เตือนผู้ติดเชื้อHIVเสี่ยงไวรัสตับอักเสบ  90%พบในกลุ่มรักร่วมเพศไม่ป้องกัน


เพิ่มเพื่อน    

ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยข้อมูลโอกาสและแนวโน้มของการติดเชื้อร่วมของไวรัสตับอักเสบซี (HCV) และไวรัสเอชไอวี (HIV) ในปัจจุบัน พบมากกว่า 90% มาจากกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยไม่ป้องกัน และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยมีการใช้ยา PrEP ซึ่งเป็นยาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น HCV พร้อมระบุ 3 ปัจจัย ก่อให้เกิดการติดเชื้อร่วมระหว่าง 2 ไวรัสดังกล่าวในผู้ป่วย ดังนี้ 1.การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่นอนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป 2.การใช้ยาเสพติดแบบฉีดหรือแบบสูดดมโดยเฉพาะยาไอซ์และโคเคน 3.มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส ทั้งนี้ แนะแนวทางการตรวจ จำเป็นต้องตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส HCV เพื่อบ่งบอกว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัสอยู่หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ และมีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ให้รักษาอยู่หรือไม่ เพื่อดำเนินการรักษาตนเองถัดไป
    พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบซี และ HIV มีช่องทางการติดต่อเช่นเดียวกัน เราจึงพบว่าในคนไข้ HIV มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูง คือในกลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดแบบฉีด และในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะหากมีคู่นอนหลายคนและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันและมีการใช้ยาไอซ์ทั้งแบบสูดดมและแบบฉีดจะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HCV สูงมากขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men having sex with men : MSM) 
    ดังนั้น ในคนกลุ่มนี้ถ้ามีคู่นอนหลายคนและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันก็จะพบการติดเชื้อซิฟิลิสและไวรัสตับอักเสบซีสูงขึ้นได้ โดยปัจจุบัน MSM ที่มีอายุ 20–30 ปี พบภาวการณ์ติดเชื้อ HCV แบบเฉียบพลัน (acute HCV) มากขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ความเสี่ยงในการติดเชื้อ HCV จะประกอบไปด้วยปัจจัย 4 อย่างด้วยกัน คือ 1.การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่นอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  2.การใช้ยาเสพติดแบบฉีดหรือแบบสูดดมโดยเฉพาะยาไอซ์ และโคเคน 3.มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส  4.มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย
    ทั้งนี้ ในคนที่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV จะทำให้การแบ่งตัวของไวรัส HCV สูงขึ้น 8–20 เท่า เทียบกับการแบ่งตัวในผู้ติดเชื้อ HCV อย่างเดียว และพบปริมาณไวรัส HCV ในน้ำอสุจิหรือน้ำหล่อลื่นในผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV สูงถึง 40% ในขณะที่พบเพียง 20% ในผู้ที่ติดเชื้อ HCV เพียงอย่างเดียว (37.8% vs 18.4%) จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมกลุ่มที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV จะมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ HCV ทางเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งโดยปกติการกระจายเชื้อทางเพศสัมพันธ์พบได้น้อยมากถ้าผู้ติดเชื้อมี HCV อย่างเดียว
    พญ.อัญชลีอธิบายต่อถึงอาการของผู้ป่วย HCV ร่วมกับ HIV มีความรุนแรงแตกต่างจากผู้ติดเชื้อ HCV อย่างเดียว (Mono-infection) ว่า ในกรณีที่มีการติดเชื้อ HCV แบบเฉียบพลัน 80% ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทั้งผู้ที่ติดเชื้อ HCV อย่างเดียว และผู้ที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV แต่ผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะมีโอกาสมีการติดเชื้อ HCV แบบเรื้อรังได้มากกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อ HIV  โดยปกติแล้วการติดเชื้อ HCV ในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปีโดยไม่ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย มีโอกาสหายจากโรคติดเชื้อ HCV สูงถึง 20–30% แต่ขณะเดียวกันผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยจะมีโอกาสหายจากการติดเชื้อ HCV ลดลง เหลือเพียง 10-15% จึงมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อ HCV เรื้อรังสูงขึ้น และจะนำไปสู่โอกาสในการเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับเพิ่มขึ้นด้วย หากไม่ได้รับการรักษา และนอกจากนั้นในผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV จะมีโอกาสเกิดโรคนอกตับสูงขึ้นด้วย ประมาณ 40–70% เช่น อาการอักเสบของเส้นเลือดที่ผิวหนัง (Cryoglobulinemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เบาหวาน เยื่อพังผืดที่ตับสูงขึ้น ความจำเสื่อม และมีโอกาสเกิดไตวายสูงขึ้นด้วย นอกจากนั้นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วม อาจพบเม็ดเลือดขาว CD4+ ของผู้ป่วยลดน้อยลงหรือไม่สูงขึ้นหลังให้ยาต้าน HIV ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำลงได้ด้วย 
    พญ.อัญชลีกล่าวเสริมว่า กลุ่มคนที่ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV และ HCV มีดังนี้ 1.กลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดแบบฉีดและแบบสูดดม 2.กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและหญิงข้ามเพศ (Transgender) 3.กลุ่มที่มีการติดเชื้อ HIV แต่ตรวจพบการติดเชื้อซิฟิลิส รวมทั้งมีค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น และ 4.กลุ่มอื่นๆ ที่ควรตรวจ เช่น กลุ่มคนที่มีประวัติการรับเลือดมาก่อนปี พ.ศ.2535 กลุ่มผู้ต้องขัง เนื่องจากมีการตรวจพบการติดเชื้อ HCV ในผู้ต้องขังสูงถึง 3–7% กลุ่มคนเก็บขยะเพราะอาจถูกเข็มหรือของมีคมตำ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจการติดเชื้อ HCV เช่นเดียวกัน โดยเมื่อติดเชื้อ HIV ร่วมกับ HCV แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง ควรควบคุมพฤติกรรมที่ทำให้เกิดเยื่อพังผืดที่ตับมากขึ้น คืองดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือในกลุ่มคนที่รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ และป้องกันพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อ คือการมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และไม่ควรมีคู่นอนหลายคน รวมทั้งหากเป็นผู้ป่วยเอชไอวี ให้กินยาต้าน HIV สม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของตนเองและคู่นอนเป็นประจำ 
    โดยปัจจุบันสามารถเข้ารับการตรวจปริมาณเชื้อไวรัส HIV และ HCV ได้เกือบทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเครื่องตรวจวิเคราะห์ที่สามารถทำการตรวจ HIV RNA ได้ จะสามารถตรวจ HCV ได้เช่นกัน มีความจำเป็นที่ต้องตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส HCV เพื่อจะบ่งบอกว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัส HCV อยู่หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ และมีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ให้รักษาอยู่หรือไม่ การรักษา HCV ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งลดการเกิดโรคในตับ เช่น ตับแข็งและมะเร็งตับ และโรคนอกตับ เช่น ลดการเกิดเบาหวาน การเกิดไตวาย และที่สำคัญการรักษา HCV เป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ HCV สู่คู่นอนอีกด้วย พญ.อัญชลีกล่าวทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"