“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุม “ตรีนุช-เอนก” ถกช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการศึกษา วาง 4 ข้อกำหนด “รมว.ศธ.” ลั่นเสนอเข้าที่ประชุม ครม. 27 ก.ค.นี้ ยึดหลักไม่ทิ้งเด็กและผู้ปกครองไว้ข้างหลัง “อว.” หั่นค่าเทอมขั้นบันได พร้อมลดรายบุคคลอีก 5,000 บาท เริ่มปีการศึกษา 2564 เชื่อมีเด็ก 1.75 ล้านคนได้ประโยชน์ “บิ๊กตู่” นัด 22 ก.ค.หารือเยียวยาเศรษฐกิจหลังพูดคุย 40 ซีอีโอพลัส ย้ำเดินหน้า 120 วันเปิดประเทศ!
เมื่อวันพุธที่ 21 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงเช้า และในเวลา 10.30 น. นายกฯ ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ต่อมาในเวลา 14.02 น. พล.อ.ประยุทธ์โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ระบุว่า "วันนี้ได้ประชุมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนในการช่วยลดภาระ ค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ครู นักเรียน และนักศึกษาให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มด้อยโอกาส ยากจน และกลุ่มผู้พิการ โดยมีแนวทางในด้างต่างๆ เช่น 1.มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียน 2.ขอความร่วมมือให้ลดหรือชะลอการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน 3.สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่สถานศึกษาเพื่อรองรับการเรียนแบบออนไลน์ และ 4.ช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างงาน
“ที่ประชุมได้มอบหมายให้ อว.และ ศธ.จัดทำรายละเอียดและขั้นตอนในการดำเนินการในมาตรการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้าครับ" พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ทิ้งท้าย
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. กล่าวภายหลังประชุมว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงการเรียนของนักเรียน การจัดการเรียนการสอนของครู และค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองท่ามกลางวิกฤติโควิด จึงมอบหมายให้ ศธ.จัดทำโครงการมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียน ครู และผู้ปกครองในสถานการณ์โควิด ซึ่งมาตรการช่วยเหลือนี้จะครอบคลุมทั้งโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัด กทม. และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจะนำมาตรการการช่วยเหลือเหล่านี้เสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบหลักการในวันที่ 27 ก.ค.ต่อไป สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการเรื่องนี้นั้น ครม.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้งบประมาณในส่วนใดมาดำเนินการ
"มาตรการการช่วยเหลือนักเรียน ครู และผู้ปกครองนั้น มีหลักการเบื้องต้นคือ ศธ.จะไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลังและไปให้ถึงผู้ปกครอง และมาตรการช่วยเหลือสถานศึกษาให้ได้พัฒนาเรื่องสื่อเรียนการสอน นอกจากนี้ นายกฯ ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ของนักเรียนมัยมศึกษาตอนปลายมากขึ้น โดยอยากให้เปิดช่องทางการเรียนการสอนผ่าน On Air ในรูปแบบการเรียนการสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีช่องทางการเรียนรู้อย่างหลากหลาย" รมว.ศธ.กล่าว
ขณะที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวประเด็นนี้ว่า นายกฯ ได้รับหลักการมาตรการตามที่ อว.เสนอ คือ 1.สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา 50% ขั้นที่ 2 ส่วนตั้งแต่ 50,001-100,000 บาท ลด 30% และขั้นที่ 3 ส่วนตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลด 10% โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ 60% และสถาบันอุดมศึกษาสมทบ 40% และ 2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาคนละ 5,000 บาท โดยให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งพิจารณาลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมและสนับสนุนมาตรการอื่นๆ เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษายืมเพื่อใช้ในศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะเริ่มใช้ทันทีในภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยจะมีนิสิตนักศึกษาที่ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนถึง 1,750,109 คน
ลุ้นมาตรการเยียวยา
ด้านนายมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร กรรมการบริหารพรรคกล้า กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาเยียวยามาตรการเพิ่มเติมให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพราะลูกหนี้กองทุนนี้ก็มีสภาพไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่นกัน จึงขอเรียกร้องให้พักการชำระหนี้ ลดและพักเบี้ยปรับไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า ในวันที่ 22 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 3/2564 หารือสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ ด้วย วันเดียวกัน ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 ซีอีโอ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีผู้เข้าร่วมหารือ อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะที่ 40 ซีอีโอ นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประชุมเชื่อมสัญญาณมายังตึกไทยคู่ฟ้า
โดยนายกฯ กล่าวขอบคุณเอกชนที่มาร่วมหารือเพื่อช่วยกันบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงมากขึ้นนี้ ยังเดินหน้าแก้ไขอย่างรอบด้าน ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน โดยถึงวันที่ 20 ก.ค.มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 14 ล้านโดส และการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา และมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ก่อนยืนยันว่าที่ผ่านมาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลมาตลอด ข้อเสนอแนะที่ทำได้รัฐบาลดำเนินการทันที ในส่วนที่เป็นอุปสรรครัฐบาลก็พยายามเร่งแก้ไขให้ ทั้งนี้ทุกมาตรการต้องเป็นตามกฎหมายและหลักการงบประมาณ เพราะเงินที่รัฐบาลที่นำมาใช้จ่ายมาจากภาษีของประชาชน
“ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสูง ต้องลดความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างการรับรู้ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพราะทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การช่วยกันหาทางออกให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน” นายกฯ กล่าวในที่ประชุม
40 ซีอีโอพลัสชง 4 ข้อเสนอ
ด้านนายสนั่นกล่าวว่า 40 ซีอีโอพลัส ขอบคุณนายกฯ และคณะที่ได้จัดสรรเวลาเชิญ 40 ซีอีโอพลัสหารือร่วม ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้เตรียมข้อสนอต่อรัฐบาลไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชนที่ร่วมกับ กทม. สามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยมีศักยภาพฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 80,000 คน/วัน ซึ่งเอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการจัดอุปกรณ์การแพทย์ ทั้ง Rapid Tests ยารักษา เตียงผู้ป่วยหนักและ ICU รวมทั้งมาตรการ Isolation โดยเทคโนโลยีดิจิทัล และจัด Platform ต่างๆ 2.การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เสนอให้ขยายมาตรการช่วยเหลือทั้งกิจการที่ต้องหยุดประกอบตามคำสั่งของราชการ รวมทั้งธุรกิจในห่วงโซ่ต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนระยะสั้น-ระยะกลาง กระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังซื้อสูง กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดการจ้างงาน และ 4.การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชนขับเคลื่อนกิจกรรมที่มี Impact สูงและประชาชนไทยได้ประโยชน์
“รัฐบาลมีความยากลำบากในการทำงาน ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ผันผวนและไม่มีความแน่นอนสูง ภาคเอกชนให้กำลังใจนายกฯ และพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วยความจริงจัง” นายสนั่นกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอบคุณ และสิ่งที่ได้รับฟังข้อมูลในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายและแนวคิดของรัฐบาล พร้อมยืนยันว่า นายกฯ ครม. และ ศบค. ไม่เคยหยุดคิด หยุดทำงาน ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดความขัดแย้ง ขอยืนยันการเดินหน้าเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งเริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |