14มิ.ย.สนช.เคาะ ยุทธศาสตร์20ปี โพลเชื่อปฏิรูปดี


เพิ่มเพื่อน    

 สนช.นัดถก "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" 14มิ.ย. มุ่งเป้า 6 ด้านหลัก "มั่นคง-ศก.-มนุษย์-สังคม-สิ่งแวดล้อม-การจัดการภาครัฐ" ฝันปี 80 ไทยประเทศพัฒนาแล้ว มัดรัฐบาลใหม่เบี้ยวเจอโทษอาญา นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่หวังปฏิรูปประเทศช่วยอยู่ดีกินดีขึ้น ค่อนข้างเชื่อประสบความสำเร็จ ขอ รบ.ทำเร่งด่วนภายใน 1 ปี 

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 14 มิ.ย.นี้ มีวาระการพิจารณาที่น่าสนใจคือ การให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 ประกอบกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 โดย ร่างยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งหมด 71 หน้า แบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1.บทนำ ว่าด้วยสถานการณ์ ที่นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันปี 2560 ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่ำกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งค่าเฉลี่ยการเติบโตจะอยู่ที่ร้อยละ 6 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนวัยแรงงานลดลงและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงการพัฒนาที่มีความเสี่ยงและท้าทายมากขึ้น 
    2.ปัจจัยและแนวโน้มที่คาดว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ว่าด้วยปัญหาด้านความมั่นคง ที่ซับซ้อนละเอียดอ่อน และมีความเชื่อมโยงกันหลายมิติ อาจเป็นประเด็นท้าทายต่อการสร้างบรรยากาศความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนกับประชาชน ขณะเดียวกัน ในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จึงต้องเตรียมความพร้อมให้ประชากรมีคุณภาพ และนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ 3.วิสัยทัศน์ประเทศไทย ว่าด้วยเป้าหมายอนาคตประเทศไทยในปี 2580 คือ "ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เช่น ประเทศความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    และ 4.ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ แบ่งเป็น 6 ด้าน คือ 1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ถือเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด มีเป้าหมาย เช่น ให้กองทัพ หน่วยงานความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาความมั่นคง มียุทธศาสตร์ เช่น การพัฒนาและเสริมสร้างกลไกที่สามารถป้องกันและขจัดสาเหตุของประเด็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ โดยพัฒนาและปรับปรุงกลหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ อย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) 2)ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตมีความสามารถในการแข่งขันสูง มียุทธศาสตร์มุ่งเน้นทั้งทางการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 
    3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมต่อวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 มีประเด็นยุทธศาสตร์ ในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ในการสื่อสาร ศาสนา การศึกษา และการกีฬา 4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายศูนย์ความเจริญ เพิ่มขีดความสามารถชุมชน ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ปฏิรูประบบภาษี กระจายการถือครองที่ดิน ส่งเสริมแรงงาน รับรองสังคมสูงวัย 
    5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้คนรุ่นใหม่ และฟื้นฟูเพื่อลดผลกระทบจากการพัฒนา เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อเป็นฐานทรัพยากรที่มั่นคง การรักษาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหยุดยั้งการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า มีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่และบูรณาการหน่วยงานเฝ้าระวังป้องกันการบุกรุกป่า และ 6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมายให้ ภาครัฐมีขนาดเล็กลง มีความโปร่งใส กระบวนการยุติธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ด้วยการพัฒนาและปรับระบบวิธีการราชการให้ทันสมัย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติต่อประชาชนโดยเสมอภาค
ยุทธศาสตร์ชาติมัด รบ.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า เนื้อหาสาระไม่ได้มีความแตกต่างไปจากแนวนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปัจจุบันมากนัก จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนให้รัฐบาลชุดถัดไปที่จะมาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศด้วยความยากลำบาก เนื่องจากจะต้องนำเสนอนโยบายให้สอดคล้อง และจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคอยกำกับดูแล หากไม่ปฏิบัติตาม มีโทษทั้งทางอาญา และยังอาจนำไปสู่การถูกถอดถอนออกจากการดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26-31 พ.ค.2561 จำนวนทั้งสิ้น 2,039 หน่วยตัวอย่าง 
      จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.98 เข้าใจว่าการปฏิรูปประเทศคือการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน, ร้อยละ 60.23 การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นอย่างมีระบบ ระเบียบ มีแผน มีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเมินผลได้และรู้ว่าใครทำอะไร, ร้อยละ 29.62 การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและข้าราชการ, ร้อยละ 26.53 การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าเป็นเรื่องง่าย, ร้อยละ 22.81 การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเป็นเรื่องยาก 
          เมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.51 คาดหวังว่าการปฏิรูปประเทศจะช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่ม เกษตรกร รับจ้าง ผู้สูงอายุ คนพิการ ฯลฯ ได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึงไม่ตกหล่น, ร้อยละ 57.48 จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเท่าเทียมกัน, ร้อยละ 56.50 จะช่วยให้ไม่มีการโกง ไม่มีเส้นสาย ไม่อุปถัมภ์ คนทุจริตทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่ารวย-จน หรือมีตำแหน่ง ต้องได้รับโทษ, ร้อยละ 51.30 จะช่วยให้มีความสุข ชีวิตปลอดภัย เดินทางสะดวก และมีสวัสดิการที่ดีขึ้น, ร้อยละ 49.39 จะช่วยให้คนทำผิดกฎหมายต้องได้รับโทษ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด, ร้อยละ 46.30 จะช่วยให้มีโอกาสทำงาน มีโอกาสพัฒนาตนเองได้ และมีรายได้ที่เหมาะสมกับความสามารถ และร้อยละ 0.74 จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีความเท่าเทียมตามสิทธิและกฎหมาย 
        สำหรับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.17 คิดว่าการปฏิรูปประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาล, ร้อยละ 76.95 เป็นหน้าที่ของประชาชน, ร้อยละ 47.87 เป็นหน้าที่ของ คสช., ร้อยละ 41.88 เป็นหน้าที่ของข้าราชการ, ร้อยละ 33.59 เป็นหน้าที่ของนักการเมืองและพรรคการเมือง, ร้อยละ 26.88 เป็นหน้าที่ของภาคเอกชน, ร้อยละ 20.30 เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน, ร้อยละ 13.24 เป็นหน้าที่ของมูลนิธิหรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGO), ร้อยละ 3.09 เป็นหน้าที่ของทุกคนและทุกภาคส่วน 
         เมื่อถามถึงเครื่องมือที่ช่วยให้การปฏิรูปประเทศประสบความสำเร็จและมีความต่อเนื่อง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.49 คิดว่าความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งสื่อมวลชน, ร้อยละ 56.55 การยอมรับการเปลี่ยนแปลง และการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติ, ร้อยละ 54.49 ทุกคนเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ยอมสละความสุขสบายส่วนตนได้,  ร้อยละ 53.80 ผู้นำประเทศและนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์, ร้อยละ 46.35 พรรคการเมืองที่ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง, ร้อยละ 32.66 แผนการปฏิรูปประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 
ปฏิรูปทำประเทศดีขึ้น
       เมื่อถามประชาชนถึงการรับรู้และความรู้สึกต่อการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.21 รู้สึกว่าบ้านเมืองได้มีการปฏิรูปประเทศบางส่วนแล้ว, ร้อยละ 27.02 ยังไม่มีการปฏิรูปประเทศ,  ร้อยละ 9.96 ไม่ทราบว่าบ้านเมืองมีการปฏิรูปประเทศ และร้อยละ 4.81 ได้มีการปฏิรูปประเทศทั้งหมดแล้ว
        เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 11 ด้าน พบว่า (1) ด้านการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.09 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.90 ค่อนข้างเห็นด้วย (3) ด้านกฎหมาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.01 ค่อนข้างเห็นด้วย (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.98 ค่อนข้างเห็นด้วย (5) ด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.80 ค่อนข้างเห็นด้วย (6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.95 ค่อนข้างเห็นด้วย (7) ด้านสาธารณสุข ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.65 เห็นด้วยมากที่สุด (8) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.35 ค่อนข้างเห็นด้วย (9) ด้านสังคม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.26 ค่อนข้างเห็นด้วย (10) ด้านพลังงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.39 ค่อนข้างเห็นด้วย (11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.95 ค่อนข้างเห็นด้วย
        เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นในโอกาสความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 11 ด้าน พบว่า (1) ด้านการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.26 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.99 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (3) ด้านกฎหมาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.54 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.41 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (5) ด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.91 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (6) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.30 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (7) ด้านสาธารณสุข ส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.76 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (8) ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.10 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (9) ด้านสังคม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.18 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (10) ด้านพลังงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.41 ค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ (11) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.68 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ 
          เมื่อถามความคิดเห็นต่อการปฏิรูปประเทศว่า ด้านใดควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับ 1 คือด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 32.49, อันดับ 2 ด้านการเมือง ร้อยละ 19.67, อันดับ 3 ด้านกฎหมาย ร้อยละ 10.84, อันดับ 4 ด้านสังคม ร้อยละ 9.92, อันดับ 5 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร้อยละ 7.14, อันดับ 6 ด้านสาธารณสุข ร้อยละ 5.29, อันดับ 7 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ร้อยละ 4.55, อันดับ 8 ด้านกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 4.35, อันดับ 9 ด้านพลังงาน ร้อยละ 3.11, อันดับ 10 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 1.85 และอันดับ 11 ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ร้อยละ 0.78
        สำหรับความคิดเห็นในเรื่องระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.27 คิดว่าควรดำเนินการในระยะเร่งด่วน (ภายใน 1 ปี), ร้อยละ 29.33 ระยะปานกลาง (1-5 ปี), ร้อยละ 25.60 ควรปฏิรูปอย่างต่อเนื่องตลอดไป, ร้อยละ 6.18 ระยะยาว (มากกว่า 5 ปี) และร้อยละ 1.62 ไม่ทราบ
         เมื่อถามถึงความมั่นใจของประชาชนในการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจ จะช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างพอเพียง และประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.49 ค่อนข้างมั่นใจ,  ร้อยละ 32.96 ไม่ค่อยมั่นใจ, ร้อยละ 16.48 ไม่มั่นใจเลย ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมใน “การปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.21 ระบุว่าให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"