ถกด่วนบริหารเตียง ‘บิ๊กตู่’ผวาซํ้ารอยนอนตาย/ไทยติดเชื้อ14,575


เพิ่มเพื่อน    

ไทยยังติดเชื้อหนักนิวไฮรายวัน 14,575 ราย เสียชีวิต 114 ราย ศบค.ห่วงตัวเลข ตจว.พุ่ง อีสานหนักสุด พบหลังล็อกดาวน์หนีกลับบ้านเป็นแสน ต้องโยกทีมแพทย์กลับไปช่วยจังหวัดตัวเอง ดึงภาคประชาสังคม-สภากาชาดเสริม เร่งขยายเตียง รพ.สนาม เปิดศูนย์พักคอย สธ.ชี้ติดเชื้อใน กทม.เริ่มชะลอตัวลง เชื่อสัปดาห์​หน้ายอดดับไม่เกิน 100 ราย ทบ.ปรับเครื่องบินทางทหาร C295 ส่งผู้ป่วยโควิดกลับบ้าน 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เวลา 12.30  น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,575 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,490  ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,889 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,601 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 1,072 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 467,707 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 7,775 ราย หายป่วยสะสม 320,152 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 143,744 ราย อาการหนัก 3,984 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 900 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 114 ราย เป็นชาย 61 ราย หญิง 53 ราย อยู่ใน กทม.มากที่สุด 49 ราย  โดยพบเสียชีวิตที่บ้าน 3 ราย ที่ห้องฉุกเฉิน 1 ราย และหลังจากตรวจพบเชื้อไม่เกิน 6 วัน 47 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,811 ราย 
    ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม.  3,104 ราย สมุทรสาคร 1,067 ราย สมุทรปราการ 837 ราย  ชลบุรี 669 ราย ระยอง 516 ราย ปทุมธานี 511 ราย พระนครศรีอยุธยา 359 ราย ฉะเชิงเทรา 352 ราย นนทบุรี 305  ราย และปัตตานี 290 ราย และหากดูข้อมูลการติดเชื้อจากเดิมที่ตัวเลขส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑล ขณะนี้อัตราส่วนต่างจากเมื่อก่อน กทม.และปริมณฑลตัวเลขไม่ได้ลดลงมาก ส่วน 71 จังหวัดที่เหลือมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และจากรายงานกรมควบคุมโรคระบุหลายจังหวัดทางภาคอีสานเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล อาทิ  อุบลราชธานี สระบุรี ตาก ขอนแก่น อุตรดิตถ์ สระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี พังงา  กระบี่ สตูล ขณะที่ลำปางมาจากโครงการรับผู้ป่วยกลับบ้าน และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง  (ศปม.) ยังได้รายงานด้วยว่า หลังมีการประกาศใช้ข้อกำหนดยังมีประชาชนเดินทางข้ามพื้นที่เกินแสนคน 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้พูดคุยถึงการดูแลผู้ติดเชื้อใน กทม. ซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 3,104 ราย ยังไม่รวมการตรวจด้วยวิธีแอนติเจนเทสต์คิต ที่มีผลบวกไปอีกกว่า  2,000 รายใน 1-2 วันนี้ กทม.จะรวบรวมตัวเลขการตรวจทั้งหมดเพื่อมารายงานให้เห็นภาพรวม และจะมีการชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่าแต่ละเขต แต่ละกลุ่มเขตสามารถไปตรวจเชื้อได้ที่ไหน และจากข้อมูลพบว่าการตรวจเชิงรุกในกทม. 100 ราย พบผู้ติดเชื้อ 11% และถ้ามีประวัติเป็นผู้สัมผัสจำนวนนี้จะมีผลยืนยันตามมาทีหลัง 15% หรือถ้าเป็นผู้มีอาการทางเดินหายใจจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อได้ถึง 25% ตรงนี้เป็นสิ่งที่ กทม.เน้นย้ำ ให้สำรวจตัวเองและพยายามเข้าสู่ระบบการตรวจเพื่อได้เข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด  และในแง่ของการรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์รายงานว่ามีผู้ป่วยรอเตียงเพิ่ม 868 ราย โดยที่ผ่านมา กทม.ปิดเคสผู้ป่วยรอเตียงได้ทั้งสิ้น 121,457 ราย ซึ่งผู้อยู่ระหว่างรอเตียงจะได้รับการจัดสรรโดยเร็ว ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสีแดงถึง 40 ราย จะเร่งนำเข้าระบบโดยเร็วที่สุด ใน 1-2 วันนี้จะมีข้อมูลชัดเจนว่าผู้ป่วยระดับสีใดอยู่ในพื้นที่ใด
    ทั้งนี้ หากดูปริมาณผู้ป่วยใน กทม.พบว่า 70-80% เป็นผู้ป่วยสีเขียวอ่อนและเขียวเข้ม ขอทำความเข้าใจกับประชาชนเมื่อได้รับการยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อ หากอาการอยู่ในระดับสีเขียวอาจจะไม่ได้เข้าโรงพยาบาล แนวทางปฏิบัติในปัจจุบันเน้นให้ดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งต้องประเมินตัวเองว่ามีอาการระดับไหน ระดับสีเขียวคือผู้ที่ยังมีอาการแข็งแรง ติดเชื้อจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ถ่ายเหลว แต่ไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ การศึกษาโฮมไอโซเลชันที่หน่วยงานดำเนินการมาแล้ว 2 สัปดาห์ พบการแยกกักที่บ้านได้ผลดี โดยกรมการแพทย์รายงานว่าหากตรวจแล้วได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ สามารถขอเข้าโฮมไอโซเลชันได้ที่โรงพยาบาลที่ไปตรวจได้เลย แต่ถ้าตรวจที่แล็บเอกชนหรือเอ็นจีโอที่รับตรวจแต่ไม่มีโรงพยาบาลรองรับ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 1330 กด 14 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะมีการเพิ่มคู่สาย 
ส่งกล่องรอดตายช่วยผู้ป่วย
    อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง  กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  จะจัดหมายเลขของสำนักงานเขตใน กทม.ทั้ง 50 เขตเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และเมื่อเข้าระบบเหล่านี้แล้วจะมีคลินิกอบอุ่น 161 แห่ง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) 69 ศูนย์ และโรงพยาบาลหลักจะดูแลให้เข้าระบบโฮมไอโซเลชัน โดยจะได้รับกล่องรอดตายของ  กทม.ที่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ อุปกรณ์ต่างๆ ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งการเบิกจ่าย สปสช.เน้นย้ำว่าแม้รักษาตัวที่บ้านแต่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ รวมทั้งค่าเอกซเรย์ ค่ารถ หากต้องส่งต่อไปโรงพยาบาล ค่าอาหาร 3 มื้อ และหากใครมีประกันสังคมสามารถติดต่อไปได้ที่ 1506 กด 6 ได้ด้วย 
    อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีข้อจำกัด เช่นในครอบครัวมีกันอยู่หลายคน ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ไม่มีสภาพบ้านที่พร้อมจะให้แยกกักที่บ้าน community isolation หรือการแยกกักในชุมชน หรือศูนย์พักคอย เป็นคำตอบที่ช่วยได้   ซึ่งตอนนี้มีคนเข้าระบบไปแล้ว 1,682 คน ใน กทม.เปิดแล้ว 22 เขต โดยมีสถานที่ มีเตียง มีบุคลากร รอการกำหนดวันเปิดที่ชัดเจนอีก 14 เขต และอีก 14 เขตกำลังเตรียมสถานที่ ซึ่งจะมีสภากาชาดไทย ภาคประชาสังคม  เอ็นจีโอเข้ามาช่วยกัน มีโรงพยาบาลพี่เลี้ยง 25 โรงพยาบาล จะดูแลความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ฝากย้ำประชาชนขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารและดูจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขอฝากความเป็นห่วงด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะมีข่าวการเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อออกจากบ้านไปรวมตัวกันที่ใดที่หนึ่ง ขอเน้นย้ำว่าหากผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงที่อาการอาจทรุดลงได้ จึงขอให้อยู่บ้านและขอให้ติดต่อหมายเลขที่ระบุไว้ให้ ซึ่ง ศบค.จะพัฒนาระบบให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กรมการแพทย์ย้ำว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องพักปอด พักสุขภาพร่างกาย หากออกมานอกบ้านอาจจะมีความไม่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง โดย เฉพาะถ้าเป็นผู้มีโรคประจำตัวหรือน้ำหนักเกิน และที่สำคัญมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังชุมชน หรือบุคคลที่ได้ไปสัมผัสและพูดคุยด้วย ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลการวางแผนมาตรการเบื้องต้น ขอให้ประชาชน สื่อมวลชนกำกับ ติดตามมาตรการเหล่านี้ร่วมกัน อย่าถือว่าเป็นการจับผิด  เพราะการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ศบค. เรายินดีรับฟังรายงานข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ การจัดการที่ไหนยังมีข้อบกพร่อง เรายินดีน้อมรับข้อเสนอแนะเหล่านั้น และขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบการรักษาดูแลที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการขยายโรงพยาบาลสนามมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ทำงานมาอย่างหนักถึงขั้นขาดแคลนแล้ว ศบค.จะบริหารจัดการอย่างไร พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ทุกคนมีความเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ และใน 1-2 วันนี้จะมีการสรุปเรื่องโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยระดับสีเหลือง สีแดง ซึ่งตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนมากมายพอสมควร โรงพยาบาลบุษราคัมซึ่งเดิมเป็นสีเหลืองมีการปรับเพื่อรับสีแดงเพิ่ม โรงพยาบาลสนามเดิมสีเขียวตอนนี้มีอุปกรณ์ บุคลากร สามารถที่จะพัฒนาขึ้นยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามสีเหลืองได้ 
    พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า ในแง่ของบุคลากร กระทรวงสาธารณสุขเองมีความเป็นห่วง เนื่องจากที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือบุคลากรจากต่างจังหวัดโยกมาช่วยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ขณะนี้หลายจังหวัดมีสถานการณ์ที่หนักขึ้น หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดระบบเตียงเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% แล้ว โดยเฉพาะในภาคอีสาน ดังนั้นบุคลากรจึงต้องโยกกลับไปดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งในวันเดียวกันกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และภาคประชาสังคมต่างๆ  จะประชุมหารือกันทั้งโฮมไอโซเลชัน คอมมิวนิตีไอโซเลชัน  รวมทั้งเตียงในระดับเหลืองแดงว่าจะมีการปรับอย่างไร   อย่างไรก็ตามแม้วันนี้สภาพจิตใจทุกคนย่ำแย่ แต่ถ้าเรารวมกันสามารถที่จะพึ่งพาช่วยเหลือกัน เป็นกระบอกเสียงซึ่งกันและกัน เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้
บิ๊กตู่ตรวจศูนย์สโมสร ทบ.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ปฏิบัติงานที่บ้านพักตามมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม โดยในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเตรียมการจัดตั้งศูนย์โรงพยาบาลสนามที่สโมสรกองทัพบก เพื่อแก้ปัญหาเตียงในทุกสีของอาการป่วย ซึ่งนายกฯ ได้ขอบคุณและให้กำลังใจบุคลากรทุกคนที่ช่วยเหลือกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ 
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) วันที่ 22 ก.ค. นายกฯ เสนอให้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลขนาดเล็กให้กระจายไปในทุกพื้นที่ทุกเขต เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน ลดการแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข​ (สธ.) นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ​ นายแพทย์​ทรงคุณวุฒิ​ กรมควบคุมโรค แถลงว่า  สถานการณ์​ประเทศไทยสัปดาห์​นี้พบว่ามีการรายงานผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเป็นหลักหมื่นมาตลอดทั้งสัปดาห์ การติดเชื้อรา​ยใหม่ส่วนใหญ่คือการตรวจพบในระบบบริการ​ หรือการคัดกรอง​เชิงรุก รวมถึงติดเชื้อภายในเรือนจำ หากดูแนวโน้มการติดเชื้อของสถานการณ์​ระดับประเทศ​จะเห็นได้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อ​ราย​ใหม่​อยู่ในลักษณะ​ของขาขึ้นสูงมาก คือเพิ่มทุก 2-3 เท่าทุกสัปดาห์​ แต่หากเราแยกแยะพื้นที่ระหว่าง​กรุงเทพฯ ​และปริมณฑล​กับต่างจังหวัด​ จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้​ติดเชื้อ​ในขณะนี้ของภาพรวมในประเทศส่วนใหญ่เกิดในต่างจังหวัด​ ส่วนกรุงเทพฯ ​และปริมณฑล​การติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้เพิ่มสูงเหมือนเมื่อช่วงสัปดาห์​ที่ผ่านมา โดยมีแนวโน้ม​ชะลอตัว​ลง  จากข้อมูลในส่วน กทม.การเสียชีวิตอีกสัปดาห์​ถัดมาน่าจะไม่สูงขึ้นไปกว่า 100 ราย ทั้งนี้จากมาตรการ​ที่เราช่วยกันจะช่วยชะลอจำนวนการติดเชื้อได้มากขึ้น
        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ผลจากการดำเนินการสอบสวนเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ พบว่าผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด -19 มีอัตราการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 11.83 โดยเชื้อที่เป็นปัญหาหลักของไทยขณะนี้คือสายพันธุ์เดลตาและอัลฟาที่ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1 คนสามารถแพร่เชื้อให้คน อื่นได้ 5-8 คน ส่วนเชื้อสายพันธุ์อัลฟาแพร่ได้ 4-5 คน
    นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผย​ว่า​ ได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกที่เปิดให้บริการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จะต้องดำเนินการส่งผลตรวจคัดกรองให้ผู้รับบริการทุกราย มิเช่นนั้นถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ตามมาตรา 32 (3) ในฐานไม่แสดงข้อมูลตามที่สิทธิผู้ป่วยกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน  10,000 บาท
    ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า ได้จัดส่งหนังสือแจ้งเวียนถึงผู้รับอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากผู้รับบริการรายใดที่ยังไม่ได้รับผลการตรวจคัดกรอง ขอให้ติดต่อสอบถามไปยังสถานพยาบาลเอกชนที่เข้ารับบริการ แต่สถานพยาบาลดังกล่าวยังไม่ส่งผลตรวจให้ สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1426  กรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากการตั้งทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (CCRT) ตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ ฉีดวัคซีน รวมถึงให้ยารักษาอาการเบื้องต้น ขณะนี้มีทั้งหมด 166 ทีม กระจายลงพื้นที่ 50 เขต ตั้งแต่วันที่  15-22 ก.ค.64 จำนวน 949 ชุมชน มีผู้รับบริการ 38,721  คน โดยตั้งเป้าภายในวันที่ 31 ก.ค.จะสามารถดำเนินการได้ 1,158 ชุมชน เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น 
ปรับเครื่อง C295 พากลับบ้าน
    ที่กองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ผู้บัญชาการทหารบกสั่งการเพิ่มเติมให้นำอากาศยานของกองทัพบก คือเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 (C295) มาเป็นยานพาหนะในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อทางอากาศไปส่งยังภูมิลำเนาทั่วประเทศ ซึ่งได้ปรับแต่งระบบต่างๆ ของอากาศยานเพิ่มเติม ปรับปรุงห้องโดยสารให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยติดเชื้อ ครอบคลุมการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อการสื่อสาร ทั้งนี้ ผู้ป่วยสีเขียวที่ประสงค์จะกลับไปรักษายังภูมิลำเนาสามารถติดต่อไปยัง ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก (กทม.) โทร. 0-2270-5685-9 ได้ตลอด 24 ชม.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมด่วนผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์ สั่งการ และฟังข้อคิดเห็นในเรื่องการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ศูนย์แรกรับ ตามนโยบายที่จะต้องไม่มีผู้ป่วยและผู้ตายริมถนน หรือในที่สาธารณะ ซึ่งหากมีปัญหาจะต้องรีบปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างทันที 
    ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 837 ราย โดยคลัสเตอร์ใหม่เป็นแคมป์คนงานก่อสร้างบริษัทอิตาเลียนไทย อ.บางพลี และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนกว่า 10 ราย
    ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จังหวัดมีสถานประกอบการกว่า 2,600 แห่ง จึงมอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดออกหนังสือแจ้งให้ทุกโรงงานประเมินตนเองตามแบบฟอร์มของ Thai Stop Covid Plus และให้ส่งผลการประเมินกลับมาที่อุตสาหกรรมจังหวัด แล้วอุตสาหกรรมจังหวัดจะไปสุ่มตรวจ แต่หากพบสถานประกอบการใดปกปิดข้อมูลและทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างจะถูกสั่งปิดทันที แต่หากพบผู้ติดเชื้อน้อยรายและแจ้งให้ทราบอาจไม่จำเป็นต้องปิดสถานประกอบการ 
    ที่ จ.ชลบุรี นายสุคนธ์ สุวรรณศักดิ์สิน นายอำเภอเมืองชลบุรี นายภิรมย์ อาจวารินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองข้างคอก ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในละแวกใกล้เคียงและผู้ใช้แรงงานในโรงงาน บริษัท ซุปเปอร์ฟาสท์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 43/4 หมู่ 4 ต.หนองข้างคอก อ.เมืองชลบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะเครื่องปรับอากาศ มีแรงงานไทยและต่างด้าวกว่า 300 คน พบว่าผลการตรวจคัดกรองจาก รพ.เอกชนแจ้งว่าแรงงานติดเชื้อจำนวนมาก     แต่โรงงานยังดื้อดึงไม่ยอมปิด และบังคับให้ผู้ใช้แรงงานคนอื่นมาทำงานตามปกติ จึงลงพื้นที่ตรวจข้อเท็จจริงด้วยตนเอง พบว่ามีแรงงานกว่า 300 คนกำลังหอบเสื้อผ้าเตรียมไปกักตัวในพื้นที่อื่น และพบว่ามีผู้ติดเชื้อประมาณ  50 คน และโรงงานได้ซื้ออุปกรณ์การตรวจมาตรวจเอง พบว่ามีผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 80 คน จึงได้ประสานงานกับผู้ประกอบการและให้คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ชลบุรีสั่งปิดโรงงาน พร้อมทั้งกักตัวแรงงานทั้งหมดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
    ที่ จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 132 ราย เสียชีวิต 7 ราย 
    ที่ จ.ภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ตได้ปิดทำการชั่วคราว 3  วัน ตั้งแต่วันที่ 23-25 ก.ค.เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในอาคาร ภายหลังนายธชานนท์ อังคณาพิลาศ สมาชิกสภาเทศบาลนครภูเก็ต แจ้งผลติดเชื้อโควิด-19. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"