ห้ามมีคนตายริมถนน ‘บิ๊กตู่’สั่งทุกฝ่ายเร่งแก้ไข นิวไฮอีกป่วย13,655ราย


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” ทุบโต๊ะต้องไม่เกิดภาพคนป่วยโควิดนอนตายข้างถนน หรือติดเชื้ออยู่บ้านอีก สั่งทุกหน่วยงานเร่งคิดและแก้ไข “กทม.-ทหาร-ตำรวจ”  ประสานเสียงเร่งผุด รพ.สนาม ศบค.เปิดตัวเลขติดเชื้อใหม่ทำนิวไฮอีกแล้ว 13,655 ราย ส่งผลไทยขึ้นอันดับ 50 ของโลกในจำนวนผู้ติดเชื้อ คลัสเตอร์ใหม่โผล่พรึ่บรายวัน “ปากช่อง” ป่วนผู้ติดเชื้อใหม่กระฉูด ผวาคุมไม่อยู่ ส่วน “ปัตตานี” สถานะเตียงเริ่มวิกฤติ
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงปฏิบัติงานเวิร์กฟรอมโฮมที่บ้านพัก  โดยเมื่อเวลา 09.30 น. นายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอทุกหน่วยงานทำทุกวิถีทางลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่รออยู่ที่บ้าน และผู้ที่คอยรถมารับต้องไม่ให้ไปอยู่ตามถนนหนทาง ต้องไม่ให้เห็นภาพนี้อีกต่อไปอีก ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่สาธารณสุขเพียงอย่างเดียว ให้ช่วยกันทำและคิด ว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลสนาม
     มีรายงานอีกว่า นอกเหนือจากนายกฯ กำชับในที่ประชุม ศบศ.ต้องไม่มีภาพประชาชนมานอนรอความช่วยเหลือ ต้องไม่ให้มีภาพประชาชนนอนเสียชีวิตริมถนนอีก กทม.ทุกหน่วยที่รับผิดชอบต้องช่วยกันทำงานเชิงรุก ต้องบูรณาการ ต้องไม่โทษกันอีก ต้องนำผู้ป่วยออกจากบ้านไปยังศูนย์พักคอย เร่งจัดหาเตียง ส่งโรงพยาบาลสนาม หรือนำส่งโรงพยาบาล 
    ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. โพสต์เฟซบุ๊กถึงการเร่งขยายโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ได้ลงพื้นที่ดูความเรียบร้อยของอาคารไอซียูโมดูลาร์ 2 (Modular ICU 2) ที่ รพ.สนามราชพิพัฒน์ 2 เขตทวีวัฒนา ที่ได้รับความร่วมมือจาก SCG ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยสีแดงได้จำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 อาคาร จากทั้งหมด 4 อาคาร โดยอาคารแรก 10 เตียง เปิดรับผู้ป่วยเมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเต็มแล้ว นอกจากนี้ กทม.ยังได้เร่งขยายศักยภาพการรักษาภายใน รพ. ทั้งปรับเปลี่ยนเตียงรองรับผู้ป่วยเคสสีเขียว เป็นเตียงผู้ป่วยเคสสีเหลือง 150 เตียง และเร่งสร้าง Modular ICU อีก 2 อาคาร เพื่อจะได้รองรับผู้ป่วยสีแดงได้อีก 40 เตียง คาดว่าจะสร้างเสร็จครบ 40 เตียง ภายในเดือน ก.ค.64 และ กทม.ได้ขยายเตียงดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดเคสสีแดงเพิ่มอีก 16 เตียง ที่ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน คาดว่าจะเปิดบริการภายในสิ้นเดือน ก.ค.เช่นกัน 
    พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ผอ.ศบค.19 ทบ.) กล่าวว่า ในส่วนของ ทบ. มี รพ.สนามทั่วประเทศที่ได้ร่วมกับ สธ.จังหวัด รวม 19 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 3,323 เตียง ซึ่งล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้หน่วยทหารทั่วประเทศใช้อาคารสโมสร หรืออาคารอเนกประสงค์ในค่ายทหารทั่วประเทศเป็น รพ.สนามศูนย์คัดกรอง เพื่อประเมินอาการและดูแลผู้ป่วยสีเขียวในเบื้องต้น ซึ่งในพื้นที่ กทม.จะใช้สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี จัดเตรียมตั้งเป็น รพ.สนามศูนย์คัดกรอง ซึ่งเมื่อเปิดดำเนินการจะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 300-400 เตียง
    ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตร.มีความพร้อมจัดตั้ง รพ.สนามโดยใช้สโมสรตำรวจเป็นสถานที่รองรับ เบื้องต้นวางแผนที่จะเปิดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวได้ 40-50 เตียง ขณะนี้กำลังขยายการปรับปรุงพื้นที่ เมื่อเสร็จสิ้นคาดว่าจะรองรับได้ 200 เตียง
    ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกฯ กล่าวถึงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประสานกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา เพื่อลดความหนาแน่นในการรองรับผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล ว่าล่าสุดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กองทัพบก และกระทรวงคมนาคม ได้ประสานความร่วมมือจัดรถรับ-ส่งผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่ต้องการกลับไปรักษายังภูมิลำเนาแล้ว โดยประชาชนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 อาการไม่รุนแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่ต้องการกลับไปรักษาตัวยังภูมิลำเนา สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1330 กด 15  หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ht tps://crmdci.nhso.go.th/
สั่ง13จังหวัดปิด10กิจการเพิ่ม
ส่วนนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะประธานมูลนิธิประชาปลอดภัย ระบุข้อความผ่านเพจมูลนิธิประชาปลอดภัย ว่าขอสนับสนุนโครงการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปดูแลรักษาที่ภูมิลำเนาของรัฐบาล แต่มีข้อเสนอแนะมาตรการ Refer back อย่างเป็นระบบ ดังนี้ 1.สธ.ต้องตั้ง NEOC (National emergency operation center) โดยด่วน ประมวลสถานการณ์ประจำวันคนติดเชื้อรายใหม่ทั้งผู้ป่วยสีเขียว เหลือง และแดง สถานภาพเตียง และ รพ.สนาม 2.Tele conference กับ ผอ.รพ., นพ.สสจ. 3.ทุกจังหวัดตั้ง PEOC รับแจ้งข่าว การส่งกลับ จาก กทม.และปริมณฑล และ 4.รายงานและติดตามประเมินผล และปรับยุทธวิธีตามสถานการณ์
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท.ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้สั่งการให้ กทม.และผู้ว่าฯ นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา หารือคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณามีคำสั่ง/ประกาศปิดสถานที่หรือกิจการให้เป็นไปตามมติ ศปก.ศบค.เพิ่มเติม 10 กิจการ ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ นั้น ให้ผู้ว่าฯ คณะกรรมการโรคติดต่อใช้ดุลพินิจพิจารณาปิดสถานที่ 10 กิจการ หรือกิจการเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร 
    วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่ามีรายใหม่ 13,655 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 13,099 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,254 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,845 ราย, มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 545 ราย, มาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 453,132 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 7,921 ราย หายป่วยสะสม 312,377 ราย อยู่ระหว่างรักษา 137,058 ราย อาการหนัก 3,856 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 889 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 87 ราย เป็นชาย 40 ราย หญิง 47 ราย โดยมากสุดอยู่ใน กทม. 44 ราย ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,697 ราย 
    ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยที่เพิ่มขึ้นทำสถิตินิวไฮใหม่ที่ 13,655 ราย ทำให้ประเทศไทยขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับ 50 จาก 220 ประเทศและดินแดนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 453,132 ราย    ขณะที่อันดับ 49 คือ ประเทศโบลิเวียมีผู้ติดเชื้อสะสม 465,351 คน เพิ่มขึ้น 1,174 คน
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ กทม. 2,893 ราย, สมุทรสาคร 965 ราย, สมุทรปราการ 895 ราย, ชลบุรี 620 ราย, นนทบุรี 416 ราย, ปทุมธานี 365 ราย, นครราชสีมา 293 ราย, ปัตตานี 289 ราย, สุพรรณบุรี 274 ราย และระยอง 261 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ 7 แห่ง ได้แก่ โรงงานขึ้นรูปโลหะ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ 15 ราย, บริษัทบรรจุภัณฑ์พลาสติก อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี 18 ราย, คลังห้างสรรพสินค้า อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 10 ราย, โรงงานแปรรูปไก่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 119 ราย, ที่ จ.ระยอง 2 แห่งคือ บริษัทอุปกรณ์สื่อสาร อ.ปลวกแดง 75 ราย แคมป์ก่อสร้าง อ.เมืองฯ 30 ราย และห้างวัสดุก่อสร้าง อ.เมืองฯ จ.ตราด 19 ราย  
    ส่วนนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ว่า ณ วันที่ 21 ก.ค.2564 เวลา 16.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 545 ราย โดยพบในเรือนจำสีแดง 455 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 90 ราย หายป่วยเพิ่ม 50 ราย รวมยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 4,320 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 แต่วันนี้พบเรือนจำที่แพร่ระบาดเพิ่ม 1 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี ส่งผลให้เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาดลดลงอยู่ที่ 112 แห่ง และเรือนจำสีแดง 21 แห่ง
หญิงท้องต้องเร่งฉีดวัคซีน 
พล.ท.สันติพงศ์กล่าวถึงทหารกองประจำการผลัด 1/2564 ที่เพิ่งเข้าประจำการใน 1 ก.ค.ว่า ได้ตรวจ 34,822 นาย พบติดเชื้อมาก่อนเข้าประจำการจำนวน 69 นาย คิดเป็น 0.19% ของทหารใหม่ผลัดนี้ทั้งหมด โดยตรวจพบในวันแรกที่เข้าหน่วยจำนวน 41 นาย และตรวจพบเพิ่มระหว่างกักตัวสังเกตอาการอีก 28นาย โดยปัจจุบันมียอดทหารใหม่ที่ติดเชื้อและยังอยู่ระหว่างรับรักษา 54 นาย
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563-20 ก.ค.2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 898 ราย เสียชีวิต 16 ราย กรมอนามัยจึงให้ความสำคัญโดยร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ผลักดันนโยบายให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ผ่านคลินิกฝากครรภ์ที่หญิงตั้งครรภ์ไปรับบริการอยู่ โดยให้หญิงตั้งครรภ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค
    ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. สธ.ได้มีนโยบายที่จะใช้ชุดตรวจอย่างรวดเร็ว หรือ ATK มาตรวจคัดกรองกรณีผู้ป่วยสงสัยโควิด-19 และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับ กทม.และ สธ. ทดลองนำร่องในการตรวจในชุมชนกว่า 50,000 ราย พบว่าได้ผลบวกประมาณกว่า 10% เมื่อนำไปเทียบกับการตรวจมาตรฐาน RT-PCR ก็พบว่ามีการตรวจผิดพลาดไปไม่เกิน 3% ทำให้ชุดตรวจ ATK ใช้ได้ผลดี และในสัปดาห์นี้มีมติในการขยายเพิ่มชุดตรวจ ATK ไปยังประชาชนในกลุ่มเสี่ยงบางส่วนให้ตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดหา และกรมควบคุมโรคก็จะวางแผนในการกระจายชุดตรวจ ATK 
    นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษา สธ. และโฆษก สธ. กล่าวว่า เมื่อใช้ชุดตรวจ ATK ในกรณีพบผลเป็นบวกจากการตรวจเอง ต้องประสานสายด่วน 1330 กด 15 อาการรุนแรงโทร. 1669 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา รวมไปถึงการดูแลตัวเองในเบื้องต้น หรือในกรณีมีทีมแพทย์เชิงรุกเข้าไปตรวจ ผลเป็นบวก ก็จะประเมินอาการว่ามีความจำเป็นในการเร่งเข้าสู่สถานพยาบาลหรือไม่ และแม้ว่าจะมีการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วเป็นลบ ก็ยังต้องปฏิบัติตนและป้องกันตนเองอย่างเข้มงวดตามมาตรการเช่นเดิม เพราะสถานการณ์การแพร่เชื้อก็ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ และอาจตรวจซ้ำอีกโดยเว้นระยะเวลา 3-5 วัน 
    ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า ขณะนี้ อย.ได้อนุมัติทะเบียนยาฟาวิพิราเวียร์ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้วิจัย พัฒนา และผลิตเองแล้ว เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มกระจายยาให้ผู้ป่วยได้ภายในต้นเดือน ส.ค. ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง วันที่ 21 ก.ค. พ.ศ.2564 ได้กำหนดให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุดเมื่อมีอาการ 
2 คลัสเตอร์ปากช่องป่วน
    สำหรับสถานการณ์โควิดในจังหวัดต่างๆ นั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 895   ราย และเสียชีวิต 2 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 278 ราย ส่วนผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบันมี 29,927 ราย 
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจความพร้อม รพ.สนามชุมชนหรือศูนย์พักคอย 100 เตียงของเทศบาลตำบลบ้านใหม่  
    ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์นั้น ล่าสุดพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อีก 151 ราย กระจายใน 16 อำเภอ แยกเป็นผู้ติดเชื้อพบในจังหวัด 1 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 150 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 1,937 ราย เสียชีวิตสะสม 5 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 335 ราย 
      ขณะที่โครงการอุ้มลูกหลานเซราะกราวกลับบ้านมารักษาที่บ้านเกิด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นั้น ล่าสุดคนบุรีรัมย์ที่ทำงานต่างจังหวัดติดเชื้อโควิดไม่มีที่รักษา ติดต่อขอรับบริการกลับบ้านแล้ว 276 คน ในจำนวนนี้ได้รับกลับบ้านแล้ว 162 ราย 
จ.นครราชสีมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าทุกวันถึง 146 ราย กระจายในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอทุกพื้นที่สีแดงหมด ไม่มีอำเภอใดเป็นสีเหลือง สีส้ม สีเขียว รวมผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมของ 3,739 ราย รักษาหายแล้ว 1,588 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 2,112 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมสะสมผู้เสียชีวิต 39 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมดพบว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้า 
นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า 2 คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.ปากช่อง ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง ในพื้นที่ บ.ถนนโค้ง ม.8 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 47 คน และต้องกักตัวคนงานทั้งหมด 336 คน รวมทั้งคลัสเตอร์ตลาดสดเทศบาลเมืองปากช่อง ที่มีพ่อค้าแม่ค้าติดเชื้อแล้วมากถึง 169 คน เฉพาะ 2 คลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากถึง 216 ราย ซึ่งได้สั่งการให้อำเภอเร่งสอบสวนโรคนำกลุ่มเสี่ยงทั้งประชาชนและรถพุ่มพวงที่รับสินค้าไปจำหน่ายต่อต้องรีบตรวจหาเชื้อโดยเร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อในวงกว้าง  เนื่องจากคลัสเตอร์นี้ยังไม่สามารถควบคุมได้
     ส่วนที่ จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 49 ราย ในขณะที่นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าฯ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้าน ในโครงการอำนาจเจริญ “เบิ่งแยงกัน” (ดูแลกัน) ตามมติ ครม. 
    ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้นั้น จ.ปัตตานี ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 263 คน ยอดสะสม 6,935 คน รักษาหาย 3,833 คน แต่ไม่มีผู้ผู้เสียชีวิตรายใหม่ ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ 74 ราย แต่ที่มีปัญหาคือจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอ ล่าสุด รพ.หนองจิกไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยรายใหม่แล้ว เช่นเดียวอีกหลาย รพ.ในอำเภออื่นๆ เริ่มมีผู้ป่วยรุนแรงครองเตียงเป็นจำนวนมาก และเริ่มรองรับไม่ไหว
    ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา ระบุว่า พบติดเชื้อใหม่ 253 ราย เสียชีวิต 3 คน ติดเชื้อสะสม 9,879 ราย เสียชีวิตสะสม 54 คน นอนโรงพยาบาล 2,763 ราย รักษาหายแล้ว 7,062 ราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"