การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้นลากยาวมานานเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และยังทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องไปถึงกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตผู้คน ยิ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองนั้นมีการแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงและรุนแรง สังคมจึงยิ่งได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างมาก โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นพุ่งสูงถึงหลัก 10,000 คนติดต่อกันหลายวัน ขณะที่เศรษฐกิจก็มีภาระเพิ่มขึ้นจากทุกด้าน สวนทางกับการขายที่ลดน้อยลงตามความต้องการของสังคมและตลาด
ตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการหมุนเวียนเศรษฐกิจผ่านในหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของผ่านกิจกรรมทางสังคม การส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนที่ดูจะเป็นภาพใหญ่ที่สุด เนื่องจากจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้ระดับสูงและต่อเนื่อง เมื่อมีการลงทุนก็จะมีการใช้เงินไปแจกจ่ายในส่วนอื่นๆ อาทิ การจ้างงาน การใช้วัตถุดิบภายในประเทศ การสนับสนุนตัวเลขทางเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน ไปจนถึงการกระจายรายได้สู่ชุมชนหรือสังคม และช่วยเหลือในรูปแบบอื่น
จึงเป็นแนวทางที่ทำให้ประเทศไทย “จำเป็น” ที่จะต้องรักษาระดับการลงทุนนี้ไว้ รวมทั้งยังต้องปรับกลยุทธ์ที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตินี้ให้ได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ก็จะเป็นแม่แรงหลักที่ดูแลงานด้านนี้มาโดยตลอด เนื่องจากเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีเครื่องมือเพื่อใช้ในการดึงดูดการลงทุนได้จากการออกสิทธิพิเศษต่างๆ
และขณะที่เกิดภาวะวิกฤติแบบนี้ บีโอไอก็ได้มีการปรับปรุงมาตรการและประเภทกิจการการส่งเสริมการลงทุนในหลายมาตรการเพื่อเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือถือว่าเป็นการปรับปรุงสิทธิและประโยชน์ครั้งใหญ่ โดย นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ว่าได้เห็นชอบ 1.ปรับปรุงสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในหลายประเด็น
ได้แก่ 1) กรณีที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ไม่น้อยกว่า 1% ของยอดขายรวม 3 ปีแรก หรือไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท นอกจากจะได้จำนวนปียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 5 ปี ตามขนาดการลงทุนและค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาแล้ว ยังไม่กำหนดเพดานการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย 2) ยังเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่า
สำหรับกรณีที่มีการลงทุนเพิ่มในการฝึกอบรม หรือฝึกการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคนมากขึ้น และ 3) กรณีที่เงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เข้าข่าย เช่น วิจัยพัฒนา ฝึกอบรม ออกแบบ และพัฒนา Supplier ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ยังจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้
2.ปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตเวเฟอร์ที่ใช้เงินลงทุนสูง และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำของอิเล็กทรอนิกส์ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 10 ปี นอกจากนี้ เพื่อเร่งดึงการลงทุนจากต่างประเทศรายใหม่ และสนับสนุนการขยายฐานการผลิตของรายเดิมในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์หรืออุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB)
ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตและเงินลงทุนสูงและเป็นสายการผลิตแบบอัตโนมัติ จึงได้ปรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดเป็น 8 ปี ทั้งนี้ จะต้องมีการลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 1,500 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนอุตสาหกรรม PCBA ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็ได้ปรับสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนค่าเครื่องจักรอย่างน้อย 500 ล้านบาท
3.ปรับปรุงประเภทกิจการ เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมดิจิทัล โดยยุบรวมประเภทกิจการให้เหลือเพียง 1 ประเภท ได้แก่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องจ้างงานและพัฒนาบุคลากรไทยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) หรือได้รับใบรับรองมาตรฐานด้านไอที (CMMI ระดับ 2)
ซึ่งจากการปรับปรุงทั้งหมดนี้ บีโอไอเชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งการวิจัยและการพัฒนา สนับสนุนการพัฒนาบุคลากร รวมถึงดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง และการลงทุนตามแนวทางบีซีจีให้เพิ่มขึ้น เพื่อหวังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อเป็นแหล่งรองรับการลงทุนในภูมิภาค
ขณะเดียวกันแนวทางที่ได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ นั้น เพื่อเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งเอส-เคิร์ฟ และนิว เอส-เคิร์ฟ เพื่อให้ทันกับบริบทของโลกเปลี่ยนเปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนเปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยที่ผ่านมานั้นเห็นความสำคัญกับกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา จนมีการเดินหน้าพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้เกิดขึ้นมา
"วิกฤติโควิดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่อีอีซีเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่จะใช้รองรับนักลงทุนในอนาคต ซึ่งปัจจุบันวิกฤติดังกล่าวก็ทำให้นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหรือทบทวนแผนการลงทุนอย่างถี่ถ้วน ทางบีโอไอเองก็เชื่อมั่นว่าจากการปรับแผนการดึงดูดลงทุนครั้งนี้จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เกิดรูปธรรม" นางสาวดวงใจกล่าว
ขณะเดียวกันด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดว่าอาจจะกระทบนักลงทุนในระยะสั้น แต่มั่นใจได้ว่าในโครงการขนาดใหญ่ที่มีระยะการลงทุนระยะยาวนั้นไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ขณะที่โครงการอีอีซีจะยังไม่ได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากหลายโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่จะเป็นโครงการระยะยาว แต่ก็ต้องรอการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายฝ่ายอาจจะมีความกังวลเรื่องการเดินทาง ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องโควิดให้จบเรียบร้อยก่อน ซึ่งในไทยเองก็อยากให้รัฐบาลเร่งเรื่องนี้ เพราะจะช่วยกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ดีที่สุด ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในปี 2564 นี้ต้องเป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่หวือหวาเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีสถานการณ์โควิด
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพร.) ได้เปิดเผยถึงการสัมมนาวิชาการ ประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้นและภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า “EEC Macroeconomic Forum” ว่าจากการหารือในทุกๆ ฝ่าย จึงได้เกิดแนวทางเตรียมพร้อมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ.2566-2570) ขึ้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน
ดังนั้นการสอดประสานระหว่างมาตรการการเงินการคลัง สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง จึงเป็นกลไกสำคัญเอื้อต่อการปรับโคร้างสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในอนาคตต่อไป โดยประเด็นสำคัญจากการสัมมนาได้สรุปไว้ดังนี้ 1.ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564-2565 และการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 กรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่าง 1.0-2.0% และปี 2565 จะขยายตัวระหว่าง 1.1-4.7% ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัว และมาตรการการคลังของภาครัฐมีความสำคัญช่วยบรรเทาเยียวยาได้ ให้ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในเกณฑ์
2.มาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ และประมาณการความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง มาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน และครอบคลุมด้านสาธารณสุข ด้านผลกระทบระยะสั้นและด้านการฟื้นฟูระยะยาว ด้านการก่อหนี้ภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ และไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง
ขณะที่โจทย์สำคัญหลังสถานการณ์โควิด-19 จบลง คือประเทศไทยจะต้องมีการเผชิญใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของจีดีพีประเทศ เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวงเพื่อหางานทำ
2.ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง โควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 15 ล้านคน เป็นคนไทย 1.5 ล้านคน จากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว และ 4.ประมาณการศักยภาพของประเทศ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศหายไปสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด-19 ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4% ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งนี้ การจัดทำแผนฯ 13 ในปี 2565 ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น
จากการหารือทั้งหมดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากปัจจัยทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ต้องเร่งปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมและบริการที่สร้างมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มเทคโนโลยีการผลิตและส่งออกสินค้าให้เท่าทันโลก ความจำเป็นของข้อตกลงร่วมกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งการสร้างโอกาสทางรายได้และการศึกษา การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนหลังโควิด-19 จบลง
ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่เข้าไปสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากเศรษฐกิจในประเทศดีก็จะส่งผลไปยังทุกกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหรือการลงทุน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |