เบื้องหลังบทเสวนา Clubhouse ของหมอ ณ โรงเรียนแพทย์ริมน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

เวทีเสวนาอย่างถึงแก่นบน Clubhouse เมื่อค่ำวันศุกร์ของ “โรงเรียนแพทย์ริมน้ำ” นั้นมีสีสัน, เนื้อหาและมุมมองหลากหลาย

            ที่สำคัญคือ เป็นการระดมความเห็นว่าด้วยทางออกจากวิกฤติโควิด-19 ที่น่าสนใจมาก

            เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนของหมอหลายๆ รุ่นที่มีประสบการณ์และแนววิเคราะห์สถานการณ์ที่หลากหลาย และต้องการความชัดเจนโปร่งใส

            ยิ่งเมื่อคนที่มาตอบคำถามและข้อสงสัยคือ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีแพทยศาสตร์ ศิริราช ที่มีบทบาทโดดเด่นใกล้ชิดกับ ศบค.และนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้บทสนทนาวันนั้นเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” จริงๆ

            คุณหมอมานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งใน moderator ของการสนทนาวันนั้น เขียนในเฟซบุ๊กของท่านในวันรุ่งขึ้นตอนหนึ่งเป็นทำนองสรุปบรรยากาศหลักว่า

            “ขอสรุปในมุมมองของ “พระอันดับ ที่ได้เห็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังคนหนึ่ง” ว่า

            1.สำหรับน้องๆ นักเรียนแพทย์, resident, fellow, young staffs, พยาบาล, เภสัช และบุคลากรของคณะทุกคน น่าจะเบาใจได้แล้วนะครับว่านโยบายของวัคซีนเข็มสามสำหรับบุคลากรที่ได้ Sinovac มีความชัดเจน ทุกคนมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่ตนเองอยากได้ ระหว่าง AZ และ Pfizer ถ้าเลือก AZ ได้ฉีดเลย ถ้าเลือก Pfizer ต้องรออย่างเร็วคือปลายเดือนนี้ แต่ถ้าไม่ได้ คณะสั่งซื้อ Moderna มาให้แล้วเพียงพอสำหรับทุกคน

            2.สำหรับอาจารย์และผู้บริหารหลายท่านที่ฟังแล้วอาจคิดว่า ลงท้ายก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ อยากจะบอกว่าที่ไม่มีอะไรในกอไผ่ เพราะเราหยิบระเบิด C4 ถอดสลักออกไปก่อนแล้วครับ 5555555

            คุณหมอมานพเล่าว่า ตั้งแต่ข่าวการจัด Clubhouse ได้กระจายไปทั่ว มีคำถามข้อสงสัยหรือข้อคับข้องใจที่ส่งเข้ามาเพื่อถามท่านคณบดีมหาศาลมาก

            “ขนาดเอาคำถามที่ได้มาจับรวมกัน ตัดคำถามซ้ำออก แล้วเอามาเรียงใน google docs ยังออกมาหลายหน้า คำถามแสดงถึงความหัวร้อนของเด็กๆ เยอะมาก ความสงสัย แคลงใจในตัวผู้บริหารและนโยบายของคณะ ความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง ความอึดอัดกับสถานการณ์ของประเทศที่ต้องยอมรับว่าคณะฯ ของเราเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้มีความลำบากใจในการทำงาน และส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพพจน์ของสถาบันด้วย ฯลฯ...”

            จึงทำให้ทีม moderator, ผู้ประสานงาน และน้องๆ ทีมงานต้องมาตกลงกันก่อนเริ่มว่า เรากำหนด primary objective ให้ชัดก่อนว่าหลังงานจบเราควรต้องบรรลุผลอะไร สรุปออกมาง่ายๆ ได้ว่า

            1.เราอยากได้คำตอบชัดเจนเรื่องวัคซีนเข็มสามของคณะ ว่าจะมาเมื่อไหร่, ได้เท่าไหร่, ให้ใครบ้าง, ได้อย่างที่เลือกแน่ๆ ใช่ไหม

            2.เราอยากใช้เวทีนี้ เป็นจุดเริ่มของการปรับความเข้าใจระหว่าง ผู้บริหาร, อาจารย์อาวุโส และลูกศิษย์ เราอยากกอบกู้ภาพศิริราชคือพี่น้อง มีอะไรเราได้คุยกัน

            และของแถมที่อยากได้คือ เราอยากได้ความเห็นชัดๆ ของคณบดีว่า ประเทศเรามีความผิดพลาดในการจัดการวัคซีนที่ผ่านมา และต่อจากนี้ไปคนไทยควรจะต้องได้ high potency vaccine

            “สิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังคือ เราไม่หวังจะเปลี่ยนใจคนที่ไม่เห็นด้วย หรือสมานรอยร้าวความแตกแยกที่เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างฉับพลัน”

            บรรยากาศเบื้องหลังของการสนทนาวันนั้นจึงน่าสนใจพอๆ กับเสียงแลกเปลี่ยนที่ได้ยิน

            คุณหมอเล่าว่า “ดังนั้น ภาพของคำถามคำตอบ และ tone การสนทนาจึงออกมาแบบที่เห็นเมื่อคืน ในเบื้องหลังระหว่างเปิด Clubhouse ยังมีคำถามไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทีม moderator และน้องๆ ยังต้องพูดคุยผ่านหลาย platform ตลอดเวลา จะตัดบทเลยไหม ใครจะแทรกตรงไหน มีการสับเปลี่ยนคำถาม เปลี่ยนแนวคำถาม มีการคุยหลังไมค์กับคนถามว่าเบาได้ก็เบานะ 55555 ฯลฯ ... คือทุกอย่างเป็น on-the-fly และ just-in-time ตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่ง...”

            เป้าหมายที่สำคัญของการจัดเวทีออนไลน์ที่ได้ยินแต่เสียงอย่าง Clubhouse คืนนั้นสำหรับคุณหมอมานพแล้วคือ

            “ผมถือว่าการเปิดเวทีพูดคุยแบบนี้ ต้อง win-win คือทุกฝ่ายต้อง gain บางอย่างกลับไป บางอย่างได้ บางอย่างยอม ไม่มี winner takes all เราไม่อยากสร้างบรรยากาศเอาชนะ รุกไล่จนมุม เราต้องให้ทุกคนมีที่ยืน หรือมีทางลงที่ยอมรับได้ ถ้าเรากำหนดเป้าหมายและทำได้ตามเป้าแล้ว ถือว่าสำเร็จ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่จุดสิ้นสุด....”

            ผมเห็นด้วยกับคุณหมอที่ว่า Clubhouse เป็น virtual town hall meeting ที่ทรงพลังมาก

            “ผู้พูดอาจไม่สามารถทำได้เลยในบรรยากาศจริงที่มีผู้คนจ้องมอง ต้องวางตัว มีแรงกดดันรอบข้าง ทำให้ไม่กล้าแสดงความเห็น ถ้าอาจารย์ ผู้ใหญ่ ผู้บริหาร มองเห็นข้อดีนี้ สามารถประยุกต์ใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้มาก เพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร ลดช่องว่างในองค์กร เพิ่ม public engagement และ image ได้อย่างดีด้วยครับ...”

            และข้อสรุปที่น่าสนใจคือ

            “หวังว่าจะเกิดสิ่งดีๆ แบบนี้มากขึ้น ทั้งในระดับองค์กร และระดับประเทศครับ

            (พรุ่งนี้: แพทย์, การเมืองและยุทธศาสตร์สู้โควิด).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"