ศบค.เตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคให้ 4 กลุ่ม กรมควบคุมโรคแจงประสิทธิภาพวัคซีนวัดจากการป้องกันการติดเชื้อจากการใช้จริง ไม่ได้วัดที่ภูมิต้านทาน ยกเคส รพ.เชียงราย “ซิโนแวค” 2 เข็มป้องกันเชื้อได้ 82.5% ผอ.สถาบันวัคซีนปัดตัดสินใจผิดพลาด แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปพร้อมนำเข้าโคแวกซ์ปี 65 เผยปี 64 เฉลี่ยได้วัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดสเท่านั้น องค์การเภสัชกรรม-บ.ซิลลิค ฟาร์มาลงนามสัญญาซื้อ-ขาย “โมเดอร์นา” 5 ล้านโดส พร้อมทยอยนำเข้าไตรมาส 4 นี้
เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงการฉีดวัคซีนถึงวันที่ 22 ก.ค.ว่า มีจำนวน 304,243 โดส ยอดสะสม 15,388,939 โดส
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กยังได้พิจารณาแผนการให้บริการและการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการกระจายไปที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเป็นบูสเตอร์โดส หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกัน กลุ่มที่ 2 คือผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง รวมทั้งหญิงมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป กลุ่มที่ 3 คือชาวต่างชาติ โดยเน้นไปที่ผู้สูงวัยและ 7 กลุ่มโรค และกลุ่มที่ 4 คนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ คือ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต โดยกลุ่มนี้ติดต่อลงทะเบียนให้ไปติดต่อรับวัคซีนที่บางรักและโรงพยาบาลบำราศนราดูร
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงว่า วัคซีนโควิดทั่วโลกมีทั้งสิ้น 4 รูปแบบ ในประเทศไทยเราใช้วัคซีนเชื้อตายในการระบาดในช่วงแรก และแอสตร้าเซนเนก้าในเดือน มิ.ย. ซึ่งในระยะถัดไปเราจะใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเราดำเนินการสั่งซื้อเรียบร้อยแล้ว คาดว่ามาในไตรมาสที่ 4 วัคซีนจะใช้ได้ ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยและเทคโนโลยีที่ใช้อาจทำให้ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน แต่ว่าการวัดภูมิต้านทานต้องมีวิธีการวัด เพราะเราไม่รู้ว่าภูมิต้านทานตัวไหนป้องกันการติดเชื้อได้ เวลาใช้จริงคือวัดจากการป้องกันการติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นจริงจากการใช้จริง ไม่ได้วัดภูมิต้านทาน เพื่อสามารถเปรียบเทียบได้ว่าประสิทธิผลสามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริงหรือไม่
เมื่อถามว่า กรณีที่เอกสารหลุดออกมาว่าจะมีการฉีดเข็มที่ 3 Booster Dose ให้บุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขเป็นแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียวหรือไม่ นพ.ทวีศักดิ์กล่าวว่า เนื่องจากบุคลากรได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนใหญ่เกินระยะเวลา 3 เดือน จึงมีนโยบายที่มีความจำเป็นต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อสามารถสร้างภูมิต้านทานให้สูงกว่าเดิม แล้วการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เราทราบว่าควรจะฉีดด้วยวัคซีนที่ไม่ใช่รูปแบบเดิม อีกทั้งความจำเป็นในขณะนี้ที่พบผู้ติดเชื้อในบุคลากรจำนวนมาก เราจึงอยากเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีนด้วยการ Booster โดยวัคซีนที่เรามีอยู่คือแอสตร้าเซนเนก้า ถ้าเมื่อไหร่เรามีวัคซีนไฟเซอร์ เราก็จะสามารถใช้วัคซีน 2 ตัวควบคู่กันไปด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า ขณะที่ผลการฉีดวัคซีนในประเทศจนถึงเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ฉีดสะสมทั้งสิ้น 15,388,939 โดส แบ่งเป็น เข็มที่หนึ่ง 11,805,180 ราย และเข็มที่สอง 3,583,759 ราย เป็นยี่ห้อซิโนแวค 7,933,854 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 6,856,472 โดส และซิโนฟาร์ม 598,613 โดส ในส่วนสรุปข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน วันที่ 18 ก.ค. ซึ่ง ณ ตอนนั้นฉีดวัคซีนสะสม 14,298,596 โดส แบ่งเป็น 1.เข้าเกณฑ์ร้ายแรง 1,343 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.4 ต่ออัตราแสนโดส 2.เสียชีวิต 231 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.6 และ 3.ผู้ป่วยในอื่นๆ เช่น มีไข้ 2,565 คน คิดเป็นร้อยละ 17.9 สำหรับอาการที่พบหลังได้รับวัคซีน จำแนกตามยี่ห้อวัคซีน 1.ซิโนแวค 1,633 ราย มีอาการเวียนศีรษะ 21.92% ปวดศีรษะ 15.25% และคลื่นไส้ 14.88% 2.แอสตร้าเซนเนก้า 1,802 ราย พบมีอาการมีไข้ 24.75% เวียนศีรษะ 21.92% และปวดศีรษะ 15.25% และ 3.ซิโนฟาร์ม 34 ราย พบมีอาการเวียนศีรษะ 31.35% คลื่นไส้ 29.41% และอาเจียน 26.47%
นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า ในการวัดประสิทธิผลวัคซีนจากกรณีโรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย โดยกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบนานกว่า 14 วันขึ้นไป 336 ราย พบการติดเชื้อ 24 ราย คิดเป็น 7.1% กลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน 27 ราย พบการ ติดเชื้อ 11 ราย คิดเป็น 40.7% โดยกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มที่ฉีด 5.7 เท่า สรุปคือวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อได้ 82.5% อย่างไรก็ตามทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 3.76 พันล้านโดส ขอย้ำว่าวัคซีนโควิค-19 มีการฉีดอย่างกว้างขวางมากมายหลายประเทศ ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตและบรรเทาอาการเจ็บปวดรุนแรง ขอให้ประชาชนมั่นใจและไปรับการฉีดตามเป้าหมายที่เรากำหนดและรณรงค์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการที่มีรายงานพบผู้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน หรือภาวะ VITT หลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด Viral vector vaccine เช่น AstraZeneca และ Johnson & Johnson/Janssen ในต่างประเทศ เบื้องต้นขอให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนจนถึงวันที่ 11 ก.ค.64 มีการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในคนไทยไปแล้ว 5,360,745 โดส และมีผู้ป่วยยืนยันอาการ VITT ภายหลังการได้รับวัคซีน 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 26 ปี มีโรคประจำตัวคือไมเกรน มาด้วยอาการปวดศีรษะมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อได้รับการรักษาด้วยยา intravenous immunoglobulin (IVIG) แล้วก็มีอาการดีขึ้น
“ภาวะ VITT ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์น้อยกว่าต่างประเทศมาก คือ 1:5,000,000 ในขณะที่ต่างประเทศมีอุบัติการณ์ประมาณ 1:125,000 – 1:1,000,000 ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศไทยถึง 5-40 เท่า แม้จะเป็นภาวะที่อาจเกิดอาการรุนแรง แต่หากได้รับการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล ประเทศไทยมีความพร้อมในการตรวจและรักษาภาวะนี้" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวชี้แจงถึงการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เนื่องจากอาจมีความเข้าใจและอาจนำไปปนกันระหว่างโคแวกซ์ AMC (Advance Market Commitment: AMC) และโคแวกซ์ SFP (Self-financing participant: SFP) ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศในส่วนของโคแวกซ์ AMC 92 ประเทศ เนื่องจากเราเป็น Upper Middle Income เวลาที่มักมีคำเปรียบเทียบว่า อาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีน จริงๆ ต้องแยกประเทศอาเซียนเป็น 2 กลุ่ม อย่างโคแวกซ์ AMC เป็นประเทศที่ทำสัญญาจองล่วงหน้าได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนโคแวกซ์ SFP ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนด้วยเงินทุนของประเทศตนเอง ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน รวมทั้งไทย ดังนั้นหากเราไม่มีความเข้าใจส่วนนี้ก็จะนำไปผสมกัน และคิดว่าเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนฟรี ซึ่งไม่ใช่ เพราะต้องจ่ายเงิน
"โครงการโคแวกซ์ ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.ค.64 ได้ส่งมอบวัคซีนไปแล้ว 136 ล้านโดส ใน 136 ประเทศ ซึ่งเมื่อหารแล้วแต่ละประเทศได้รับวัคซีนประเทศละ 1 ล้านโดส ดังนั้นเหตุผลเดิมที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะต้องจ่ายเงินเองและต้องรอรับวัคซีนที่ไม่รู้ได้เมื่อไหร่ และเหตุการณ์เชิงประจักษ์ เหตุผลจึงเหมือนเดิม ไม่ได้ว่าเราตัดสินใจไม่ได้จองวัคซีนโคแวกซ์แล้วผิดพลาด"
นพ.นครกล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงจะพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป ปี 2565 ดูทิศทางแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีน หลังจากได้ซัพพลายให้ประเทศรายได้สูงจนเกินพอ ต่อไปก็จะกลับมาดูในส่วน Global Solidarity จะเกิดขึ้นในปีหน้า 2565 ไม่ใช่ปีนี้ 2564 การเข้าร่วมโคแวกซ์ ณ เวลานี้ จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในปีหน้า หากผู้ผลิตวัคซีนมุ่งเน้นส่งวัคซีนให้โคแวกซ์ ประเทศไทยก็จะมีช่องทางเข้าถึงวัคซีนในปี 2565 เป็นการบริหารตามสถานการณ์
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า วันนี้ 23 ก.ค.64 องค์การเภสัชกรรมและบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ในนามบริษัท แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายอย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส โดยมี นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนร่วมเป็นสักขีพยาน โดยวัคซีนทั้งหมดจะทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นไปตามช่วงเวลาเดิมที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสภากาชาดไทยได้ทำการชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรร หลังจากนี้องค์การจะได้ทำการชำระเงินให้แก่บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ต่อไป เพื่อให้ความมั่นใจว่าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดสนี้จะเข้ามาประเทศไทยอย่างแน่นอน
นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทยกล่าวว่า ได้ปิดรับการขอจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาตั้งแต่เที่ยงวันที่ 22 ก.ค. โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลายจังหวัดยื่นขอรับการจัดสรรจนเกินกว่า 1 ล้านโดสที่สภากาชาดไทยสั่งซื้อ ทั้งนี้ยืนยันว่าทุก อบจ.ต้องทำแผนการฉีดวัคซีนฟรีที่รับรองโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเสนอมาด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายต้องเป็นกลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม จึงมั่นใจว่าจะ ป้องกันการนำไปฉีดให้ผู้บริหาร อบจ.และครอบครัวตามข่าวได้แน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |