ยอดติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่นต่อเนื่อง เสียชีวิต 80 ราย "ปากน้ำ" พบคลัสเตอร์โรงงานผลิตเชือกอีกแห่ง "บิ๊กตู่" ประเดิมเวิร์กฟรอมโฮมวันแรก ประชุม ครม.ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไฟเขียวต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน ยาวถึง 30 ก.ย.64 พร้อมอนุมัติจัดสรรแพทย์-พยาบาลเพิ่ม สั่ง รมต.ประสานสร้าง รพ.สนามรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา "สธ." ชี้ล็อกดาวน์เข้มข้นเห็นผลป่วยลดใน 1-2 เดือน
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,305 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 10,696 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,599 ราย, จากการค้นหาเชิงรุก 2,097 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 595 ราย, จากต่างประเทศ 14 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 426,475 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 6,557 ราย หายป่วยสะสม 296,208 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 126,765 ราย อาการหนัก 3,711 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 80 ราย เป็นชาย 37 ราย หญิง 43 ราย อยู่ใน กทม.ถึง 41 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,502 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 191,712,967 ราย เสียชีวิตสะสม 4,112,792 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 20 ก.ค. ได้แก่ กทม. 2,764 ราย, สมุทรสาคร 798 ราย, สมุทรปราการ 673 ราย, ชลบุรี 537 ราย, ปทุมธานี 476 ราย, นนทบุรี 386 ราย, นครปฐม 371 ราย, ปัตตานี 263 ราย, พระนครศรีอยุธยา 198 ราย, ฉะเชิงเทรา 185 ราย โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ 1 แห่ง คือ โรงงานผลิตเชือก อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อ 10 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพัก ซึ่งเป็นวันแรกที่นายกฯ เวิร์กฟรอมโฮม หลังยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้มข้นขึ้น โดยขอทุกภาคส่วนร่วมมือเวิร์กฟรอมโฮม 100% เช่นเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมไปถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ แต่จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการบางส่วนที่ต้องเข้าเวรดูแลในภาคบริการเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ หลังเริ่มมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงสถานการณ์การครองเตียงผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เริ่มรับไม่ไหว เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น จึงเสนอแนวคิดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา พร้อมเสนอให้รัฐมนตรีแต่ละคนดูความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของตัวเอง โดยรัฐมนตรีหลายคนเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่าพร้อมดูแลเรื่องการส่งผู้ป่วยไปรักษาที่ภูมิลำเนาในส่วนของ จ.บุรีรัมย์ รวมถึงจังหวัดในอีสานใต้ ส่วนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ แสดงความเห็นว่า ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีรถมูลนิธิร่วมกตัญญูอยู่สามารถใช้ในการเคลื่อนย้ายส่งกลับภูมิลำเนาได้
ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีรถการแพทย์ฉุกเฉินของท้องถิ่นอยู่สามารถนำมาใช้ตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามได้แจ้งว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมรับผิดชอบเรื่องระบบขนส่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งหมด
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ขัดข้องกับแนวคิดดังกล่าว เพราะงบประมาณมีเพียงพอ และมอบหมายให้ นายอนุทินเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดประสานงานกับรัฐมนตรีแต่ละคนต่อไป โดยย้ำว่าต้องมีการหารือจนได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วันนี้ และต้องดูขีดความสามารถของแต่ละพื้นที่ รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุด ต้องให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ต้องมีการสอบถาม หรือสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละพื้นที่ โดยอย่าไปสร้างกลางชุมชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นพ้องต้องกัน และมีความเห็นร่วมกันว่ารัฐมนตรีสมควรที่จะลงพื้นที่ช่วยประชาชนที่ปัจจุบันมีการติดเชื้อมากขึ้น โดยไปช่วยประสานงานในลักษณะของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การดำเนินการประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ รวมถึงจะมีการรับผู้ป่วยจาก กทม. ปริมณฑล ที่มีความสมัครใจจะไปรักษาตามภูมิลำเนา โดยให้ ครม.ประสานกับหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
ขยาย พรก.ฉุกเฉิน 2 เดือน
นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้แจ้งที่ประชุม ครม.ว่า จากกรณีที่นายกฯ รัฐมนตรีและทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้สละเงินเดือนนั้น มีความคิดที่จะนำเงินดังกล่าวไปทำกล่องยังชีพ โดยในกล่องจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับบุคคลที่คิดว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว ยารักษาโรค ทั้งพาราเซตามอล ฟ้าทะลายโจร หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เพื่อส่งมอบไปยังประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม
นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสื่อสารกับประชาชนถึงขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อผ่านเครื่องตรวจโควิด-19 แบบแรพิดแอนติเจนเทสต์ให้มีความชัดเจน ทั้งการจัดซื้อจัดหาว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อจะต้องทำอย่างไร นายกฯ ขอให้เขียนลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนว่าการรักษาตัวที่บ้านมีขั้นตอนอย่างไร และเมื่อมีอาการมากขึ้นต้องติดต่อกับคณะแพทย์อย่างไรระหว่างการรักษาตัวที่บ้าน หรือหากไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ก็ให้ไปรักษาตัวของชุมชน จึงขอให้ออกขั้นตอนให้ประชาชนรับทราบเพื่อให้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง นอกจากนี้ นายกฯ ยังเร่งเรื่องการรอเตียงเพื่อให้ได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว อยากให้ดำเนินการเพื่อลดประเด็นผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ โดยขอให้หน่วยงานในพื้นที่ กทม.ไปดำเนินการที่จะให้ทุกอย่างดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง
ต่อมา น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ตอนหนึ่งระบุว่า ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ซึ่งประกาศฉบับเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค.นี้ โดย สมช.ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานการแพร่ระบาดว่าสถานการณ์ในระดับโลกยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหลายภูมิภาค ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับที่ 62 อันดับหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกา, อันดับสอง อินเดีย และอันดับสาม บราซิล
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยระลอกเดือนเม.ย.2564 ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-9 ก.ค. มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 288,643 ราย ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากกว่าหลายพันคนต่อวัน และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นชนิดสายพันธุ์ใหม่ (เดลตา) สามารถแพร่ระบาดและติดต่อกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังพบสายพันธุ์เบตาที่มีความรุนแรงมาก อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดที่มีสถานประกอบการโรงงาน ตลาดค้าส่ง และพบการระบาดต่อเนื่องจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ที่พักแรงงานก่อสร้างชั่วคราว ครอบครัว ตลาด สถานที่ทำงาน และสถานที่ชุมชนต่างๆ
นอกจากนี้ แนวโน้มการแพร่ระบาดในระยะต่อไป สธ.ประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวน 10,000 รายต่อวัน หรือมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 100,000 ราย ภายในระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตราเกิน 100 รายต่อวัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระต่อบุคลากรทางการแพทย์ เตียงรักษา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
"ศปก.ศบค.พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปยังคงเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ออกไป เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิตของประชาชน" น.ส.ไตรศุลีกล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งสิ้น 2,411 อัตรา ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2,136 อัตรา และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 275 อัตรา เพื่อปฏิบัติภารกิจการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งรวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย โดยจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 760 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย นายแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ 1,651 อัตรา ค่าใช้จ่าย 511 ล้านบาทต่อปี, ทันตแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ 370 อัตรา ค่าใช้จ่าย 114 ล้านบาทต่อปี นายแพทย์ปฏิบัติการหรือชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษบรรจุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 90 อัตรา ค่าใช้จ่าย 30 ล้านบาทต่อปี และทันตแพทย์บรรจุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 25 อัตรา ค่าใช้จ่าย 8.4 ล้านบาท และพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการหรือชำนาญการของกรมราชทัณฑ์ จำนวน 275 อัตรา ค่าใช้จ่าย 95 ล้านบาทต่อปี
ล็อกดาวน์เห็นผล 1-2 เดือน
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวถึงมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิดว่า ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง เริ่มจากวันนี้เป็นวันแรก งดการออกจากบ้านและจากนี้อีก 14 วัน โดยคาดว่าตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลงได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน แต่ต้องเริ่มจากวันนี้ เนื่องจากเชื้อเดลตามีอัตราการแพร่ที่ค่อนข้างเร็ว เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยสอดคล้องกับทรัพยากรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากในพื้นที่ กทม.มีอัตราผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มแค่วันละ 500-1,000 วันสามารถรับมือได้
"การล็อกดาวน์จุดประสงค์สำคัญเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายจากครอบครัวหนึ่งไปอีกครอบครัวหนึ่ง และให้ทำงานแบบ WFH เพื่อหยุดการแพร่เชื้อให้เร็วที่สุดและเร่งการฉีดวัคซีนในคนสูงอายุ และป่วยโรค เรื้อรัง อีกทั้งระหว่างนี้งดการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรทานแบบแยกสำรับ เพราะการติดเชื้อเกิดจาการพูดคุย และรับประทานอาหารร่วมกัน และหากรู้ตัวว่ามีความเสี่ยง ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่บ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในบ้าน หากในบ้านนั้นมีคนสูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และงดการใกล้ชิดกัน" นพ.จักรรัฐกล่าว
ผอ.กองระบาดวิทยากล่าวว่า ในส่วนการตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) หากผลออกมาเป็นบวก ถือว่าเข้าข่ายติดเชื้อโควิด แต่ไม่มีอาการไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หายใจสะดวก จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรสดี ให้ติดต่อ 1330 สปสช. เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน จะมีการประเมินความเสี่ยง ได้แก่ มีผู้สูงอายุ มีผู้เป็นโรคเรื้อรัง หรือมีประวัติเสี่ยง การได้รับวัคซีน รวมไปถึงการให้ที่วัดค่าออกซิเจนโดยระดับปกติอยู่ 98-100 จุด "ให้สังเกตว่าเชื้อลงปอดด้วยตัวเอง คือ เดินรอบเตียงแล้วเหนื่อยง่าย หรือยกขาขึ้นลงหลายครั้งแล้วหายใจเหนื่อยมาก ค่าออกซิเจนลดเหลือน้อยกว่า 92 หากมีอาการรุนแรงแจ้ง CCR Team (0-2590-1933) ประสานเพื่อส่งไปรักษา และเมื่อตรวจ ATK ผลเป็นลบ ไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ อาจจะมีโอกาสติดเชื้อ แต่อยู่ในช่วงของระยะฟักตัว เพราะฉะนั้นยังต้องป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา และ 3-5 วันหรือมีอาการป่วย ต้องรีบทำการตรวจซ้ำ” ผอ.กองระบาดวิทยากล่าว
ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า จากที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร มีคำสั่งให้งดประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 สัปดาห์ โดยจะให้มีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29-30 ก.ค.นั้น ต่อมาเมื่อ ศบค.ได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 28 ส่งผลให้การเดินทางมาประชุมของส.ว.และ ส.ส.มีปัญหา ดังนั้นนายชวนจึงมีดำริงดประชุมรัฐสภาออกไปจากกำหนดเดิมอีก 1 สัปดาห์ จากเดิมที่มีคำสั่งงดประชุมสภาฯ ถึงวันที่ 25 ก.ค.นี้
จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ รายงานสถานการณ์โควิดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 673 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 557 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการจำนวน 116 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นเพศชายอายุ 65 ปี และ 45 ปี ทั้งสองคนมีโรคประจำตัว
จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อจำนวน 180 ราย โดยพบในพื้นที่ อ.ปากช่อง 53 ราย, อ.เมืองฯ 35 ราย, อ.พระทองคำ 15 ราย เป็นมีเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมมียอดผู้ป่วยสะสม 3,316 ราย รักษาหาย 1,458 ราย ยังรักษาอยู่ 1,820 ราย รวมมีผู้เสียชีวิต 38 ราย
จ.บุรีรัมย์ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ กำหนดพื้นที่ควบคุม หลังในพื้นที่บ้านระเบิก หมู่ที่ 7 ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ติดเชื้อ 15 ราย โดยมีผู้สัมผัสเพิ่มเติมในพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก จึงมีคำสั่งห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากพื้นที่บ้านระเบิก หมู่ที่ 7 ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ มีกำหนด 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-1 ส.ค. ส่วนยอดติดเชื้อรายใหม่มีเพิ่มอีก 138 ราย แยกเป็นผู้ติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 8 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 130 ราย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |