ข้อเสนอของ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" นับว่าดี....แต่ไม่มีเสียงตอบรับ
นั่นเพราะที่นี่ประเทศไทย
"....ขอเถอะครับ อย่ามองแต่ความขัดแย้งในอดีต เราตั้งพรรคเพื่อวันข้างหน้า เพื่ออนาคตเป็นสำคัญ ทำอย่างไรคนที่เคยเดินขบวนหนักจากคนละจุดยืน จะหันมาทุ่มเทสร้างพรรคใหม่ บ้างก็ปรับเปลี่ยนพรรคเก่า และยื่นดอกกุหลาบแดงไปให้พรรคฝ่ายที่เคยบาดหมางบ้าง
พรรคการเมืองทั้งหลายจะจมอยู่กับอดีตไม่ได้ จะแตกแยกต่อไป ไม่คิดใหญ่ และอาศัยแต่ไขสันหลัง ใช้แต่สัญชาตญาณเดิม เตรียมตัวฟาดฟันกันรอบใหม่ไม่ได้ เราจะฟื้นกลับไปสู่พฤษภา ๒๕๓๕ ก็ไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้กับตอนนั้นต่างกันมาก...."
นี่คงจะเป็นสองนคราประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติ
มวลชน กปปส.ถูกมองว่าเป็นชนชั้นกลาง
ส่วนมวลชนเสื้อแดงคือชนชั้นชาวไร่ชาวนาในชนบท
ก็น่าสนใจว่า อาจารย์เอนก จะทำให้ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย เดินไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริงหรือไม่ อย่างไร?
เมื่อครั้งกำเนิดทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย สภาพความขัดแย้งของคนในชาติไม่ได้สาหัสเช่นในปัจจุบัน
ในอดีตก็คือคนชนบทเลือกรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล หาใช่การปะทะกันโดยตรงระหว่างมวลชนไม่
แต่ปัจจุบัน ความขัดแย้งลงรากลึก ประชาชนแบ่งสีเสื้อชัดเจน
การสร้างความเข้าใจในทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมให้คนไทย ผ่านการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองนั้น สังคมไทยพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันหรือยัง?
ทำอย่างไรชนชั้นกลางในเมืองตั้งรัฐบาลได้ด้วย
ทำอย่างไรชาวไร่ชาวนาในชนบทตรวจสอบ ควบคุม รัฐบาลได้ด้วย
เพื่อเกลี่ยความรับผิดชอบทางการเมืองของประชาชน ระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทให้เท่าเทียมกัน
ไม่เป็นเพียงฐานให้นักการเมืองเหยียบขึ้นไปเพื่อเข้าสู่อำนาจ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองเลย
และที่สำคัญทำอย่างไรให้ประชาชนทั้งในเมือง ชนบท และนักการเมือง มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยไม่แตกต่างกันจนเกินไปนัก
คำพูดของอาจารย์เอนกใช่ว่าไม่สำคัญเสียทีเดียว เพราะการไม่ให้จมอยู่กับความขัดแย้งในอดีตนั่นคือประตูสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง ที่สังคมไทยควรตกผลึกร่วมกัน
แต่...เพราะที่นี่คือประเทศไทย ประเทศที่มองคำว่า "ประชาธิปไตย" ต่างกันสุดขั้ว มีอดีตที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง
ต่างฝ่ายต่างมีเหตุและข้ออ้างของตัวเอง และมองอีกฝ่ายเป็นฝ่ายทำลายล้าง จึงไม่แปลกที่ข้อเสนอของอาจารย์เอนก ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายใดเลย
ซ้ำร้ายถูกมองว่าไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง
ใช่ครับ...เพราะมองข้ามบางอย่างไป นั่นคือจุดเริ่มต้น
แม้จะมองเห็นปัญหาว่า ต้องลดความขัดแย้งของประชาชนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป แต่บทที่ยากที่สุดและตลอดกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้นั่นคือ
จะขจัดความขัดแย้งได้อย่างไร
มีทฤษฎีและผลของการปฏิบัติมากมายในโลกนี้ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การลดความขัดแย้งนั้น ถ้าชนชั้นนำไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยากที่จะสำเร็จ
ก็นำไปสู่คำถามว่า ชนชั้นนำของไทยเคยหยิบยื่นความปรารถนาดีที่จะสร้างความปรองดองอย่างจริงใจ และจริงจังกันหรือยัง
การยอมรับในความผิดพลาดที่ทุกฝ่ายต่างสร้างกันมาในอดีตเคยเกิดขึ้นหรือยัง
ประชาชนได้รับคำขอโทษบ้างหรือไม่
นักการเมืองคอร์รัปชันโกงกินสูบเงินจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชน บางคนถูกกล่าวหามือเปื้อนเลือดสั่งฆ่าประชาชน บางคนสั่งฆ่าประชาชนเพื่อสนองนโยบายทางการเมืองของตัวเองอย่างไร้ศีลธรรม
ทั้งหมดนี้เคยมีการสร้างความเข้าใจถึง ข้อเท็จ และ ข้อจริง ต่อประชาชนหรือยัง
ที่สำคัญประชาชนเองเคยพินิจพิเคราะห์ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรโดยปราศจากการชี้นำของนักการเมืองและผู้นำมวลชนบ้างหรือไม่?
ถ้าไม่...ก็ยังไม่อาจหลุดพ้นจากกับดักแห่งความขัดแย้งไปได้
และนี่คือโจทย์ที่ยากที่สุด
เมื่อประชาธิปไตยคือ อำนาจที่มาจากประชาชน ประชาชนก็ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร
วันนี้คุณเข้าใจความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่แท้จริงหรือยัง?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |