บทสนทนาใน Clubhouse เมื่อค่ำวันศุกร์ก่อนของคน “โรงเรียนแพทย์ริมน้ำ” ยังเป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงหมอหลายๆ รุ่น เพราะมีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวกับ “วิชาการ-การเมือง-โควิด” ที่โยงถึงคณะแพทย์อาวุโสที่มีส่วนเกี่ยวดองกับศิริราชในหลายๆ ด้าน
หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ เรียกการเสวนาวันนั้นว่าเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เลยทีเดียว
ท่านเขียนเล่าความรู้สึกส่วนตัวหลังจากได้ร่วมฟังการแลกเปลี่ยนวันนั้นต่อประเด็นความสำคัญของความเป็นวิชาชีพของแพทย์กับกระบวนการการตัดสินใจทางการเมือง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโควิด ตอนหนึ่งว่า
ในกรณีของสหรัฐฯ ที่เป็นพี่เบิ้มทางการแพทย์นั้น การรับมือกับวิกฤติโควิดเขาให้ความสำคัญของภาคการแพทย์อยู่เหนือภาคการเมืองหรือรัฐบาล
โดยที่การสื่อสารกับประชาชนจะผ่านทางประธานคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข (Surgeon General) ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ
“เรียกว่าถ้าสามคนนี้ออกมาพูดพร้อมกันเมื่อไร ประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความเชื่อถือ รัฐบาล นักการเมือง และข้าราชการประจำ จะต้องฟังและรับไปปฏิบัติให้เต็มความสามารถ เปรียบเทียบกับประเทศเราที่ไม่มีหัวเรือทางวิชาการที่ชี้นำสังคมได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะมีบ้างที่ถูกเรียกใช้ในยามวิกฤติ ซึ่งทำให้ระดับความศรัทธาของสาธารณะเจือจางไปตามกาลเวลา”
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือที่คุณหมอนิธิพัฒน์เล่าถึงภูมิหลังของคุณหมออาวุโสของศิริราชที่มีหน้าที่ไปเป็นที่ปรึกษาของ ศบค.บางท่าน
ท่านเล่าว่า
“อ.ปิยะสกล (พี่หลวง ที่จริงอย่างน้อยต้องอา) อ.อุดม (พี่ช้าง) และ อ.ประสิทธิ์ (พี่ตั๊ก) ล้วนแต่เคยเป็นคณบดีศิริราช ได้นำพาองค์กรให้ก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับวงกว้าง นำไปสู่การเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ให้ ศบค. ...”
คุณหมอนิธิพัฒน์บอกต่อว่า
“ผมเองมีโอกาสดีได้รับใช้ผู้มีบารมีมาทั้งสามแผ่นดิน (ขาท่านทั้งสามท่านคงโชกน้ำลายผม แต่ขนหน้าแข้งคงไม่ร่วง) มีทั้งทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างถวายหัว ไม่เคยต่อล้อต่อเถียง แต่เวลาว่างก็นินทาทั้งต่อหน้าและลับหลังท่านก็ไม่เคยโกรธ ถึงเวลามีงานสำคัญใหม่มาพวกท่าน (ฝ่ายบริหาร) กับพวกผม (ฝ่ายบริการหรือฝ่ายปฏิบัติ) ก็ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ให้บ้านริมน้ำและประเทศไทยมาไม่ขาดสาย...”
เบื้องหลังอย่างนี้ต้องมีคนวงในของศิริราชเท่านั้นที่เล่าได้
เช่นอีกตอนหนึ่งที่คุณหมอนิธิพัฒน์เล่าว่า
“พี่ตั๊กเท่าที่ผมทราบเป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการ ศบค.โดยตรง วางบทบาทเป็น influencer ภายนอก และช่วยขับเคลื่อนคณะทำงานฝ่ายแพทย์ของสองรุ่นพี่อาวุโส มีผู้เข้าร่วม CH (Club House) เมื่อคืนบางคนพยายามคาดคั้นท่านว่าเป็นนักวิชาการ ถ้าทำอะไรตามมาตรฐานความรู้ไม่ได้ ก็ถอยออกมาหรือลาออกเสียดีกว่าอย่าอยู่ให้เสียชาติเกิด ผมเองสะกดกลั้นอารมณ์แทบไม่อยู่ ไม่รู้พี่ตั๊กเป็นพระอิฐพระปูนมาจากไหน...”
และเสริมต่อว่า
“ในเงื่อนไขประเทศเราที่นักการเมืองเป็นใหญ่กว่าประชาชน และการเข้าสู่อำนาจรัฐไม่ได้เป็นไปตามฉันทามติที่อารยประเทศเขาปฏิบัติยึดถือกัน บทบาทของแพทย์หรือนักวิชาการในการขับเคลื่อนทิศทางการรับมือวิกฤติโควิดของประเทศมันจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด...
“ต้องยอมรับว่าผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอำนาจมาก่อนการชี้นำทางวิชาการของพวกเราเสมอ ยกเว้นเวลาเข้าตาจน เท่าที่ผมรู้และสัมผัสได้ มีเบื้องลึกเบื้องหลังอีกมากมายที่พี่ทั้งสามไปเผชิญมา หลายเรื่องโดยมารยาทไม่ควรนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยตัวละครที่เกี่ยวข้องไม่มีโอกาสชี้แจง แต่เสาหลักทั้งสามของผมไม่เคยโอนเอนและยึดมั่นในหลักการที่สมเด็จพระราชบิดาปลูกฝังพวกเรามา...”
คุณหมอนิธิพัฒน์บอกว่ามีผู้ฟังอีกส่วนหนึ่งพยายามคาดคั้นให้พี่ตั๊กยอมรับว่า การเลือกวัคซีนเชื้อตายมาใช้ในช่วงแรกของแผนการเริ่มฉีดวัคซีนเป็นความผิดพลาด
“อย่างที่ผมเคยให้ความเห็นในทุกเวทีมาแล้ว หากดูข้อมูลในเชิงวิชาการอย่างเที่ยงธรรมทั้งจากประเทศเราและประเทศอื่นที่ทำเหมือนเรา สิ่งที่ประเทศเราเลือกนั้นได้ปกป้องการสูญเสียของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนอื่นที่ได้รับด้วยอย่างคุ้มค่า...”
“อย่างที่กล่าวไปแล้วเช่นกัน ของเก่าไม่ได้เท่ากับของไม่ดี ของที่ผลิตจากประเทศจีนไม่อาจปรามาสว่าเป็นวัคซีนเซินเจิ้นที่กลับร้องเรียกหาเมื่อป่วยปางตาย เพียงแต่วัคซีนที่ผลิตด้วยแบบแผนวิชาการเก่าย่อมมีประสิทธิภาพสู้ของใหม่ไม่ได้ในด้านกันติด แต่ไว้ใจได้ในแง่ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานคือกันป่วยหนักและกันตาย และเมื่อของเก่าเริ่มหมดแรง ภูมิเริ่มตก เราก็ต้องหาของใหม่ที่ดีกว่ามาเสริม พร้อมกับหาวิธีปรับผสมของเก่าเข้ากับของกลางเก่ากลางใหม่ (วัคซีนของแอสตร้าฯ ที่ประสิทธิภาพยังเป็นที่ยอมรับในสากล) และของใหม่ที่ต้องเร่งจัดหา
“ที่พี่ตั๊กเอ่ยปากบอกว่าเราดำเนินการช้าไปหน่อยนั้น อันที่จริงคณะที่ปรึกษาได้ชี้เป้าให้ฝ่ายบริหารไปนานพอควร แต่ที่ออกตัวช้าส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ระบบราชการไทยเทอะทะไม่คล่องตัวยามวิกฤติ แต่ที่ไม่รู้คือ มีเบื้องหลังเกมแห่งอำนาจและเกมแห่งผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่...”
คุณหมอนิธิพัฒน์บอกว่าในเรื่องงานวิจัยที่ดูเหมือนเกิดความผิดพลาด เข้าใจว่าคณะผู้วิจัยหวังดีอยากให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ว่า การให้วัคซีนโควิดเข็มที่สามจะทำแบบไหนดี และมีวิธีประหยัดวัคซีนโดยผลการปกป้องไม่ย่อหย่อนมากหรือไม่
“ผมเองยังเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณน้อยลงเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้คงจะดีไม่หยอก แต่การวิจัยทางคลินิกอะไรในโรคร้ายที่มีการปรับตัวตลอด ไม่ควรมีกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้การรักษาหรือได้ยาหลอก แต่ถ้าจะฝืนทำก็ต้องมีกระบวนการชี้แจงอาสาสมัครแบบละเอียด และอาจต้องมีการสุ่มตรวจการปฏิบัติการชี้แจงว่าเป็นจริง...”
และเสริมต่อว่า
“แต่อย่างที่กล่าวมาแล้ว ความตั้งใจที่บริสุทธิ์ของคณะผู้วิจัยและคณะผู้คุ้มกฎที่อนุมัติให้วิจัย บนพื้นฐานข้อมูลในช่วงเวลาหนึ่งที่โรคยังไม่รุนแรงเชื้อยังไม่กลายพันธุ์มาก เมื่อคณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ควรจะขอแก้ไขกระบวนการวิจัยต่อคณะผู้คุ้มกฎโดยตบให้เข้าที่ มากกว่าการดึงดันเขย่าแล้วตบผู้เข้าร่วมวิจัยให้เข้าที่แทน...”
ข้อสรุปที่น่าชื่นชมของคุณหมอคือ
“หวังว่าการพูดคุย ณ บ้านริมน้ำจะนำไปสู่การรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมแพทย์ในศิริราชและทั่วประเทศ ที่พึ่งหลักและปราการด่านสุดท้ายด้านสุขภาพของประชาชนไทย”
ผมก็หวังเช่นนั้นเหมือนกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |