รพ.สนาม สู้ได้อีกนานแค่ไหน?


เพิ่มเพื่อน    

เสียงสะท้อนจาก รพ.สนาม เรากำลังช่วยคนไข้ไม่ได้

ในวิกฤติโควิดระบาดหนักในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่แตะที่ตัวเลขเกินหลักหนึ่งหมื่นคนต่อวันมาร่วมสัปดาห์แล้ว โดยในส่วนของการดูแลคนไข้ติดโควิด บทบาทของ โรงพยาบาลสนาม ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสาธารณสุข ในฐานะด่านหน้าในการช่วยรับผู้ป่วยโควิดไปกักตัวดูอาการ และรักษาให้หายจากโควิด โรงพยาบาลสนามจึงเป็นหนึ่งในกลไกของระบบสาธารณสุขที่มีความสำคัญอย่างมากกับการรับมือวิกฤติโควิด

            โดยโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของประเทศไทยก็คือ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่เปิดขึ้นมาตั้งแต่โควิดรอบแรกเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ที่ก็มีเสียงสะท้อนมาจาก ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ รอง ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในฐานะ ผอ.โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ต่อสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ตลอดจนการเล่าถึงวิกฤติโควิดในปัจจุบันและวิกฤติที่รออยู่ ที่เป็นข้อมูลตรงจากแพทย์ที่อยู่หน้างานในการดูแลรักษาคนไข้โควิด ซึ่งข้อมูลบางเรื่องเช่นปัญหาคนไข้โควิดอาการหนักที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบสาธารณสุขได้เพราะไม่มีเตียงในโรงพยาบาล อาจทำให้หลายคนตกใจไม่น้อย

            ผศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าวว่า รพ.สนามธรรมศาสตร์ ถือเป็น รพ.สนามแห่งแรกของประเทศไทย โดยเปิดเมื่อ 23 มีนาคม 2563 ที่โควิดเริ่มระบาดหนักรอบแรก โดยสถานการณ์หน้างานของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ที่เป็นปัญหาหนักตอนนี้ก็คือ มีคนไข้โควิดที่เข้ามาแล้วอาการหนักรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มเห็นตั้งแต่ตอนระลอกที่ 3 ซึ่งโควิดสายพันธุ์อังกฤษที่เข้ามาแพร่ระบาดในไทยตอนระลอกที่ 3 ตอนนี้สายพันธุ์มันเปลี่ยนไป ตอนระลอก 2 ที่สมุทรสาคร ตอนนั้นคนติดโควิด 70 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการ อย่างในโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร แรงงานอะไรต่างๆ มีคนติดเยอะก็จริง แต่อาการเบามาก เข้ารักษาตัวแค่ 7-10 วันก็หาย แต่พอระลอกที่ 3 สายพันธุ์อังกฤษ กลายเป็นตรงกันข้ามเลย พบว่าเคสที่เข้ามาส่วนใหญ่กลายเป็นเคสคนไข้ที่มีอาการ สัดส่วนคนไข้ที่เข้ามาตอนระลอกที่ 3 พบว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไข้ที่มีอาการ หรือกลุ่มสีเหลือง ส่วนพวกไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการน้อย หรือกลุ่มสีเขียว ก็มีประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ คือประมาณครึ่งๆ

...แต่พอมาถึงปัจจุบันที่ถือเป็นระลอกที่ 4 แล้ว เพราะสายพันธุ์มันเปลี่ยน พบว่าเคสที่เข้ามา 70 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไข้ที่มีอาการ โดยคนไข้ที่ไม่มีอาการมีแค่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง และเริ่มพบปัญหาคนไข้เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ได้แล้ว ซึ่งโดยระบบสาธารณสุข ถือว่าล้มเหลวไปแล้ว เพราะไม่สามารถทำได้ตามโมเดลที่เคยตั้งใจไว้ คือนำทุกคนมาที่โรงพยาบาลเพื่อกักและมารักษาตัว เพื่อไม่ให้เขาไปแพร่กระจายเชื้อต่อยังคนอื่น แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว มันล้มไปแล้ว เลยกลายเป็นโมเดลให้คนไปรักษาตัวที่บ้าน

            ..เราก็กลายเป็นต้องทำเหมือนกับทุกประเทศที่เขาคุมไม่ได้ ก็คือ คนไข้ติดโควิดก็ให้อยู่บ้าน พออยู่บ้าน มันก็ไม่มีการควบคุม และด้วยสายพันธุ์ปัจจุบันที่ทำให้โรคมันรุนแรงมากขึ้น ก็เลยมีคนไข้หนักมากขึ้น ก็เหมือนที่ รพ.สนามธรรมศาสตร์ที่ปัจจุบันคนไข้หนักค่อนข้างเยอะแล้ว ปัญหาของ รพ.สนามธรรมศาสตร์ตอนนี้คือคนไข้หนักมีมากและเตียงไม่พอ

            ..ส่วนคนไข้โควิดที่เข้ามายัง รพ.สนามธรรมศาสตร์ พบว่าก็มีแบบที่ไม่ได้ติดแค่คนเดียว แต่มาแบบครอบครัวเลย ที่นี่เด็กที่ติดโควิดอายุน้อยสุดคือ 1 เดือน แล้วก็มี 2 เดือน-3 เดือน-6 เดือน-อายุ 1 ปี ไล่อายุมาเลย จนถึงอายุประมาณ 65 ปีที่รับเข้ามาเยอะๆ เลยก็เช่น วันที่ 18 ก.ค. ก็เข้ามา 70-80 เคส แต่ก็มีคนไข้ที่หายดีแล้วก็กลับบ้านออกไปทุกวันเช่นกัน ช่วงแรกๆ ก็จะเข้ามากกว่าออก พอช่วงกลางๆ ก็กลายเป็นเท่าๆ กันระหว่างคนเข้ากับคนออกจาก รพ.สนาม แต่ปัจจุบันพบว่าคนไข้เข้ามารักษาตัวมากกว่าคนไข้ที่หายแล้วกลับบ้าน เมื่อเคสออกน้อยกว่าเคสเข้ามา เลยทำให้ผู้ป่วยสะสมสูงขึ้นมา และคนไข้ที่เข้ามาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนไข้กลุ่มสีเหลือง ที่เมื่อไปเอกซเรย์ปอดก็พบว่าลงปอดแล้ว ซึ่งเมื่อลงปอดแล้ว อาการจะแย่ลงเร็ว บางคนตอนบ่ายก็ยังคุยได้ แต่พอกลางคืนอาการแย่เลย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ก็จะเจอเคสแบบนี้ประจำ

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในโควิดระลอกปัจจุบัน ทำให้ที่นี่ก็เลยกลายเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลคนไข้จริงๆ ไม่ใช่แค่คนไข้มากักตัวแล้วสังเกตอาการ แต่ตอนนี้กลายเป็น รพ.สนามธรรมศาสตร์รักษาคนไข้เลย อย่างตอนนี้มีเคสคนไข้โควิดลงปอดประมาณ 40-50 รายที่มีอาการแย่ลง ก็มีบางเคส เช่น คนไข้ตั้งครรภ์ที่ติดโควิดแล้วมีอาการแย่ลง พอเอกซเรย์ก็พบว่าลงปอดเกือบเต็มปอด ก็ต้องมีการนำไปผ่าเพื่อรักษาชีวิตลูก

ผอ.โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ย้ำว่า สถานการณ์โควิดปัจจุบันบอกได้เลยว่า หน้างานใช้คำว่า "หนัก" หมอเหนื่อย ผมคิดว่าทุกคนยังวาดภาพต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะในภาพความเป็นจริงมันหนักมากกว่านั้น

“คำว่าหนักมากกว่านั้น หมายถึง นอกจากเราจะเหนื่อยแล้ว เรากำลังจะช่วยคนไข้ไม่ได้ด้วย นี่คือสิ่งที่ตอนนี้เรากำลังมีปัญหามาก เรากำลังช่วยคนไข้ไม่ได้ ซึ่งเราเป็นแพทย์ เรื่องนี้กระทบกระเทือนจิตใจเรามาก ถ้าเราจะช่วย เราคิดว่าเราจะช่วยเขาได้ แต่พอถึงเวลาเราช่วยเขาไม่ได้ และมันกำลังไปถึงจุดที่เราอาจจะไม่มีเตียง หรือมีคนไข้ที่มีอาการแย่มากๆ แต่เราอาจจะใส่ท่อช่วยหายใจให้เขาไม่ได้ ที่เขาพูดว่าอาจจะเลือกว่าใครจะไปต่อหรือจะปล่อยไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้”

...อย่าง ก็มีคนไข้บางคน อย่างวันก่อนก็มีญาติของคุณหมอของโรงพยาบาล เป็นคุณยายที่ก็อายุมากแล้ว จะเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ไม่มีเตียง จนไม่รู้จะไปรักษาตัวที่ไหน จนสุดท้ายก็ต้อง N.R. (No Resuscitation) ปล่อยคุณยายจากไป นี่คือสภาพที่กำลังเกิดขึ้น คือเรื่องจริงในตอนนี้ ที่ถือว่าน่ากลัวมาก คือหน้างานตอนนี้หนักหนาสาหัสมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเหนื่อยมากเหนื่อยน้อย คือทำให้ตัวเองเหนื่อยมากขึ้นไปอีก ความหมายคือ หากใครไม่อยากให้เหนื่อยมากก็หยุดรับคนเข้ามา คือตอนนี้ทุกคนมันล้นหมดแล้ว แต่ถ้าไม่อยากเหนื่อยมากกว่านี้ก็หยุดรับ แต่ก็หมายถึงว่าคนไข้จะไม่สามารถไปเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ คนไข้ก็อาจมีอาการแย่ที่บ้าน อาจเสียชีวิตที่บ้าน หรือจะมาโรงพยาบาลก็ต้องไปนอนข้างตึก ที่เคยมีรูปมีภาพให้เห็นเกิดขึ้นมา เพราะว่าระบบมันไม่สามารถรองรับได้แล้ว

            -ที่ผ่านมา รพ.สนามได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากฝ่ายรัฐบาล ศบค.ในด้านต่างๆ อะไรหรือไม่?

            สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนก็พยายามต่อสู้ด้วยตัวเองมากอยู่แล้ว คือ ระบบสาธารณสุขของประเทศแข็งแรงเพราะหน้างาน คือโรงพยาบาลและ อสม.เขาเก่ง ไม่ใช่เพราะระบบที่แข็งแรง แต่เพราะหน้างานทำได้ดี การควบคุมการระบาดในระลอกหนึ่ง-ระลอกสอง เป็นผลมาจากคนที่ทำงานอยู่หน้างาน อย่างการเปิด รพ.สนามธรรมศาสตร์ทุกครั้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหน้างานเพื่อแก้ไขปัญหา โดยการทำ รพ.สนามธรรมศาสตร์เราก็ไม่ได้งบประมาณจากใครมาทำ เราทำของเราเอง ใช้งบของเราเองทำ คือหน้างานแก้ปัญหา แล้วภาครัฐตามมาซัพพอร์ต แต่ถามว่าซัพพอร์ตครบไหม ก็ไม่ครบ แต่ของ รพ.สนามธรรมศาสตร์เราโชคดีที่เรามีคนบริจาคเยอะเพื่อมาสนับสนุนการทำงานของเรา ก็ทำให้เรามีอุปกรณ์เครื่องมือ ทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมเพรียง แต่ถามว่าในส่วนที่มาจากภาครัฐเองก็ถือว่าไม่ได้เข้ามาเยอะมากเท่าไหร่ และต้องขอถึงจะได้มา แต่อย่างน้อย เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลที่มีการจ่าย ก็ยังถือว่าโอเค แม้จะไม่เยอะ แต่ก็ทำให้เราไปต่อได้

            ...ปัญหาของเราจึงไม่ใช่เรื่องพวกนี้ แต่เป็นปัญหาเชิงนโยบาย ซึ่งนโยบายของเรามันก็ผิดพลาดมาโดยตลอด ไม่ได้มีประสิทธิภาพมาตลอดทั้งในแง่การป้องกันและการมองภาพรวม คือไปมองบางเรื่องว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เช่น อยากจะเปิดไอซียูโรงพยาบาลสนาม อยากจะเพิ่มเตียงไอซียูเยอะๆ แต่คำถามคือ แล้วจะนำคน (บุคลากรทางการแพทย์) ที่ไหนมาทำ เพราะหากดูจากตัวเลข แพทย์ในประเทศไทยมีอยู่หลักหมื่น-พยาบาลมีหลักแสน ซึ่งก่อนเกิดโควิดบุคลากรเหล่านี้เขาก็ทำงานหนักอยู่แล้วในการดูแลคนไข้ที่ล้นอยู่แล้ว เขาไม่ได้อยู่ว่างๆ แล้วมาคิดว่าพวกเขาว่าง เลยจะเปิดเตียงเพิ่มแล้วจับเอาเขามาใส่ ทั้งที่เขามีงานประจำที่ดูแลคนไข้อื่นที่ไม่ได้ป่วยโควิดอยู่แล้ว การที่จะมีนโยบายเพิ่มเตียง-ขยายเตียงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนมีงานที่ล้นมืออยู่แล้ว คือฝ่ายเขามองศักยภาพตัวเราเองไม่ออกว่าตอนนี้ระบบมันตึงแล้ว พอเราออกมาพูดก็ถูกต่อว่า อย่างมีหมอบางโรงพยาบาลออกมาพูดว่า ไม่มีเตียง ไม่มีวัคซีน ก็ถูกต่อว่าทั้งที่สิ่งนี้คือความจริง เพราะมัวแต่สร้างภาพ พยายามทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสถานการณ์มันยังเบาอยู่ ให้คิดว่ารัฐควบคุมได้ ทำได้ แต่ความจริงมันก็เห็นอยู่ มันไม่จริง ทำไม่ได้

            ..สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนทรัพยากร-ขาดแคลนชุด PPE หรือขาดยารักษา ปัญหาตอนนี้ที่หนักมากๆ คือไม่มีคน และคนที่กำลังทำงานอยู่ตอนนี้ กำลังจะหมดแล้ว หมดลมหายใจ เพราะว่าตอนนี้เขาขวัญเสียมาก ทำงานเหนื่อยมาก อย่างหากใครเห็นเจ้าหน้าที่ซึ่งใส่ชุด PPE ก็จะรู้ พอเขาออกมาตัวก็จะเหมือนเขาไปอาบน้ำมา มันเปียก แฉะ ร้อน เหนื่อยมาก แล้วลองคิดดูว่าเขาทำงานมากี่เดือนแล้ว

และที่ขวัญเสียมากๆ คือมีคนติดโควิด คือทำไปก็เสี่ยงที่จะติด ปัญหาสำคัญตอนนี้จึงเป็นเรื่องบุคลากรที่มันตึง และเกินกำลังของบุคลากรที่มีอยู่แล้ว และเขาก็มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แล้วนโยบายที่จะมาซัพพอร์ตสนับสนุนบุคลากรตอนนี้แทบไม่เห็น เอาแค่วัคซีนก็ยังไม่เห็นเลย ถ้าไม่เรียกร้องก็อาจไม่ได้ ก็กำลังรอดูอยู่ว่าวัคซีนไฟเซอร์จะกระเด็นมาให้เราสักเท่าใด ก็ต้องใช้คำนี้เพราะก่อนหน้านี้ก็จะอารมณ์ประมาณนี้ คือสัญญาว่าจะมา แต่พอถึงเวลาก็ไม่มา จนเป็นเรื่องเคยชินของทุกโรงพยาบาลที่ทำเรื่องฉีดวัคซีนแล้ว เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว สัญญาว่าวัคซีนจะมาพรุ่งนี้ แต่ถึงเวลาก็ไม่ให้ วัคซีนไม่มา แต่พอออกมาพูด ก็ถูกว่า อันนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

วิกฤติระบบสาธารณสุข อาจต้องยอมปล่อยคนไข้!

ผศ.นพ.ฉัตรชัย-ผอ.โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุว่า สถานการณ์โควิดในขณะนี้ ส่วนตัวมองว่าวิกฤติมาก เพราะหากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นคนแบบปัจจุบัน ซึ่งใน 1 หมื่นคน คนติดโควิด ที่เป็นกลุ่มสีเหลืองก็จะมีประมาณครึ่งหนึ่งโดยเฉลี่ย โดยจะมีคนไข้หนักประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า 1 หมื่นคนจะมีคนไข้อาการหนักประมาณ 500 คน หรืออาจสักแค่ 100 คนพอที่อาการหนัก

ปัญหาคือ คนไข้อาการหนัก 100 คนที่ต้องนอนห้องไอซียู จะหาเตียงจากที่ไหนให้คนไข้ เพราะคนไข้อาการหนักเหล่านี้ที่ถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ คนไข้พวกนี้จะอยู่ รพ.เพื่อรักษาตัวเป็นเดือน ไม่ได้อยู่แค่ 14 วันเหมือนคนไข้ปกติ เพราะฉะนั้นถ้าคนไข้อาการหนักมาวันละ 100 คน ถ้า 10 วันก็คือเข้ามา 1,000 คน คำถามคือ 1,000 เตียง จะหาเตียงจากที่ไหน คำตอบก็คือไม่มี อย่างที่เราคุยกันก็คือ หากเราไม่มีก็อาจไม่ใส่ท่อ พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับการปล่อยคนไข้ว่าจะไหวหรือไม่ไหว คือให้แต่ออกซิเจนไฮโฟลว์ คือมาถึงจุดจุดนี้แล้ว

ตอนนี้สถานการณ์หากเรายังไม่สามารถคุมเคสใหม่ได้มันก็จะแย่ ซึ่งจริงๆ แย่มาสองอาทิตย์แล้ว แต่ถ้ายิ่งแย่ไปกว่านี้เราอาจไปถึงจุดนั้นแล้ว คือถ้าเป็นคนไข้หนัก พอมาถึงโรงพยาบาลหมออาจต้องถามว่าจะปล่อยไหม อะไรประมาณนี้ คืออาจต้องเลือกว่าจะนำคนที่น่าจะรอดไปรักษา คือมันอาจจะประมาณไปถึงจุดนั้นได้เหมือนกัน

เพราะคิดง่ายๆ มันไม่มีทางเป็นไปได้ถ้ามีคนไข้หนัก มีเคสใหม่เข้ามาวันละร้อยคน ขณะที่เตียงไอซียูของทั้งกรุงเทพมหานครมีแค่ห้าร้อย สมัยก่อนมีแค่สามร้อย ตอนนี้เพิ่มมาเป็นห้าร้อย มีอยู่ห้าร้อยเตียง แต่มีเคสใหม่วันละร้อย คำถามคือแล้วคนไข้ที่เหลือจะไปไหน ก็อาจไปในที่ซึ่งไม่ควรไป เช่นการรักษาไม่เต็มที่ เช่นควรต้องทำแบบนี้ แต่อาจไม่ได้ทำ ต้องให้ออกซิเจนธรรมดาไป แล้วก็ปล่อยเสียชีวิต จึงไม่ต้องแปลกใจที่ตัวเลขเสียชีวิตก็จะประมาณร้อยกว่าๆ ก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ เคสใหม่ที่เข้ามา แล้วเคสที่ออกไป ผมถึงบอกว่าหน้างานมันหนักกว่าที่ทุกคนเห็นมาก และเป็นเรื่องที่พวกเราหนักใจมากตอนนี้

            ...รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์แต่ไม่ได้ล็อกบริษัท กลางวันทุกคนยังขับรถออกไปบริษัท ยังมีคนออกไปทำงานที่โรงงาน โรคโควิดไม่ได้ติดกลางคืน ติดกลางวัน การล็อกดาวน์กลางคืนก็ช่วยได้ระดับหนึ่งคือกลุ่มเที่ยวกลางคืน แต่คำถามตอนนี้ติดกันตอนไหน ก็ติดโควิดกันตอนกลางวัน ติดจากที่ทำงาน ตัวเลขการติดเชื้อที่ผ่านมาหลังล็อกดาวน์หนึ่งสัปดาห์จึงไม่ได้ลดลง เพราะว่ามันไม่ได้ตรงเป้า

ผมจึงคิดว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะเมื่อมีทรัพยากรที่จำกัด มีวัคซีนที่จำกัด ก็ควรใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า คือโฟกัสไปเลย เพราะตอนนี้ กรุงเทพมหานครคนติดโควิดเยอะที่สุด ตายเยอะที่สุด คนไข้ล้นเยอะที่สุด กับอีก 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่แดงเข้ม เหตุใดไม่จัดการกับกลุ่มพื้นที่เหล่านี้ให้เรียบร้อย เช่น ระดมตรวจทุกชุมชน ระดมฉีดวัคซีน หากพบใครผลตรวจออกมาเป็นบวกก็จับแยกตัวออกมา ตรวจแล้วลบก็จับฉีดวัคซีนเลย เพราะหากไม่ฉีดวัคซีนให้เขา ล็อกดาวน์ไป 2 สัปดาห์ตัวเลขมันอาจดีขึ้น แต่ว่าหลังจากนั้นเมื่อทุกคนก็กลับไปใช้ชีวิตปกติมันก็จะกลับมาติดกันใหม่ได้อีก

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือระดมวัคซีนที่มีทั้งหมดในประเทศ ทุกยี่ห้อระดมมาฉีดให้หมดเลย ถ้าอยากเปิดประเทศจริงๆ ก็ต้องระดมฉีดพวกห้างร้าน-ร้านค้า-โรงงานต่างๆ-พนักงานบริษัททุกแห่งต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะหากฉีดเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ก็เปิดบริษัทได้ ซึ่งหากทำได้ แล้วเกิดมีคนติดโควิดขึ้นมาในบริษัทก็จะติดกันแค่ไม่กี่คน มันต้องโฟกัสแบบนี้แล้ว ต้องฉีดในจุดที่สำคัญก่อน เพราะถ้าเราไม่เน้น จะคุมไม่ได้

สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำตอนนี้คือ ไปหาทางเอาวัคซีนมาให้ได้เพื่อนำมาฉีดให้ประชากรให้ได้จำนวนครึ่งหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีการระบาดมาก เพราะหากทำไม่ได้ พอปลดล็อกดาวน์ ตัวเลขคนติดเชื้อก็จะกลับขึ้นไปใหม่ มันก็จะเป็นแค่การยื้อเวลา แต่ไม่ได้แก้ปัญหา

..เราต้องการวัคซีนแค่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เรามีประชากรตรงนี้ (กรุงเทพฯ-ปริมณฑล) ประมาณ 12 ล้านคน เราฉีดวัคซีนแค่ 6 ล้านคน ก็ฉีดเลย แอสตร้าเซนเนก้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 ล้านคน เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบทำ ถ้าเราไม่รีบทำ คนตายก็จะเยอะขึ้น ระบบก็จะยิ่งแย่กว่านี้    หากระดมฉีดได้ 6 ล้านคน แล้วล็อกดาวน์สองสัปดาห์ จากนั้นผ่านไปหนึ่งเดือนภูมิคุ้มกันมันจะขึ้น เคสคนติดเชื้อใหม่ก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง พอเคสใหม่ลดลง เคสผู้ป่วยหนักไม่เยอะ ระบบสาธารณสุขก็จะรับได้ ก็จะไม่มีอะไรต้องกังวล

            ทุกประเทศในโลก มีประเทศไหนหรือไม่ที่ควบคุมการระบาดได้ คำตอบก็คือ ไม่มี อย่างที่สหรัฐอเมริกา ก็ยังมีคนติดโควิดอยู่ แต่คนเสียชีวิตน้อย เหตุผลเพราะเขามีการระดมฉีดวัคซีน คนติดก็เลยมีอาการไม่รุนแรง และโรงพยาบาลรักษาได้

                -ระบบสาธารณสุขของไทยยังสามารถรองรับได้อีกมากน้อยแค่ไหน?

            ตอนนี้เต็ม maximum แล้ว คือตอนนี้มันเกินระบบมานานแล้ว เกินมาเป็นเดือนแล้ว เพราะอย่างโรงพยาบาลสนาม ตอนนี้ก็คือ งานเพิ่ม การดูแลคนไข้หนักคืองานเพิ่ม คนไข้วิกฤต ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้าไม่ใช่ช่วงโควิด ปกติพยาบาลหนึ่งคนดูแลคนไข้ได้สองคนในไอซียู แต่คนไข้โควิด คนไข้หนึ่งคน ต้องใช้พยาบาลสี่คนดูแลคนไข้โควิด ถึงได้บอกว่าทำไมตอนนี้ทุกคนอ่อนล้า ก็เพราะทุกคนทำงานมากกว่าที่เคยทำหลายเท่า อย่างพยาบาลที่เราเห็นเขามาทำงานที่โรงพยาบาลสนาม ทั้งหมดคืองาน extra ที่เขามาทำ ศักยภาพของระบบสาธารณสุขของเราตอนนี้คือมันเกินมานานแล้ว เพียงแต่ว่าจะพยุงได้อีกนานสักเท่าใด

สภาพเราตอนนี้

มันก็คล้ายๆ กับอิตาลีก่อนหน้านี้

                -มีข่าวว่าแพทย์กรมควบคุมโรคบอกว่า หลังจากนี้อีกประมาณสองเดือน อาจเป็นไปได้ที่ตัวเลขคนติดโควิดอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ไปถึงระดับ 2-3 หมื่นคนต่อวัน และอาจต้องล็อกดาวน์หยุดหมดแบบอู่ฮั่น?

            อันนั้นคือมองโลกดีเกินไป สองเดือนมันนานเกินไป ไม่ถึงสองเดือน อาจแค่สองสัปดาห์ต่อจากนี้ คือหากสองสัปดาห์ต่อจากนี้ หากตัวเลขคนติดเชื้อยังหมื่นคนขึ้นไป ผมบอกได้เลยตัวเลขคนเสียชีวิตจะเกินหลักร้อยทุกวัน และอาจถึงสองร้อย สามร้อยคน อย่างที่บอกคือหากมีคนไข้อาการหนักหลักร้อยทุกวัน ปัญหาคือเตียงที่เต็มแล้ว แต่มีคนไข้หนักที่ต้องการเข้ารักษาตัว แต่เขาเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลไม่ได้ ถ้าเขาไม่ได้ กลุ่มนี้ก็เสียชีวิตหมด เอาจริงๆ แล้ว คนไข้ที่ใช้ท่อช่วยหายใจ คนเขาบอกว่าถ้าเข้าไอซียูแล้วใช้ท่อช่วยหายใจ คนไข้ส่วนใหญ่ก็แทบจะเสียชีวิต

มีแพทย์ท่านหนึ่งเคยโพสต์แล้วก็มีคนในกระทรวงไปต่อว่าเขา เขาโพสต์ว่าตั้งแต่เขาใส่ท่อช่วยหายใจคนไข้มา ยังไม่เคยเห็นใครรอดที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งมันคือเรื่องจริง เพราะหากต้องใส่ท่อ ส่วนใหญ่ก็จะอาการหนัก เพราะค่อนข้างยากแล้วที่จะรักษาคนไข้ ก็อย่างที่ผมบอก ไม่ต้องรอสองเดือน แค่สักสองสัปดาห์ คนไข้หนักมาวันละร้อยคน สองสัปดาห์ก็ประมาณ 1,400 คน ที่จะรอเข้าไปใช้เตียง จากที่มีอยู่แค่ 500 เตียง ซึ่งเต็มไปแล้ว ก็เท่ากับ 1,400 คนอาจต้องเสียชีวิต จึงไม่ต้องรอสองเดือน

สภาพเราตอนนี้มันก็คล้ายๆ กับอิตาลีที่เราเคยเห็นก่อนหน้านั้น คนไข้นอนอยู่หน้าโรงพยาบาลแล้วเสียชีวิต ตอนนี้ที่กำลังรอดู คือกำลังรอดูว่าจะมีคนเสียชีวิตที่บ้านเกิดขึ้นอย่างไร เท่าใด เพราะพอเราทำเรื่อง Home isolation ให้กักตัวที่บ้าน ถ้าเราไม่มีระบบที่ดีพอ คืออยู่บ้านก็แย่ แล้วไม่มีระบบการพาเข้ามา รพ.ที่ดีพอ ก็อาจเสียชีวิตที่บ้านได้

            -จากสถานการณ์เวลานี้ที่คนติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รพ.สนามธรรมศาสตร์จะสู้ได้อีกนานแค่ไหน?

            ต้องบอกเลยว่าที่ธรรมศาสตร์เรา (รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ-รพ.สนามธรรมศาสตร์) ตอนนี้ เราสู้ด้วยใจ แม้คนเราจะไม่พอ แต่เราก็ยังขยายเตียงเพื่อรับผู้ป่วย เคสเหลืองและเคสแดงให้ได้ร้อยเตียง และ รพ.สนามก็ขยายจาก 300 เตียง เป็น 400 เตียง และเปิดศูนย์ฉีดวัคซีน เพราะเรารู้ว่านี่คือยุทธวิธีที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ที่เราทำเพราะเราอยากเห็นคนไทยชนะในครั้งนี้

สิ่งที่เราทำ บอกได้เลยว่าทุกคนเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แต่เราก็จะทำ เพราะไม่ต้องการให้คนไทยกังวลว่าเขาไม่มีที่พึ่ง ระบบสาธารณสุขล่มแล้ว เราต้องทำหน้าที่เพื่อให้คนไทยยังรู้สึกว่าเรายังมีหวังจากสิ่งนี้ นี่คือสิ่งที่เรามุ่งเน้น เรายังยืนยันจะทำหน้าที่แม้จะเหนื่อยหนักแค่ไหน

            "เพราะถ้าวันหนึ่ง ธรรมศาสตร์ประกาศว่า ไม่ไหวแล้ว ปิด รพ.สนามธรรมศาสตร์ ปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ปิดศูนย์ฉีดวัคซีน ผมคิดว่าคนไทยก็อาจตกใจ ท้อแท้หรือสูญเสียกำลังใจ สิ่งที่เราทำตอนนี้ก็คือ เราต้องการเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับประชาชน เราก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถ และหวังว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น".

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

....................................................................................................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"