โทรโข่งรัฐบาลยัน “บิ๊กตู่” มุ่งมั่นจัดหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยโดยเร็ว “อว.-สธ.” ประสานเสียงกางผลศึกษายัน “ซิโนแวค” เป็นวัคซีนมีประสิทธิภาพ ใช้ในสนามจริงได้ผลถึงกว่า 90% ต่อสู้กับสายพันธุ์อัลฟา รับสภาพต้องใช้ซิโนแวคอีก 2-3 เดือน เพราะมีของอยู่ แต่ได้สลับสูตรเพื่อเพิ่มประสิทธิผลแล้ว “พปชร.” แนะภูมิใจไทยหนักแน่น เร่งแก้ปัญหาดีกว่าโทษไปมา “วัฒนา” วัดใจลุงตู่ใช้อำนาจคุมราคาวัคซีนทางเลือก
เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ก.ค. ในเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะกรรมการจัดสรรวัคซีน และที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เข้าหารือ ซึ่งคาดว่าเป็นการหารือเรื่องการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ว่าเป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการมีส่วนราชการที่เข้ามาร่วมกันทำงานในลักษณะคณะกรรมการในนามศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยมีแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่พิจารณาร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ได้เห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีน 120 ล้านโดสในปี 2565 นอกเหนือจาก 105.5 ล้านโดสที่จะจัดหามาภายในปี 2564 นี้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ยังเห็นชอบให้ สธ.จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ในเบื้องต้น 20 ล้านโดส รวมทั้งให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นตัวกลางเจรจากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งคืบหน้าเป็นลำดับ
โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยอีกว่า แผนการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนโดย ศบค.เป็นการทำงานร่วมกันในระดับนโยบายที่มีคำแนะนำด้านวิชาการจากคณะแพทย์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัฐบาลโดย สธ.จะเป็นผู้จัดหาวัคซีนหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันในส่วนของ สธ. ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย โดยมีปลัด สธ.เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจขับเคลื่อนและติดตามผลการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นไปตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงการเจรจาต่อรองกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศด้วย
นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. และที่ประชุม ศบค. ยังมีแนวทางเร่งรัดเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมดังนี้ 1.เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 2.เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ 3.สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และ 4.สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์อย่างใกล้ชิด
ยันบิ๊กตู่มุ่งมั่นหาวัคซีน
“นายกฯ มุ่งมั่นตั้งใจที่จะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มากที่สุด และฉีดให้ทุกคนในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้มากที่สุด รวมทั้งปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ”นายอนุชากล่าว
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อว.ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ไทยได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประเทศขนาดใหญ่ในกลุ่มอาเซียนที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไทย และเมียนมาร์นั้น ไทยสามารถฉีดวัคซีนได้สูงที่สุดตามสัดส่วนประชากร โดยมีคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วถึง 16.3% ของประชากร ตามด้วยอินโดนีเซีย 15.1%, ฟิลิปปินส์ 9.1%, เวียดนาม 4.1%และเมียนมาร์ 3.1% ส่วนประเทศขนาดเล็กในกลุ่มอาเซียนที่มีประชากรน้อยกว่า 50 ล้านคนนั้น จะมีร้อยละการฉีดวัคซีนต่อประชากรค่อนข้างสูงคือ สิงคโปร์มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 4,118,334 คน หรือ 69.9% ของประชากร, กัมพูชา 5,767,616 คน หรือ 34.1%, มาเลเซีย 9,570,974 คน หรือ 29.3%, บรูไน 106,556 คน หรือ 24.2% และลาว 1,050,818 คน หรือ 14.3%
ด้าน ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า การใช้วัคซีนของไทยนั้นใช้วัคซีนซิโนแวคมากที่สุด จำนวน 7,522,418 โดส ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 6,288,541 โดส และซิโนฟาร์ม 412,803 โดส ซึ่งยืนยันว่าการใช้วัคซีนซิโนแวคในกลุ่มความเสี่ยงสูงนั้นได้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยในช่วงระยะเริ่มต้นที่จีนได้ส่งมอบวัคซีนซิโนแวคมาตั้งแต่ ก.พ.2564 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับและนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์นั้น จากการติดตามผลการใช้งานจริงในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการรุนแรงได้ผลดี โดยการติดตามการใช้งานที่จังหวัดภูเก็ต พบว่ามีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90.7%, เชียงรายมีประสิทธิผล 82.8% และสมุทรสาครมีประสิทธิผล 90.5%
“ล่าสุดในการรายงานการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมของทั้งประเทศเกือบ 700,000 คนนั้น พบว่าในกลุ่มบุคลากรความเสี่ยงสูงซึ่งมีการติดเชื้อ 880 คน และเสียชีวิต 7 รายนั้น พบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างมาก แสดงว่าวัคซีนซิโนแวคสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงได้” ปลัด อว.ระบุ
กางผลศึกษาซิโนแวค
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงผลการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้จริงในไทยเช่นกันว่า ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ค. ที่ได้ศึกษา 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 2 กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือ กลุ่ม จ.ภูเก็ต และสมุทรสาคร ส่วนอีกกลุ่มเป็นการศึกษาในบุคลากรสุขภาพจากเหตุการณ์การระบาดใน จ.เชียงราย และกลุ่มสุดท้าย กรมควบคุมโรคได้ดึงฐานข้อมูลจากบุคลากรสาธารณสุขที่มีการติดเชื้อในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.
“วัคซีนที่เราศึกษาในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นแต่ละพื้นที่ใช้วัคซีนอะไร ซึ่งช่วงเดือน เม.ย., พ.ค. และ มิ.ย. ส่วนใหญ่คนที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเป็นซิโนแวค จะมีแอสตร้าเซนเนก้าบ้างเฉพาะการศึกษาเท่านั้น” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว
นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลในพื้นที่จริงที่ จ.ภูเก็ตช่วง เม.ย. ที่มีการฉีดวัคซีน โดยจำนวนทั้งหมดกว่า 1,500 รายของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด พบติดเชื้อ 124 ราย ในจำนวนนี้เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนจากอยู่ที่ 90.7% ส่วน จ.สมุทรสาคร ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีทั้งหมดกว่า 500 ราย พบติดเชื้อ 116 ราย พบประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อพอๆ กันคือ 90.5% ดังนั้น เมื่อดูข้อมูลในช่วงการศึกษาของ 2 จังหวัด พบว่าประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคในช่วง เม.ย.-พ.ค. ซึ่งขณะนั้นเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ไม่ใช่เดลตา (อินเดีย) พบว่าประสิทธิผลดีพอสมควรในสนามจริง 90% ซึ่งผลการศึกษานี้ดีกว่าการศึกษาจริงในประเทศอื่น และดีกว่าตอนเริ่มทำการทดลอง ทั้งบราซิลและตุรกี อยู่ที่ 50-70%
นพ.ทวีทรัพย์ยืนยันว่า วัคซีนทุกตัวปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ภาวะความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แต่ประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคในการใช้จริงของไทยได้ผลดีพอสมควร ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90% ในช่วงที่มีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา และเรื่องป้องกันอาการปอดอักเสบก็ใกล้เคียงกัน ประมาณ 85% จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าวัคซีนซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพ และแม้ขณะนี้มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเราก็ติดตามต่อเนื่อง ไม่ใช่รอว่าให้วัคซีนมีประสิทธิผลต่ำแล้วมาเปลี่ยนการใช้วัคซีน
เมื่อถามว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเราจำเป็นต้องสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคอีกหรือไม่ นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า ซิโนแวคยังได้ผลอยู่ แต่เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพิ่มภูมิคุ้มกันจึงปรับการฉีดวัคซีนแทนที่จะฉีดซิโนแวค 2 เข็มก็เปลี่ยนมาเป็นฉีดซิโนแวค และตามด้วยวัคซีนต่างชนิดกัน จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงกว่าเดิม และที่เรายังต้องใช้ซิโนแวค เพราะเป็นวัคซีนที่จัดหาได้เร็ว ไม่ต้องรอคิวไปจนถึงปีหน้า หรือไตรมาส 4 ส่วนอนาคตจะปรับใช้วัคซีนชนิดอื่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์สายพันธุ์และขึ้นกับแต่ละช่วงเวลาเราจะจัดหาวัคซีนชนิดใดได้เพิ่ม แต่ช่วงการระบาด 2-3 เดือนนี้ต้องใช้วัคซีนที่มีอยู่ขณะนี้ให้เป็นประโยชน์
วันเดียวกันยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุว่านายอนุทินเป็นแพะรับบาปของ ศบค. เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหาวัคซีน เนื่องจากนายกฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนที่มี นพ.ปิยะสกลเป็นประธาน ซึ่งมีอำนาจเหนือนายอนุทินในการจัดการเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีน โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า อยากบอกนายศุภชัยว่าทุกคนในรัฐบาลต่างมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่ต่างกันไป และทุกหน้าที่ของทุกคนก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่มีใครอยู่เหนือใคร กรณีนี้เชื่อว่าน่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันมากกว่า อย่าเสียเวลาโทษคนนั้นคนนี้ว่าเป็นแพะอยู่เลย เอาเวลาไปหาทางออกให้ประเทศร่วมกันยังดูมีประโยชน์มากกว่า
พปชร.แนะบังซุปหนักแน่น
"ที่นายศุภชัยทำทีตั้งข้อสังเกตว่ามีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรหรือไม่ และ ศบค.มองเห็นหรือไม่นั้น มองเผินๆ ก็คงไม่ต่างจากการที่นายศุภชัยกำลังโยนให้ ศบค.เป็นแพะแทนนายอนุทินใช่หรือไม่ เมื่อนายศุภชัยไม่ชอบให้หัวหน้าพรรคถูกมองเป็นแพะ ก็ไม่ควรทำให้รัฐบาลเป็นแพะ ที่นายศุภชัยบอกว่านายอนุทินวันนี้กลืนเลือด ยอมให้ด่าทุกเรื่องนั้น พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเป็นคนที่กลืนเลือดและยอมถูกด่ามากกว่า เพราะไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลดำเนินการอะไร ท่านนายกฯ ก็ยอมถูกด่าก่อนเสมอในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” นายธนกรกล่าว
ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวเรื่องนี้ว่า เมื่อรัฐบาลถูกโจมตีจากผู้ไม่หวังดีและบิดเบือนความจริงจำนวนมาก ยิ่งต้องรับแรงกดดันนั้นด้วยสติ และแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ต่อไป โดยไม่กล่าวโทษไปมา เพราะทุกการตัดสินใจก็ผ่านคณะที่ปรึกษา และ ครม.ร่วมตัดสินใจด้วย จึงอยากให้หนักแน่น เพื่อพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตินี้โดยเร็วที่สุด
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวตอบโต้ น.ส.พัชรินทร์ว่า เขามาแถลงด้วยความไม่เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น สิ่งที่ตนแถลงกับสิ่งที่เขาโต้เป็นคนละอย่างกัน เป็นการโชว์โง่ วันนี้สิ่งที่แถลงไปคนที่รับผิดชอบเรื่องวัคซีนเป็นคณะกรรมการที่พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง โดยมี นพ.ปิยะสกลเป็นประธานกรรมการในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ส่วนนายอนุทินไม่ได้เป็นคณะกรรมการในส่วนนั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นการด่าผิดคน ยิงผิดตัวอยู่ และไม่เกี่ยวกับการอนุมัติของ ครม. แต่เป็นเรื่องของ ศบค. หากโฆษก พปชร.ได้กลับไปอ่านอีกครั้งหนึ่ง อย่ามาโชว์โง่เรื่องแบบนี้ ยังใสซื่ออย่าทำซื่อบื้อออกมา ซึ่งสิ่งที่ตอบโต้มาเป็นสิ่งที่ไม่ทำการบ้าน จึงขอให้ไปทำการบ้านใหม่ก่อนที่จะออกมาพูด พรุ่งนี้ค่อยเอาใหม่
ขณะที่ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ ศบค.ออกมาเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจให้ไทยไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX อย่าทำลายหลักฐานต่างๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจจะลงจากอำนาจ นอกจากนี้รัฐบาลต้องออกมายอมรับความผิดที่ได้ก่อไว้ต่อประชาชน หยุดถามหาความรับผิดชอบจากคนตัวเล็กตัวน้อย หยุดปัดความรับผิดชอบ หยุดปกป้องตัวเองและพรรคพวก
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า ปัญหาการจัดการวัคซีนกลายเป็นหนังชีวิตมีปัญหาเบื้องลึกเบื้องหลังต่อเนื่อง แต่ขอเสนอดังนี้ 1. ติดต่อจัดหาวัคซีน mRNA ให้เข้ามามากที่สุดและเร็วที่สุดในทุกวิถีทาง ทุกคอนเน็กชัน 2.กระจายการฉีดวัคซีนตามบ้านแบบสหรัฐอเมริกาทำ 3. เร่งสั่งจองวัคซีนโนวาแวกซ์ล่วงหน้าในปริมาณที่เพียงพอ และ 4.กำหนดการการกระจายฉีดวัคซีนคุณภาพให้กับประชาชนได้ครบแล้ว จึงกำหนดวันเปิดประเทศที่แน่นอน
นายวัฒนา เมืองสุข ประธานคณะกรรมการกฎหมายและการเมืองพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาว่า รพ.เอกชนได้คิดค่าฉีดรวม 2 เข็ม เป็นเงิน 3,400 บาท แต่ต้องจ่ายค่าจองเต็มจำนวนก่อนทันที ทั้งที่ รพ.เอกชนได้จองซื้อวัคซีนดังกล่าวจาก อภ.ในราคาโดสละ 1,100 บาท หรือ 2 เข็มเป็นเงิน 2,200 บาท รพ.เอกชนจึงได้กำไร 1,200 บาท จากต้นทุน 2,200 บาท หรือกำไรทันทีเกือบ 60% แต่สิ่งที่น่ารังเกียจคือ คณะกรรมการที่นายกฯ ได้ตั้งให้หมอปิยะสกลเป็นประธานนั้นมีตัวแทน รพ.เอกชนร่วมเป็นกรรมการเกือบ 10 คน ประชาชนจึงหวังพึ่งพากรรมการชุดนี้ลดราคาให้ไม่ได้ จึงเหลือทางเดียวคือใช้อำนาจของ กกร.ประกาศให้วัคซีนเป็นสินค้าควบคุม แต่อำนาจดังกล่าวถูกนายกฯ รวบไปแล้ว จึงต้องวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะใช้อำนาจที่ไปยึดเอาของ รมว.พาณิชย์มาจะรักษาประโยชน์ของใครระหว่าง รพ.เอกชนกับประชาชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |