ตารางเวลาเดินรถและเส้นทาง การสอบสวนอุบัติเหตุและการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง
มาดูกันที่สาระสำคัญจะเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การเสนอโครงการขนส่งทางรางและการดำเนินโครงการขนส่งทางราง เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัย การกำกับดูแลการประกอบกิจการการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ หลักเกณฑ์ของผู้ตรวจการขนส่งทางรางและผู้ประจำหน้าที่ การจดทะเบียนการขนส่งทางราง การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล
ขณะเดียวกันเมื่อมีผลบังคับใช้แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมจัดทำกฎหมายลำดับรองที่มีความจำเป็นเร่งด่วนไว้แล้ว 17 ฉบับ โดยร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง มีกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.ประมาณ 57 ฉบับ ซึ่งจะเร่งดำเนินการจัดทำให้ครบถ้วนในระยะถัดไป เพื่อให้การดำเนินการตามภารกิจของกรมการขนส่งทางรางครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไปตามวัตถุประสงค์ นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนระบบรางของไทยให้เทียบเท่าสากล ส่งเสริมเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในการเเข่งขันของประเทศ
จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางมีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายกระทรวงคมนาคม
ถือเป็นเรื่องราวดีๆ สำหรับผู้ใช้บริการระบบรางในอนาคต เมื่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางมีผลบังคับใช้ สิ่งสำคัญคือจะช่วยให้เกิดประโยชน์กับการคมนาคมขนส่งทางราง แน่นอนว่าจะมีกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร โดยให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง และที่สำคัญจะเข้ามาดูคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารในการกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าที่เป็นธรรม.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |