เมื่อวานผมเขียนถึงประเด็นที่คนของ ศบค.เริ่มพูดถึง “อู่ฮั่นโมเดล” ที่อาจจะจำเป็นสำหรับประเทศไทย หากมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร
หลายคนที่ติดตามแนวทางของรัฐบาลจีนในการสู้กับโควิด อาจจะรู้ว่าเขาใช้สูตรที่มีส่วนผสมหลายอย่างในการสกัดโควิดเมื่อโผล่มาเป็นคลัสเตอร์ใหม่
ล่าสุดก็มีกรณีที่เมืองกว่างโจวทางใต้ที่เป็นศูนย์การพาณิชย์สำคัญของจีน
ทำให้เกิด “กว่างโจวโมเดล” ขึ้นมา เพราะเขาพบว่าต้องสู้กับโควิดสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์อย่าง Delta
จึงต้องปรับสูตรของอู่ฮั่นให้สอดคล้องกับการที่ไวรัสตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์แพร่ระบาดรวดเร็วและรุนแรงขึ้น
ต้องไม่ลืมว่าตอนที่เกิดอู่ฮั่นนั้น จีนยังไม่ได้ผลิตวัคซีนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองด้วยซ้ำไป
ดังนั้น ถ้าไทยเราจะเรียนรู้จากประเทศอื่นก็ต้องพิจารณาบริบทที่ปรับเปลี่ยนไปด้วย
จริงๆ แล้วคำว่า “โมเดล” ของจีนที่เชื่อกันว่าประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ Lockdown อย่างจริงจังเท่านั้น
แต่ยังต้องมีมาตรการที่เดินพร้อมกันไปอย่างจริงจังและเข้มข้น
เพราะการล็อกดาวน์เป็นเพียงการซื้อเวลาชั่วคราวเท่านั้น แต่การจะทำให้มีผลยั่งยืนและเป็นรูปธรรมจะต้องมีการทำงานพร้อมๆ กันไปอีกหลายเรื่อง เช่น
วันก่อนผมชวน ดร.ปิติ ศรีแสงนาม สนทนาเรื่องนี้ ได้ข้อมูลและบทสรุปหลายประเด็นที่รัฐบาลไทยต้องนำมาปรับใช้อย่างจริงจัง จึงจะสามารถเห็นผลทางปฏิบัติได้ เช่น
1.ต้องตัดสินใจล็อกดาวน์อย่างเร่งด่วนและทันกับสถานการณ์ นั่นหมายถึงการกล้าตัดสินใจ โดยที่ตระหนักว่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับสูง
ตอนเกิดเรื่องครั้งแรกที่อู่ฮั่นนั้น ผู้นำจีนรู้ว่าเมืองนี้เป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ของจีน มีระบบทางด่วน ระบบรถไฟความเร็วสูง เหนือ-ใต้-ออก-ตก และเป็น “ชุมทาง” หรือ Interchange ที่อู่ฮั่น
อีกทั้งผู้นำระดับชาติและระดับเมืองกล้าปิดเมืองในวันตรุษจีน ที่คนจีนเดินทางนับหลายร้อยล้านคนขณะที่ เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู
กรณีกว่างโจวก็เช่นกัน เมืองนี้เป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งที่ค้าขายระหว่างประเทศมากที่สุด คู่กับเขตเศรษฐกิจฮ่องกง, มาเก๊า ในกว่างโจว
พอตรวจพบว่าผู้หญิงอายุ 75 ปีรายแรกที่ติดเชื้อเดลตาที่นั่น จีนก็ระดมสรรพกำลังทันที
พอเห็นว่าจำเป็นต้องปิดเมืองเพื่อรักษาชีวิต เขาทำทันที ภาวะผู้นำต้องกล้าตัดสินใจบนข้อมูลที่รอบคอบและรอบด้าน
และที่สำคัญคือต้องมีแผนการรองรับ
2.เร่งตรวจเชื้อเชิงรุก 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แม้ฝนตก แดดออก กลางดึก ก็มีอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนออกไปเชิญชวนให้คนมาตรวจคัดกรอง
3.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่เลือกปฏิบัติ จัดการกับผู้ละเมิดกฎกติกาอย่างจริงจัง ไม่มีการเล่นเส้น ไม่มีการยกเว้นให้อภิสิทธิ์ชน
4.ขณะเดียวกันก็ต้องจัดหาอาหารและสิ่งของจำเป็น เพื่อส่งกำลังบำรุงให้ประชาชนอย่างไม่ขาดแคลน
เขาใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างครบถ้วน นั่นคือทำผ่านระบบ Mini-Application บนโทรศัพท์มือถือ
ทุกคนในพื้นที่จะไม่สามารถออกนอกที่พักอาศัยได้ ยกเว้นกรณีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ทุกคนถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องใช้ app เป็น
5.และที่สำคัญมากๆ คือ ในจังหวะเดียวกันนั้นทางการต้องเร่งฉีดวัคซีนให้มากที่สุด
และแม้เมื่อเปิดเมืองได้ก็ยังต้องบังคับการรักษาระยะห่าง Social Distancing จนเมื่อมั่นใจว่าทั้งเมืองปลอดเชื้อแล้วจึงยอมผ่อนคลายมาตรการนี้ลงไปได้บ้าง
6.ใช้ AI+GPS+QR code+Mini Application ในการบ่งชี้พื้นที่เฝ้าระวัง บ่งชี้ว่าใครสามารถเดินทางได้หรือไม่ได้ และได้แค่ไหน รวมทั้งเฝ้าระวังว่ามีใครละเมิดกฎกติกาหรือไม่
7.ที่ลืมไม่ได้คือต้องมีการวาง “แผนเผชิญเหตุ” อย่างชัดเจน รัดกุม รอบด้าน (ทั้งเรื่องมาตรการ กำลังคน อุปกรณ์ และงบประมาณ) เพื่อให้ประชาชนเชื่อใจและมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับปัญหาได้
ดร.ปิติสรุป “แผนปฏิบัติการ” ที่ครบทุกมิติอย่างนี้ เป็น “พิมพ์เขียว” ให้รัฐบาลไทยต้องพิจารณาทำแผนอย่างจริงจัง
หากถึงวันที่ต้องทำเป็น Bangkok Model ที่ไม่เหมือนกับที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้...ซึ่งวันนั้นอาจจะอยู่ไม่ไกลจากวันนี้นัก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |