ภาพ : ไทยพีบีเอส
วันที่ 23 ก.ค. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีต่อวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในสถานการณ์โควิด-19 ในรูปแบบออนไลน์จากผู้ตอบแบบสอบถาม 7,165 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค โดยมีผลสรุปดังนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าช่วงวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติตนยึดมั่นในศีล 5 ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มน้ำเมา สุราและไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่พูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด
ขณะเดียวกันผลสำรวจได้สอบถามถึงหลักธรรมที่ควรนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในสถานการณ์โควิด-19 พบว่า อันดับ 1 อริยสัจ 4 ได้แก่ 1.ทุกข์ ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล 2.สมุทัย ไม่ประมาท และป้องกันตนเอง 3.นิโรธ ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยง และ 4.มรรค เปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพอนามัย อันดับ 2 มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 1.สัมมาทิฏฐิ ติดตามสถานการณ์ ไม่ตื่นตระหนก 2.สัมมาสังกัปปะ เสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ 3.สัมมาวาจา อ่าน ติดตาม ส่งต่อเฉพาะข่าวจริง 4.สัมมากัมมันตะ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 5.สัมมาอาชีวะ ปฏิบัติตามคำแนะนำและรับมืออย่างมีสติ 6.สัมมาวายามะ ไม่พูด เขียน แชร์ข่าวหรือข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด 7.สัมมาสติ ร่วมมือกันเห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจกัน และ 8.สัมมาสมาธิ ใช้วันหยุดอยู่กับบ้าน ให้เกิดประโยชน์ และอันดับ 3 ทาน ศีล ภาวนา หลักป้องกันด้วยความรู้รักสามัคคี ประกอบด้วย 1.ทาน การให้วัตถุสิ่งของ ความรู้ สติ ปัญญา 2.ศีล การประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ 3.ภาวนา ใช้เหตุผลอย่างรอบด้าน ดูแลสุขภาพ และป้องกันตนเอง
นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ที่ วธ.จัดขึ้นเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 19-25 ก.ค. นี้ ผ่านทางเว็บไซต์และ สื่อออนไลน์ของกรมการศาสนา พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 59.76 กิจกรรมอยู่บ้านสร้างบุญ เช่น การทำวัตรเช้า-เย็น การรับศีล ฟังพระธรรมเทศนา ถวายไทยธรรม การปฏิบัติธรรม และเจริญสมาธิ อันดับ 2 ร้อยละ 44.89 รับชมวีดิทัศน์สัมโมทนียกถา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา และอันดับ 3 ร้อยละ 43.39 รับชมวีดิทัศน์คติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาและหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ส่วนกิจกรรมที่เด็ก เยาวชน และประชาชนจะทำ ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 56.48 ไหว้พระสวดมนต์ที่บ้าน อันดับ 2 ร้อยละ 55.66 ลด ละ เลิก อบายมุข และอันดับ 3 ร้อยละ 49.11 ทำบุญ ตักบาตรหน้าบ้าน
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ผลสำรวจได้สอบถามถึงสิ่งที่ประชาชนต้องการให้ วธ.ช่วยเหลือหรือสนับสนุนวัดและพุทธศาสนิกชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนใหญ่ระบุว่า ต้องการให้สนับสนุนค่าน้ำ-ค่าไฟ ข้าวสาร อาหารแห้งหรือจัดทำอาหารกล่อง หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เวชภัณฑ์ ยา ชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาวัด พุทธศาสนิกชน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งส่งเสริมให้วัดมีบทบาทในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในการดูแลป้องกันตนเองได้ตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิต สร้างขวัญกำลังใจและลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 เช่น จัดสวดมนต์ออนไลน์หรือกิจกรรมเทศนาหลักธรรมในการดำเนินชีวิตภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19