‘นายกฯ’สั่งปรับ ‘มาตรการแจก’ สอดรับปัจจุบัน


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลนั่งไม่ติดขันนอต 2 ส่วน ศบค.-ศบศ.ทำงานกลมเกลียวเข็นภูเก็ต-สมุย "บิ๊กตู่" ลุกปลุกโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หวังเลี้ยงนโยบายกระตุ้นใช้จ่ายที่คลอดออกมา ขณะที่ กยศ.ตื่นร่วมวงสู้ภัยโควิด ไฟเขียวหักเงินเดือนขั้นต่ำเพียง 10 บาท พร้อมชะลอฟ้องคดีเริ่ม ส.ค.นี้ 
เมื่อวันศุกร์ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นการทำงานร่วมกันในการตัดสินใจกำหนดแนวทางและมาตรการตามที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ได้เสนอเข้ามา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวงและเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ทุกกระทรวงต้องดำเนินตามมาตรการอย่างทั่วถึง
นายอนุชากล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการใน 2 ส่วนพร้อมๆ กัน คือทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีความจำเป็นที่ ศบค.และ ศบศ.จะต้องมีข้อมูลเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานโครงการภูเก็ตโมเดลและสมุยพลัสโมเดล  ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามเป้าหมาย 120 วันของรัฐบาลในการเปิดประเทศ ภายใต้ความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะมีการขยายโครงการต่อไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ด้วย
    นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเสนอในที่ประชุม  ศบศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” หรือพิจารณานำ “ช้อปดีมีคืน” กลับมาใช้ เพื่อให้ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เร่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งยังอยากเห็นการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งการลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อร่วมโครงการ ชี้แจงข้อสงสัย รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจในมาตรการรัฐในระดับพื้นที่ด้วย 
    “ขณะเดียวกันนายกฯ ก็ขอให้ ศบศ.นำผลการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ในการประชุม 40 ซีอีโอพลัสมาขับเคลื่อนแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมฟื้นฟูประเทศร่วมกับภาคเอกชน ขณะ เดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น การดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย ผู้มีกำลังซื้อสูง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.  ให้เร่งพิจารณาแผนงานของทุกกระทรวงที่อยู่ภายใต้งบประมาณปี 2564 และ 2565 ที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย  หากโครงการใดที่ติดขัดเพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็สามารถชะลอได้ และพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายอนุชาระบุ  
    สำหรับที่ประชุม ศบศ.ได้มีการรับทราบการดำเนินการ มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่อง โครงการ Phuket Sandbox และ Samui  Plus Model รวมทั้งยังได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทยด้วย
วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ล่าสุดกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม จากที่ได้ยกเลิกกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนในสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564  โดยเตรียมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ผู้กู้ยืม ปรับลำดับตัดชำระหนี้และปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระ ผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือนสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือขั้นต่ำ  10 บาทต่อเดือน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564-มิถุนายน 2565 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาในปีการศึกษา 2564  เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า (27  กรกฎาคม 2564) ด้วย
น.ส.รัชดาระบุว่า ทั้งนี้ กยศ.เตรียมแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระสำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดี เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระและลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  อาทิ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี หากไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามสัญญา กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยขยายระยะเวลาผ่อนและเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระมากขึ้น สามารถผ่อนได้สูงสุด  30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายนั้น ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีส่วนลดเบี้ยปรับโดยให้ชำระในงวดสุดท้าย ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ.และเว็บไซต์ เริ่มวันที่  1 ส.ค.
    น.ส.รัชดาระบุอีกว่า 2.ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่  โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระไปตัดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ 3.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างปลอดหนี้และยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้ จากเดิมที่ผ่อนชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน  และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ของผู้กู้ยืมแต่ละราย ทั้งนี้ ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมจะต้องมีอายุไม่เกิน 60  ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ลดเบี้ยปรับให้เหลือเพียง 0.5% กรณีผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระหนี้ได้ในสถานการณ์นี้ รวมทั้งชะลอการฟ้องคดี บังคับคดี ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดไว้จนถึงสิ้นปีนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"