ถือเป็นข่าวดีของคนไทย เมื่อผลงานโฆษณา Bok Choy กวางตุ้ง ซึ่งเป็นการรณรงค์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อปลุกกระแส "กินผักตามฤดูกาล" ลดเสี่ยงปนเปื้อนสารเคมีนั้นได้รับรางวัลเหรียญเงิน หรือระดับ Silver จากเมืองคานส์ เมื่อเร็วๆ นี้
สสส.เป็นองค์กรเดียวของไทยที่คว้ารางวัลใหญ่ และถือเป็นรางวัลสูงสุดในเมืองไทยปีนี้ ด้วยการชี้ชวนให้ทุกคนรู้จักกินสารพัดผักพื้นบ้านหาง่าย ทั้งผักบุ้ง กระเฉด ผักโขม อร่อย มีประโยชน์ตามฤดูกาล โดยเฉพาะถ้าสามารถปลูกในสวนด้วยตัวเองก็ยิ่งปลอดภัย
เบื้องหลังของรางวัลอันน่าภาคภูมิใจดังกล่าวนี้ "สุพัฒนุช สอนดำริห์" ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า สสส.มุ่งหวังให้คนไทยหันมากินผักให้มากขึ้น และเลือกกินผักตามฤดูกาล โดยสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนไทยกินผักให้เพียงพอ และปลอดภัย ผ่านการสื่อสารรณรงค์ในสังคม
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 มีการประกาศรางวัลให้โฆษณา ชุด Bok Choy (กวางตุ้ง) ได้รับรางวัลระดับเหรียญเงิน (Silver) ในหมวดภาพยนตร์ (Film) จากงาน Cannes Lions International Festival 2021 ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของปีนี้ที่ประเทศไทยได้รับ และมีเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับรางวัลถึงระดับ Silver นำมาซึ่งความภูมิใจให้กับประเทศไทย
รางวัล Cannes Lion Silva-Snap
“ดีใจมากที่ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัล ช่วงต้นปี 2563 ที่มีการเผยแพร่โฆษณาชุดนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี คนไทยชื่นชอบ เห็นประโยชน์ มียอดผู้เข้าชมในยูทูบมากกว่า 20 ล้านครั้ง ที่สำคัญมองว่า เป็นการสะกิดให้คนเลือกกินผักที่ปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมการกินผักของคนไทย มักกินผักที่ไม่ทราบแหล่งที่มามากกว่าผักตามฤดูกาลที่ปลอดภัยใกล้บ้าน สสส.ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะผักที่ซื้อมาปรุงอาหารอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การกินผักที่สะอาดและปลอดภัย ไม่ใช่แค่การเลือกผักที่ดูสด หรือล้างให้สะอาดเท่านั้น แต่การกินผักให้ตรงตามฤดูกาลก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งถ้าทุกคนไม่กินผักนอกฤดูกาล การเพาะปลูกผักนอกฤดูของเกษตรกรก็จะลดลง รวมถึงการใช้สารเคมีต่างๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย” นางสาวสุพัฒนุชกล่าว
สุพัฒนุช สอนดำริห์
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2564 เป็น “ปีแห่งผักและผลไม้สากล” (International Year of Fruits and Vegetables, 2021) เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของผักและผลไม้ในเวทีระดับนานาชาติและระดับโลก ซึ่งปัจจุบันกระแสใส่ใจสุขภาพมีมากขึ้น จากผลสำรวจสถานการณ์การกินผักและผลไม้ในประเทศไทย ปี 2561-2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยมีแนวโน้มกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้เพียงพอ ร้อยละ 34.50 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 38.7 ในปี 2562
อย่างไรก็ตาม นอกจากการสื่อสารรณรงค์ในสังคมเพื่อกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการกินผักผลไม้แล้ว สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายยังได้สนับสนุนให้รัฐบาลแสดงบทบาทนำด้านการส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเสนอให้ยกระดับประเด็นการบริโภคผักผลไม้เป็นเป้าหมายระดับชาติ พร้อมการขับเคลื่อนเพื่อจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ส่งเสริมมาตรการให้เกษตรกรปลูกผักผลไม้ปลอดภัยหรืออินทรีย์ เชื่อมโยงผลผลิตปลอดภัยหรืออินทรีย์เข้าสู่ครัวโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2579
ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่มิถุนายน-ตุลาคม ผักที่ปลูกแล้วดูแลง่าย และมีรสชาติอร่อย เป็นผักมีน้ำเยอะ หรืออยู่ในน้ำ เช่น กุยช่ายดอก กุยช่ายใบ ขิง ข่า ชะอม ดอกขจร ดอกโสน ตำลึง ถั่วฝักยาว น้ำเต้า บัวบก ใบขี้เหล็ก ใบแมงลัก ผักปลัง ผักกระเฉด ผักกูด ผักโขม ผักบุ้งนา ผักแว่น ผักหวานบ้าน ฟักเขียว มะเขือพวง มะเขือส้ม หรือถ้าเป็นผลไม้ เช่น ส้มโอ ลิ้นจี่ สับปะรด มะเฟือง กล้วย จะเห็นว่ามีผักผลไม้หลายชนิดมาก เพราะผักและผลไม้ของบ้านเราหาได้ไม่ยาก มีขายในท้องตลาด เพียงแต่ต้องเลือกชนิด ความสด สะอาด โดยเฉพาะปลอดสารพิษได้ก็จะยิ่งดี หรือหากปลูกเองยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้ไม่มีสารตกค้างในร่างกายเพิ่มตามมาด้วย
สำหรับผลงานโฆษณาชุดกวางตุ้ง ยังได้รับรางวัล Gold ประเภท Public Interest-Health safety จากงาน Epica Awards 2019, รางวัล Bronze ประเภท Strategy & Technique: Copywriting & Storytelling จากงาน 2020 PHNX Tribute (by Adforum) ทั้งนี้ สามารถติดตามชมภาพยนตร์โฆษณาได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=lP4bnsiK9gk
ถอดรหัสโฆษณา Bok choy:กวางตุ้ง
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปี 2563 กระแสรักสุขภาพเป็นหนึ่งกระแสที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจกันอย่างมาก ภาพยนตร์โฆษณาชุด “Bokchoy” ถือเป็นภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่จาก สสส.ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั่วทั้งในและนอกประเทศในขณะนี้ โดยภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ถูกสร้างสรรค์โดยทีมงาน Leo Burnett ประเทศไทย ในเครือ Publicio Groupe ซึ่งหยิบประเด็นที่สะท้อนสังคมปัจจุบันที่เกี่ยวกับการบริโภคผักของคนไทย ที่มักนิยมกินผักตามใจตนเองมากกว่ากินตามฤดูกาล แต่พฤติกรรมและความนิยมเหล่านั้นมีผลกระทบที่น่ากลัวตามมาคือ การปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ได้บอกเล่าเรื่องราวของการรับประทานผักที่ไม่ใช่แต่การรับประทานผักเป็นธรรมดา แต่เป็นการรับประทานผักอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด มีการหยิบยกเรื่องประเด็นที่ผู้คนรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้สนใจเรื่องการรับประทานผักตามใจความอยาก รับประทานผักนอกฤดูกาล ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพมากระตุ้นให้เกิดกระแสในสังคม ภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้เป็นหนึ่งในแคมเปญ “ผลักดันให้ผักนำ” ของ สสส.ที่มุ่งหวังให้คนไทยหันมารับประทานผักให้มากขึ้นและเลือกกินให้ถูกเพื่อประโยชน์สูงสุด
การนำเสนอถึงวิธีการที่จะบริโภคผักให้สะอาดและปลอดภัยที่สุด การเลือกผักที่ดูสดหรือการล้างให้สะอาดอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สสส.จึงได้บอกเล่าวิธีการที่ดีที่สุด นั่นคือการรับประทานผักให้ตรงตามฤดูกาล โฆษณาชุดนี้ทำให้คนดูอมยิ้ม ปนหัวเราะด้วย Mood&tone ที่ตลก ไม่เครียด รวมถึง Acting ของเหล่านักแสดงในเรื่องช่วยทำให้โฆษณาชุดนี้น่าสนใจ
ก่อนหน้านี้ สสส.ผลิตภาพยนตร์โฆษณาหลายชิ้น เพื่อกระตุกสังคมไทยและการสร้างค่านิยมใหม่จากสโลแกนโฆษณา “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” "งดเหล้าเข้าพรรษา” “ลดพุงลดโรค” “จน เครียด กินเหล้า” ทั้งนี้ผลิตผลงานโฆษณามาแล้วมากกว่า 250 ชิ้น เพื่อมุ่งเน้นการขับเคลื่อน รณรงค์ สื่อสารสังคมของ สสส. ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผอ.สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม
ภาพยนตร์โฆษณาลดเร็ว ลดเสี่ยง ชุดต่อรองได้รางวัล Gold TVC.categories สสส.ได้รับรวม 15 รางวัล final list 3 รางวัล จากเวทีการประกวด Adman Awards 2019 ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวของเบื้องหลังการผลิตสื่อรณรงค์ ที่กว่าจะออกมาเป็นผลงานเผยแพรออกสู่สายตาสาธารณะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย.
มารู้จัก..กินผักตามฤดูกาล
กินผักตามฤดูกาลนอกจากอร่อยแล้วยังลดเสี่ยงสารเคมีอีกด้วย ใครที่นึกไม่ออกก็ลองเปิดตารางแนะนำนี้ดู
ฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม)
1.ฟักทอง 2.มะเขือเปราะ 3.เห็ดฟาง 4.แตงกวา 5.ใบแมงลัก 6.ใบเหลียง 7.หอมหัวใหญ่ 8.มะระ 9.แตงโมอ่อน 10.บีตรูต 11.กระเจี๊ยบเขียว 12.ผักหวานป่า 13.คะน้า 14.กะเพรา 15.ถั่วพู 16.มะเขือเทศ 17.มะนาว 18.มะเขือพวง 19.ถั่วฝักยาว
ฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม)
1.มะเขือพวง 2.กระเจี๊ยบเขียว 3.ขิง ข่า 4.ผักบุ้งจีน 5.ผักแว่น 6.ผักโขม 7.ดอกโสน 8.ผักเขียว 9.ผักหวานบ้าน 10.ตำลึง 11.ใบบัวบก 12.ชะอม 13.น้ำเต้า 14.กะเพรา 15.ผักกูด 16.หัวปลี 17.สะระแหน่ 18.ถั่วฝักยาว 19.หน่อไม้ 20.มะเขือส้ม 21.ผักบุ้งนา 22.ดอกขจร 23.มะนาว 24.สายบัว 25.กุยช่ายดอก 26.กุยช่ายใบ 27.ผักปลัง
ฤดูหนาว (พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์)
1.ตะลิงปลิง 2.ผักสลัด 3.ผักกาดหอม 4.ดอกแค 5.สะเดา 6.กวางตุ้ง 7.ปวยเล้ง 8.มะรุม 9.ผักปลัง 10.ผักชี 11.คะน้า 12.กะเพรา 13.ดอกกะหล่ำ 14.กะหล่ำปลี 15.ถั่วลันเตา 16.แครอต 17.พริกหวาน 18.ลูกเหรียง 19.ผักกาดขาว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |