ครม.เห็นชอบขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ครอบคลุม 13 จังหวัด อนุมัติวงเงินเยียวยาตาม ม.33 รวม 10 จว. วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ปรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เพิ่มวงเงินคำนวณสิทธิ e-Voucher เป็น 1 หมื่นบาท/คน/วัน พร้อมขยายระยะเวลาใช้จ่ายถึง 30 พ.ย.64 "ออมสิน" ประกาศพักหนี้ 6 เดือน ช่วยลูกค้า 7.5 แสนราย ยอดหนี้กว่า 5หมื่นล้าน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 20 กรกฎาคม นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 ให้ครอบคลุมพื้นที่จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยยังคงกลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มกิจการที่ได้รับผลกระทบ อัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิม เป็นระยะเวลา 1 เดือน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัดสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา จากเดิมที่ได้เห็นชอบไปแล้ว 2,519.38 ล้านบาท เพิ่มเป็น 13,504.696 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,985.316 ล้านบาท ส่วนอีก 3 จังหวัดที่ ศบค.ได้มีประกาศเพิ่มเติม ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยานั้น ครม.ได้เห็นชอบในวันนี้ให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด และจะนำกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป
นายอนุชากล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติการเปลี่ยนแปลงโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ดังนี้ 1.ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากเดิมระหว่าง 1 ก.ค.-30 ก.ย.2564 เป็นตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 พ.ย.2564 2.เพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ ไม่เกิน 10,000 บาท/คน/วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-30 พ.ย. โดยยังจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน 3.ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จากเดิมที่ไม่เกิน 4 ล้านคน เป็น “ไม่เกิน 1.4 ล้าน” คน ทำให้กรอบวงเงินโครงการ ลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าจากการประกาศข้อกำหนดของ ศบค.ที่ผ่านมา ซึ่งให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น. และเปิดให้เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว จึงมีผลให้อาจจะมีผู้ใช้สิทธิ์น้อยลง จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อความเหมาะสมด้วย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้กลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย จึงออกมาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 งวด (พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ยากลำบาก ซึ่งเป็นไปตามที่ครม.ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการพักชำระหนี้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประเมินว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่มีสิทธิ์พักหนี้ตามมาตรการนี้ ในจำนวนมากถึงกว่า 750,000 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือน ก.ค.-เดือน ธ.ค.2564 หลังจากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร
โดยช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใดๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 ก.ค.2564 และเฟสที่สองช่วงเดือน ส.ค. ลูกค้าจะทยอยได้รับเอสเอ็มเอส หรือการแจ้งเตือน (Notification) แจ้งทางแอปพลิเคชัน MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอปพลิเคชัน สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตัวเอง หรือติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา
อย่างไรก็ดี มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของชุดมาตรการพักชำระหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารออมสินประกาศให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่างๆ อาทิ 1.มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่ทางราชการประกาศให้ปิดกิจการ (ให้สิทธิ์พักชำระหนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง) 2.มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีประเภทกิจการร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 3.มาตรการมหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และ 4.มาตรการแก้หนี้ สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |