จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 นับวันก็จะมีผู้ติดเชื้อสูงมากขึ้นในกรุงเทพฯ และ 10 จังหวัดใกล้เคียง การเรียนการสอนของเด็กในวันนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเด็กๆ จะคืนกลับสู่ชีวิตเดิมที่โรงเรียนได้เมื่อไหร่?!?
ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) TPAK จัดการเสวนาทางCLUBHOUSE Talk club EP.2 “ฟังเสียงหนูหน่อย: ความรู้สึกที่ต้อง LEARNING FROM HOME” ล้อมวงฟังเสียงสะท้อน พร้อมค้นหาคำตอบว่า เด็กรู้สึกอย่างไร เมื่อต้องเรียนออนไลน์ เรียนออนไลน์กับเรียนที่โรงเรียน ต่างกันอย่างไร แล้วเรียนวิชาพละอย่างไรในออนไลน์
ในมุมมองของเด็กๆ ที่มาร่วมพูดคุย ด.ญ.จันทร์เจ้า วัย 12 ปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง น้องเฟรช น้ำ นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนในจังหวัดนครปฐม และยังมีน้องกอล์ฟ วอน มิ้นท์ ไนน์ นักเรียนชั้น ม.6 ในกรุงเทพฯ มีประเด็นที่เหมือนกันคือ พฤติกรรมในการรับประทานอาหารเช้าเป็นเรื่องสำคัญต่อการเรียน สมองอ่อนล้าจากการเรียน อีกทั้งมีการบ้านเยอะมากกว่าการเรียนปกติ มีเวลาว่างลดน้อยลง การทำกิจกรรมทางกายมีเพียง 1 ใน 4 ทำกิจกรรมทางกายที่เพียงพอยังไม่สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้เยาวชนมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสมในการดำเนินชีวิต ค่าเทอม ค่าใช้จ่ายด้าน ICT การทำกิจกรรมเข้าค่ายต้องจ่ายเหมือนเดิมทั้งๆ ที่ไม่ได้นำมาใช้ที่บ้าน การตั้งเป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และดับฝันอาชีพเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้
ด.ญ.จันทร์เจ้า เล่าถึงการเรียนออนไลน์วันละ 6 ชั่วโมงว่า ครูจะนำเสนอด้วยแผ่นภาพสไลด์ทางหน้าจอ การจ้องจอนานๆ ทำให้เสียสายตา บางครั้งฟังไม่เข้าใจ ไม่มีจังหวะได้ซักถาม ครูอธิบายไม่กระจ่างเหมือนกับการสอนในห้องเรียน ครูให้การบ้านเยอะมาก โดยที่ครูใช้คำพูดว่าเราไม่ได้เจอกันก็ขอฝากการบ้านไปให้ทำ แต่ครูไม่ได้คิดว่าครูคนอื่นๆ ก็ให้การบ้านนักเรียนเหมือนกัน ทำให้เด็กต้องอยู่กับการทำการบ้านเป็นเวลานานทำให้เกิดความเครียด แม้ว่าจะมีการให้พักเที่ยง 1 ชั่วโมง แต่รู้สึกไม่เพียงพอ เนื่องจากอยู่บ้านกับคุณย่า คุณย่าใช้ให้ออกไปซื้อของ กลับมาก็ต้องต้องทำกับข้าว จะให้คุณย่าทำกับข้าวคุณย่าก็สูงวัยเดินไม่ไหวแล้ว บางครั้งรับประทานอาหารไปด้วยและเรียนหน้าจอไปด้วย ไม่มีสมาธิ ปรากฏว่าคาบนั้นเรียนไม่รู้เรื่อง
“ข้อดีของการเรียนออนไลน์ก็คือเรียนที่บ้าน เป็นการประหยัดค่าน้ำมัน แต่งตัวสบายๆ มานั่งเรียนก็ได้ ช่วยฝึกฝนให้เรามีความชำนาญและคล่องตัวในการใช้อุปกรณ์ออนไลน์ การตัดต่อคลิปเพื่อส่งงานได้มากขึ้น ส่วนข้อเสียคือ พอเป็นการเรียนที่ไม่รู้ว่าโรงเรียนจะเปิดเรียนเมื่อไหร่ ทำให้ผัดวันประกันพรุ่งในการทำการบ้าน ไม่ต้องทำวันนี้ก็ได้ ค่อยไปทำวันพรุ่งนี้ ดังนั้นการเรียนออนไลน์ต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจ ห้ามเครียดและอย่าหมกมุ่นจนเกินไป หาทางผ่อนคลายให้กับตัวเอง เอาตัวออกจากตรงนั้น 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยไปทำการบ้านต่อ”
การนั่งเรียนทางออนไลน์ครั้งละนานๆ หนูอายุ 12 ปี นั่งเก้าอี้แช่นานๆ ครั้งละ 3-4 ชั่วโมง หนูจะมีอาการปวดบวม โรคออฟฟิศซินโดรมลามมาถึงเด็กๆ ที่เรียนทางออนไลน์ ปวดท้ายทอยเพราะต้องจ้องหน้าจอครั้งละนานๆ อีกทั้งมีปัญหา สายตาพร่ามัวด้วย
การเรียนที่โรงเรียนได้มีโอกาสที่พบเพื่อนพูดคุยสารพัดเรื่อง บางชั่วโมงถ้าไม่อยากเรียนก็เล่นปากกา แอบกินขนมเป็นสีสันในห้องเรียน ในขณะที่เรียนออนไลน์จะปรึกษากันแต่เรื่องปัญหาการเรียน แทบจะไม่ได้มีจังหวะพูดคุยปรึกษาเรื่องอื่นๆ เหมือนอยู่ที่โรงเรียน มีการวิ่งเล่น ได้เคลื่อนไหวร่างกายกับเพื่อน บางบ้านไม่ได้มีพื้นที่กว้างพอที่จะออกกำลังกายได้ อีกทั้งไม่มีอุปกรณ์ครบตามที่ครูสั่ง ในขณะที่ รร.มีอุปกรณ์ครบมากกว่า
ชีวิตประจำวันของการเรียนออนไลน์ก็ต้องตื่นนอนแต่เช้าเหมือนเดิม มีการเตรียมตัวอาบน้ำล้างหน้ากินข้าว จัดตารางสอนเหมือนไปโรงเรียน ปกติครูจะให้แนวทางการเรียนล่วงหน้าก่อนที่จะเรียน วิชาพลศึกษาครูให้ไปวิ่งแล้วตัดต่อส่งให้ครูดู “หนูเรียนก็เหนื่อยกับการบ้านพอแล้ว ยังต้องออกไปวิ่งรอบหมู่บ้าน หนูจะชวนย่าออกไปวิ่ง ย่าก็วิ่งไม่ไหวแล้ว หนูวิ่งแค่ 1 นาที วิ่งทิพย์แล้วมาตัดต่อให้ยาวขึ้นเพื่อเป็นการบ้านส่งครู เพราะหนูก็ไม่อยากจะเหนื่อยไปกว่านี้ แต่ตอนที่หนูอยู่โรงเรียนจะเดินรอบโรงเรียน นักกีฬาก็จะซ้อมกีฬาบ่อยๆ”
การเรียนออนไลน์ครูมักจะพูดดักคอว่าให้นักเรียนทำการบ้านเอง อย่าลอกการบ้านกัน เพื่อนบางคนขยันก็ให้ลอกการบ้าน บางคนขยันไม่ให้ลอกก็มี เพราะบางครั้งเขาก็ยังทำการบ้านไม่เสร็จเหมือนกัน เพื่อนบางคนเรียนไม่เข้าใจก็มาให้เราสอน ติวเพิ่มอีก เราเรียนก็เหนื่อยแล้ว ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรให้เพื่อนเข้าใจ ตัวเราก็เครียดกับการเรียนอยู่แล้วด้วย
ขณะที่ ไนน์ นักเรียนชั้น ม.6 เล่าประสบการณ์เรียนออนไลน์ว่า ตื่นเช้าก็ออกไปหาอาหารนอกบ้าน ยังไม่ทันได้กินอะไรก็ถูกตามให้กลับบ้านมาเรียนออนไลน์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้กินข้าวเช้า “ผมเป็นคนตื่นเช้ามาก แต่ก็ยังทำอะไรไม่ทัน อาบน้ำไม่เป็นเวลา ทำให้งานคั่งค้างพอกไปเรื่อยๆ ครูสั่งการบ้านให้เขียนและถ่ายรูปส่งใน Mocrosoft Team แต่ละวันใช้เวลาเรียนอยู่หน้าจอตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น หลัง 5 โมงเย็นก็ยังต้องทำการบ้านต่อ เพราะอยากทำการบ้านให้เสร็จแต่ละวัน ครูบางคนก็เข้าใจเด็ก ให้พักก่อนเวลาก็มี แต่บางคาบก็สอนจนหมดเวลา
ปัญหาความเครียด ข้อกังวลใจจากการเรียนการสอน โดยเฉพาะเมื่อต้องเตรียมตัวในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เกรดที่จะต้องนำไปใช้ เปลี่ยนระบบการสอบ ไม่มีการสอบ Error! Hyperlink reference not valid. ก็ต้องอ่านวิชาสามัญให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม วิชาที่จะนำมาใช้สอบแข่งขันเป็นวิชาที่ค่อนข้างยาก อีกทั้งยังมีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีเวลาขยับเขยื้อนร่างกายเหมือนกับการเรียนที่โรงเรียน
กอล์ฟเล่าถึงประสบการณ์ว่า การเรียนออนไลน์ทำให้เปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ชีวิต กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการเรียน ม.6 มีความเครียดอยู่แล้วเพราะต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในช่วงนี้ต้องเตรียมทำหนังสือรุ่น สังคมหายไปแล้วส่วนหนึ่ง พ่อแม่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดมีความเครียดสูง ต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียนทางออนไลน์ให้ลูกครบถ้วน “แม่ถามผมว่า กอล์ฟเหนื่อยไหมเรียนออนไลน์ แม่ไม่กดดันผมเลย จะบอกว่าเหนื่อยก็ไม่กล้า จะบอกว่าไม่สบายก็ไม่สบาย”
ชีวิตในการเรียนชั้นมัธยมเราควรจะได้อยู่กับเพื่อนๆ มีการทำกิจกรรมร่วมกัน การออกค่าย แต่ทางโรงเรียนเก็บเงินค่ากิจกรรมต่างๆ การเข้าค่าย ปีที่แล้วไม่ได้ไปค่ายก็ยังไม่ได้คืนเงิน ปีนี้เก็บเงินค่าเข้าค่ายก็ไม่ได้ไปอีก แม่ก็คอยถามว่ายังไงกอล์ฟ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบแม่อย่างไร เพราะจ่ายค่าคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ ICT จ่ายเงินไปแล้วทั้งหมดแต่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ที่โรงเรียน การเรียนที่บ้านบางครั้งครูก็ไม่ถนัดในการใช้อุปกรณ์ ครูไม่พร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ครูสารภาพว่าครูไม่ถนัดในการใช้ google Microsoft Team Zoom Line เมื่อนักเรียนขอให้ครูบันทึกการสอนทำเป็น app ได้ไหม เพื่อนักเรียนจะได้ทบทวนการเรียนใหม่ได้
บางครั้งการเรียนทางออนไลน์ไม่เข้าใจ ขอเป็นคลิป ครูทำเป็นคลิปไม่เป็น นักเรียนจะต้องเตรียมตัวสอบก็อยากจะดูคลิปย้อนหลังเพื่อทบทวนบทเรียน ปัญหาเหล่านี้ครูด้วยกันก็ไม่ค่อยอยากจะเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กัน เพราะเป็นสิทธิส่วนตัว การสอบ Take Home เปิดหนังสือหรือถามเพื่อนได้ เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นการเตรียมตัว แต่คำตอบส่วนใหญ่ก็มีอยู่ในกูเกิลทั้งหมด
เฟรชเล่าว่า การเรียนออนไลน์ทำให้โฟกัสกับการเรียน ไม่ต้องว่อกแว่กกับสิ่งเร้าอย่างอื่น มีการบ้านเยอะมากกว่าการไปเรียนที่โรงเรียน สำคัญที่สุด ปากกาไม่หาย อยู่ครบ เมื่อเรียนที่บ้านต่างจากเวลาไปเรียนที่โรงเรียน เพื่อนยืมปากกาแล้วหายประจำ ปรากฏว่าในช่วงนี้เพื่อนเย้าแหย่ว่าเสน่ห์ของการมาเรียนก็คือของหาย เพื่อนได้ไปใช้ เป็นการเล่นกับเพื่อนๆ
จีจี้ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ แสดงความเห็นว่าตลอด 10 ปีบ้านมีไว้เป็นที่พักผ่อน แต่ในช่วง 2 ปีหลังต้องมาเรียนออนไลน์ เกิดความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต ตื่นนอนตี 5 เตรียมตัวไปโรงเรียนช่วง 6 โมงเช้า เรียนหนังสือคาบแรกช่วง 08.30 น. เริ่มเรียนตั้งแต่เช้า มีความเครียด พูดภาษาจีนไม่เลิศ ครูเริ่มต้นตั้งคำถามมีความกดดันต้องตอบให้ได้ เกิดเป็นความเครียด ถ้าตอบไม่ได้จะรู้สึกอับอาย
เด็กโตบางคนยังมีพฤติกรรมหลังจากเรียนออนไลน์แล้วก็นอนดูภาพยนตร์ซีรีส์ติดต่อกันอีกหลายชั่วโมงเพื่อผ่อนคลาย ปรากฏว่าอยู่ในอิริยาบถเดิมๆ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า เพลีย เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ บางครั้งก็เลือกเล่นเกมอย่างต่อเนื่อง
เสียงสะท้อนเหล่านี้ถือเป็นความรู้สึกจากใจของเด็กๆ ซึ่งผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกันทบทวน พิจารณา เพื่อสามารถปรับแนวคิด หรือวิธีการที่สามารถเข้าถึงเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไปได้นั่นเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |