นายหัวชวนกรีดเอนกให้ยึดกม.


เพิ่มเพื่อน    

  "ชวน" กรีด "เอนก" ความบาดหมางไม่ใช่สาระ ลั่นบ้านเมืองอยู่ได้ด้วยหลักกฎหมาย ถ้าไม่ดีก็แก้ไข ไม่ใช่อ้างต้องรักษาความสามัคคี อะไรทำผิดก็แล้วไป ย้ำไม่ควรปล่อยไป เพราะคนส่วนใหญ่ในชาติไม่ได้ทำผิด "ณัฐวุฒิ" ยัน นปช.ไม่เป็นอุปสรรคปรองดอง แต่ต้องทำด้วยใจ ไม่ใช่โวหาร “วิษณุ” เผย 4 แนวทางแก้ปมคำสั่ง 53/60 พร้อมนัดถกพรรคการเมือง 2 รอบ "อภิสิทธิ์” หนุน คสช.ถก กกต.ก่อนคุยการเมือง "ไพบูลย์" ค้านปลดล็อกทั้งหมด คสช.คงอำนาจถึงเลือกตั้ง "สุริยะใส" จับตาพรรคการเมืองยุ  คสช.ใช้ ม.44 ล้มไพรมารีโหวต

    เมื่อวันอาทิตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ ก้าวข้ามและลืมความบาดหมางที่มีต่อกัน ว่า บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยหลักและกฎหมาย เรื่องความบาดหมางหรือไม่บาดหมางนั้น ไม่ใช่สาระ เพราะสาระจริงๆ อยู่ที่เรายึดกฎหมายเป็นหลัก อะไรถูกก็ว่าถูก อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เป็นผลร้ายต่อบ้านเมือง นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้ส่วนรวมอยู่ได้ อย่าไปเอาความรู้สึกส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งมา เราต้องยึดหลักเอาไว้
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ประชาชนยังมีความคิดทางการเมืองแบบสุดโต่ง จะทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่มีความดุเดือดมากขึ้นหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
    "ผมเคยคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในเรื่องการยึดกฎหมายเป็นหลัก กฎหมายใดไม่ดีก็เอามาแก้ไข ไม่ใช่มาคิดกันแต่ว่าต้องรักษาความสามัคคีในชาติ อะไรที่ทำผิดไปแล้วก็ว่าไป แต่ก็ไม่ควรปล่อยไป แต่ควรให้ว่ากันไปตามกฎหมาย คนส่วนใหญ่ในชาติไม่ใช่คนทำผิด เรายึดถือคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ก็ยังต้องยึดหลักกฎหมาย" นายชวนกล่าว
    ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.ร่วมจัดตั้งพรรค รปช. จะกระทบฐานเสียงของพรรค ปชป.หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ก็มีบ้าง เพราะยังมีความนิยมชมชอบส่วนตัวกันอยู่ แต่ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องว่ากันต่อไป ส่วนตัวมองว่าคนส่วนใหญ่ยังยึดพรรค ปชป. เพราะเรายังเป็นหลัก เป็นที่พึ่งของประชาชน และยังยึดมั่นประชาชนเป็นหลัก
    "ส่วนที่มีอดีต ส.ส.บางคนถูกชักชวนให้ย้ายไปอยู่ด้วยนั้น ก็มีบางคนมาเล่าให้ผมทราบว่ามีหลายกลุ่มที่พยายามมาดึงคนของพรรค ปชป.ไปอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วอดีต ส.ส.ของพรรคก็ยังอยู่กับเรา เคยมีตัวอย่างมาแล้วในยุครัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีความพยายามมาดึงอดีต ส.ส.ของเราไปอยู่ด้วย ซึ่งคนที่ไปอยู่กับเขา ในท้ายที่สุดก็สอบตก" นายชวน กล่าว         
     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวกรณีมีสมาชิกพรรคปชป.ย้ายไปอยู่กับ รปช.ว่า เป็นเรื่องธรรมดา ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงพรรคอยู่บ้าง ไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งกรณีของพรรค ปชป. ผู้ที่ย้ายไปล่าสุดก็มีนายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี ทั้งนี้ กรณีของอดีต ส.ส.จันทบุรีและสุราษฎร์ธานีที่ไปอยู่กับพรรค รปช. เรามีผู้ที่แสดงความประสงค์จะลงสมัคร เตรียมพร้อมได้แล้ว ไม่มีอะไรน่าหนักใจ
    นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีนายสุเทพประกาศตัวเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช.ว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่น่าผิดหวังตรงที่การเปิดตัวตรงกันข้ามกับพรรคของคนรุ่นใหม่ ที่มองไปถึงอนาคตว่าจะทำอะไร นำเสนอนโยบายอะไรต่อไป ทั้งการเสนอไปต้องเกณฑ์ทหาร หรือประกาศฉีกรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคการเมืองเก่ายังรำพึงรำพันร้องไห้ถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว ในเมื่อประกาศว่าจะปฏิรูปคน ก็อยากเห็นอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่มองไปข้างหลัง สิ่งที่ประกาศว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่เวลานี้ยังไม่ปฏิรูปแล้ว คุณมาตั้งพรรคก่อนแล้วมีอะไรที่จะนำเสนอ ถ้ามองลีลาถือว่าได้ 100 คะแนนเต็ม ไม่มีทางสู้ แต่สาระเป็นคนละเรื่อง
นปช.พร้อมปรองดอง
    ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า นปช.ให้ความร่วมมือกับนายเอนก ไม่เคยเป็นอุปสรรคในกระบวนการสร้างความปรองดอง เฉพาะในรัฐบาลปัจจุบันก็ไปให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่ได้รับเชิญไม่เคยขาด แต่ไม่เห็นรูปธรรมใดๆ นอกจากน้องเกี่ยวก้อย นายเอนกเคยลงเรือแป๊ะเป็นแม่งานสร้างความปรองดองมาก่อน แต่ยิ่งทำยิ่งเงียบ วันนี้ลาออกมาเป็นหัวหน้าพรรคแล้วพูดเรื่องปรองดองขึ้นอีก ไม่ทราบว่าที่ทำไว้สำเร็จแค่ไหน อย่างไร การปรองดองต้องทำด้วยหัวใจ ไม่ใช่โวหาร ยังไม่เห็นแนวทางหรือข้อเสนอรูปธรรมใดๆ
    "ผมเคยเสนอไว้ในวงปรองดองของ คสช.ว่า หลังเลือกตั้งต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ยกเลิกคำสั่งคณะยึดอำนาจตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันทุกฉบับ ถ้าต้องออกกฎหมายทดแทน ให้ใช้กระบวนการของรัฐสภา ปฏิรูปกองทัพ ไม่มีการแทรกแซงองค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสิ่งเหล่านี้ พูดคำว่าปรองดองไปก็ไร้ความหมาย"
    แกนนำ นปช.ระบุว่า นปช.ไม่เคยมีศัตรูเป็นบุคคล ใครยื่นมือมา ตนไม่มีทางยื่นเท้ากลับไป ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยกันได้ เดือนที่แล้วพบนายสุเทพในงานแต่งงาน ตนก็ทักทาย กับนายสนธิ เจอกันบนศาลก็โอภาปราศรัย ทำหลักการให้ถูกต้อง แล้วทุกคนอยู่ใต้หลักการเดียวกัน ไม่ฉีกหลักการเหมือนที่ผ่านมาทุกอย่างจะเดินหน้าได้ ตนไม่มีข้อขัดแย้งกับนายเอนก แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่พูดคือแนวทางพรรค รปช.หรือไม่ คนทั่วไปเข้าใจว่าพรรคนี้นายสุเทพคือตัวจริง ถ้าไม่ใช่นายเอนกต้องเร่งทำให้ชัดเจน 
    ส่วนความคืบหน้ากรณีที่จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาในการดำเนินการด้านต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้นัดหมายว่าจะหารือกันเมื่อใด ซึ่งการหารือไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายลูกอีกสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะที่แล้วมาไม่ได้มีการพูดคุย เนื่องจากกฎหมายยังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้รู้แล้วว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรบ้าง แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้
    "ทราบว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 มีปัญหา จึงได้เตรียมทางออกไว้แล้ว แต่ไม่รู้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ จึงต้องการฟังความเห็นจาก กกต. กรธ.พร้อมเชิญกรรมาธิการของ สนช.เข้ามาหารือด้วย ส่วนจะถึงขั้นงดการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ 4 ทาง 1.ไม่ต้องทำอะไรเลย 2.ให้มีการตีความ 3.แก้ไขกฎหมาย และ 4.ใช้มาตรา 44"  
    นายวิษณุกล่าวว่า กรณีที่จะพูดคุยกับพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าควรจะคุยกันอย่างน้อยสองรอบ ซึ่งรอบแรกจะคุยกันในเดือน มิ.ย.นี้ เป็นการพูดคุยกันเบื้องต้น เพื่อได้รับทราบถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา จนเมื่อกฎหมายลูกอีกสองฉบับมีผลบังคับใช้ ก็ค่อยมาคุยกันใหม่ เพราะเมื่อถึงตอนนั้นก็จะสามารถกำหนดเรื่องต่างๆ ให้มีความชัดเจนขึ้นได้ บางคนอยากจะมาบ่นเรื่องไพรมารีโหวต เรื่องการประชุมพรรค เรื่องการปลดล็อก ก็ใช้เวทีนี้พูดกันได้ โดยรัฐบาลจะเชิญพรรคการเมืองเข้ามาร่วมพูดคุย
    ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าจะปลดล็อกพรรคการเมืองเป็นขั้นเป็นตอน นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯพูดอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ส่วนที่นายกฯ บอกว่าการหาเสียงบางเรื่องต้องขออนุญาต แต่บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตนั้น ความจริงแล้วเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 แต่เมื่อมีการปลดล็อกให้หาเสียงเลือกตั้งจริงๆ ทุกอย่างจะต้องปล่อยให้เป็นไปโดยอิสระ หรือปล่อยฟรี แต่ตอนนี้เป็นเพียงการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่การหาเสียง 
ปชป.หนุนการพูดคุย
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า คสช.และ กกต.น่าจะเห็นสภาพปัญหาต่างๆ ก่อน และหากมีความจำเป็นที่ต้องมาปรึกษาหารือกันกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถเชิญพรรคต่างๆ มาหารือ แล้วออกคำสั่งต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้อย่างราบรื่น เพราะมีหลายเรื่องในบทบัญญัติกฎหมายใหม่ที่ กกต.และพรรคการเมืองต้องมีการเตรียมตัวปรับตัว ส่วนจะมีการถ่ายทอดสดหรือไม่ ที่ผ่านมาบรรยากาศการหารือมีพรรคการเมืองมาร่วมค่อนข้างมาก ไม่มีอะไรปิดบังอยู่แล้ว ควรมองที่ผลการทำงานดีกว่า ทั้งหมดแล้วเราต้องการให้นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างราบรื่น ให้การเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรม รวมถึงมีความเสมอภาคกับทุกพรรคการเมือง มีความสบายใจว่าจะเป็นการแข่งขันแบบเสรี และจะทำอย่างไรให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เร็วขึ้น
     ส่วนบางพรรคเสนอให้มีการงดเว้นการใช้ไพรมารีโหวตออกไปก่อน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบเหตุผล ทั้งนี้ เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ากฎหมายใหม่ต้องการให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กำลังเตรียมการอยู่ แต่ถ้าพรรคใดที่ยังมีปัญหา ก็สามารถสะท้อนปัญหาออกมาได้
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์มีความกังวลว่าเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งแล้วอาจมีความไม่สงบเกิดขึ้นว่า เชื่อว่านายกฯ เอาอยู่ กฎหมายพรรคการเมืองก็มีข้อห้ามมากมายไม่ให้พรรคการเมืองส่งเสริมหรือสนับสนุนการก่อความไม่สงบเรียบร้อย ใครฝ่าฝืนก็มีโทษสูงถึงขั้นติดคุก ถูกยุบพรรคได้ ถ้ามีใครก็ตามสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย รัฐบาลก็มีอำนาจ มีเครื่องมือมากมายที่จะช่วยระงับยับยั้งได้ นายกฯ จึงไม่ควรวิตกกังวล แต่ควรสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและนานาชาติ มั่นใจว่ารัฐบาลมีความสามารถเพียงพอที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้
    นายองอาจกล่าวว่า การที่ กกต.คาดการณ์ว่าการเลือกตั้ง ส.ส.จะใช้งบประมาณ 5,500-5,800 ล้านบาท เพราะกฎหมายให้อำนาจ กกต.เพิ่มขึ้นมาก ทั้งอำนาจสืบสวน ไต่สวน การจัดตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่พอเข้าใจได้ การใช้เงินจำนวนมากที่เพิ่มขึ้นเพื่อไปไล่จับพวกซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการทำงานที่ไปแก้ปัญหาปลายเหตุ อยากฝากให้ กกต.แก้ปัญหาที่ต้นเหตุควบคู่ไปด้วย ช่วยกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและนักการเมืองเห็นผลร้ายของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงการทุจริตเลือกตั้งที่เป็นเชื้อโรคร้ายทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ผุกร่อนลงเรื่อย กกต.จึงควรทำงานเชิงรุกด้วย  
    นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าจะปลดให้ทีละขั้นตอน เพราะหากปล่อยทั้งหมด ใครจะรับรองว่าจะไม่มีสถานการณ์เกิดขึ้นอีก ว่า 4 ปีนี้ที่รัฐบาลบริหารประเทศ ได้ดูสถานการณ์ต่างๆ มาตลอด จนเชื่อมั่นว่าสงบและจะให้มีการเลือกตั้ง แต่ถ้าระบุอย่างนั้น ที่ผ่านมาสี่ปีไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และสิ่งที่ทำมานั้นล้มเหลวใช่หรือไม่ ฉะนั้นให้ไว้วางใจ ล้วนแต่ปรารถนาดีกับบ้านเมืองทั้งนั้น ไม่มีใครอยากจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น คิดระแวงอยู่ตลอดเวลา บ้านเมืองจะอึมครึม 4 ปีที่ผ่านมาได้วางกติกาซึ่งได้เปรียบคนอื่นอยู่แล้ว แล้วจะเอาเปรียบอีกก็ให้ระวังว่าจะสะท้อนกลับ เพราะสังคมไทยมีจุดเด่นที่สงสารมวยรองและคนที่ถูกกระทำ
     ที่อาคารเดอะโคสต์ พลาซ่า ย่านบางนา ที่ทำการพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรค ปชช. พร้อมด้วยผู้ร่วมจัดตั้งพรรค จัดการประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติม พร้อมทั้งประกาศถึงนโยบายของพรรค โดยมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติมรวม 32 คน จากนั้นนายไพบูลย์แถลงหลังประชุมว่า อุดมการณ์ของพรรคต้องเป็นเครื่องมือประชาชน ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อประชาชน พรรคปฏิเสธเรื่องอามิสสินจ้าง มุ่งทำงานให้ประชาชน จากนี้จะมีการจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปทั้ง 77 จังหวัด ส่วนตัวยังสนับสนุนระบบไพรมารีโหวต แม้จะมีแนวคิดคัดค้านจากบางพรรค ระบบดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหา แต่กลับเป็นการกระจายอำนาจออกไป ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจแบบเดิม ในอนาคตถึงแม้จะมีการยกเลิกการทำไพรมารีโหวต แต่ทางพรรค ปชช.จะยังทำต่อไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี 
จับตาคว่ำไพรมารีโหวต
    เมื่อถามว่า บางพรรคมีความกังวลว่าการที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อาจทำให้การเลือกตั้ง ต้องเลื่อนออกไปอีก นายไพบูลย์กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการปลดล็อกตามขั้นตอน 1-2-3 ไม่เห็นด้วยที่จะให้ปลดล็อกหมดทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นจะกลับไปสู่แบบเดิม ควรปลดเพียงแค่ให้พรรคการเมืองจัดประชุมได้ตามกรอบกำหนดเวลาเดิมได้ แต่ไม่ใช่ปลดเพื่อให้พรรคการเมืองได้เคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง คสช.ควรคงคำสั่งนี้ไว้ให้ไปถึงหลังเลือกตั้งเลย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยอย่างที่ประชาชนหวังเอาไว้ ทั้งนี้ ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย ในฐานะคนกลาง ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่ถ้าวันข้างหน้าไปสังกัดพรรคการเมืองใด ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง
    นายสิระ พิมพ์กลาง ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อนไทย กล่าวว่า หลังจากไปยื่นจดแจ้งตั้งพรรคเพื่อนไทยแล้ว ขอความกรุณาตรวจสอบให้เร็วขึ้นหน่อย เพราะหากเลือกตั้งตามโรดแมป ก.พ.62 ถือว่าเวลาเหลือไม่มากนักสำหรับพรรคการเมืองใหม่ทั้งหลายที่ได้ไปยื่นเรื่องจดแจ้งตั้งพรรคไว้ 
    นายชวน ชูจันทร์ แกนนำจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ยังไม่กำหนดวันที่ชัดเจนในการจัดประชุมผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องเอกสาร และการเขียนนโยบายพรรคให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ล้มพรรคหรือยุบไปรวมกับพรรคอื่นแน่นอน และไม่ปิดกั้นหากจะมีอดีตนักการเมืองมาเข้าร่วมพรรค พร้อมขอให้ทุกพรรคคำนึงถึงเรื่องความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า ดีกว่าการแบ่งขั้วเลือกข้างเหมือนในอดีต
    ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่หลายพรรคการเมืองจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คสช. ใช้คำสั่ง ม.44 ยกเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ด้วยข้ออ้างสารพัด โดยเฉพาะการเตรียมตัวไม่ทัน ไพรมารีโหวตในสายตาของพรรคการเมืองยังมองว่าเป็นหอกข้างแคร่ที่เป็นอุปสรรคต่อวิถีหรือการบริหารจัดการพรรคการเมืองแบบเก่าๆ หรือพรรคการเมืองที่มีเจ้าของเพียงคนเดียวหรือตระกูลเดียว หรือกลับไปที่ระบบแฟมิลีโหวต (family vote)   
    "ประชาชนต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ เพราะการยกเว้นหรือตัดกลไกไพรมารีโหวตออกไป เท่ากับเป็นการตัดตอนบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และจะส่งผลให้การปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของกลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน และสุดท้ายพรรคการเมืองก็จะกลายเป็นแค่แหล่งรวมกลุ่มผลประโยชน์ที่ใช้พรรคการเมืองเข้ามาเป็นเครื่องมือตักตวงผลประโยชน์และอำนาจรัฐเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นการประชุมร่วมกันระหว่าง คสช.และบรรดาพรรคการเมือง ต้องไม่มีภาพของความคลางใจหรือตกลงกันโดยเอาผลประโยชน์ความสะดวกสบายของพรรคการเมืองเป็นตัวตั้งแต่ ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ พ.ร.ป.พรรคการเมือง" นายสุริยะใสกล่าว 
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “บทบาทและความท้าทายทางการเมือง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” โดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า กรณีการเซตซีโร ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 299 นั้น เขียนรับรองการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชน กกต. และ ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และคงดำรงตำแหน่งจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดกันมาใช้ 
    "กรณีนี้มีนัยทางการเมืองที่สำคัญมาก เนื่องจากหากมีบางองค์กรถูกเซตซีโร บางองค์กรไม่โดน อาจถูกมองได้ว่าองค์กรอิสระบางแห่งมาด้วยการเอื้ออาทร จนกลายเป็นรอยด่างให้ฝ่ายการเมืองโต้แย้งได้ ซึ่งในทางกฎหมายมหาชน เรื่องเหล่านี้สามารถดำเนินการย้อนหลังได้ แต่ต้องอธิบายความในเรื่องของ ประโยชน์ที่สาธารณะได้รับ แต่หากไม่มีประโยชน์หลักการคุ้มครองความสุจริตต้องดำรงอยู่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นรอยด่างของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องได้รับการสะสางให้ชัดเจน" นายบรรเจิดกล่าว.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"