ยอดติดเชื้อรายใหม่เป็นนิวไฮอีกวัน 11,784 ราย เสียชีวิต 81 ราย คลัสเตอร์ใหม่กระจายทั่ว "โฆษก ศบค." ขอทุกคนทำตามข้อกำหนด ระบุถ้าไม่ช่วยกันมีโอกาสเห็นยอด 3 หมื่นต่อวัน "สธ." ผวา! ติดเชื้อไม่ลดเสี่ยงโควิดกลายพันธุ์อีก หลังพบ "เดลตา" ลามไปแล้ว 71 จังหวัด "ทบ." เตรียมสถานที่แยกกักตัวชุมชนรับผู้ป่วยโควิดสีเขียว สั่ง รพ.ทหาร 37 แห่งเข้าสู่ระบบดูแลผู้ป่วยไปรักษาตัวที่บ้าน
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,784 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 11,674 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,997 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,677 ราย, มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 100 ราย, มาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 415,170 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 5,741 ราย หายป่วยสะสม 289,651 ราย อยู่ระหว่างรักษา 122,097 ราย อาการหนัก 3,595 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 81 ราย เป็นชาย 50 ราย หญิง 31 ราย โดยมากสุดอยู่ใน กทม. 26 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,422 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 191,220,126 ราย เสียชีวิตสะสม 4,105,743 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 2,134 ราย, สมุทรสาคร 765 ราย, ชลบุรี 615 ราย, สระบุรี 494 ราย, ปทุมธานี 485 ราย, พระนครศรีอยุธยา 484 ราย, สมุทรปราการ 483 ราย, นนทบุรี 381 ราย, ปัตตานี 296 ราย และตาก 267 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พบผู้ติดเชื้อ 60 ราย, ตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 55 ราย, โรงงานโลหะ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร 22 ราย, ห้างสรรพสินค้า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 21 ราย, โรงงานพลาสติก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 16 ราย, ตลาดสินทอง อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี 16 ราย, ห้างสรรพสินค้า อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี 23 ราย, โรงงานแปรรูปไก่ อ.เมืองฯ จ.พัทลุง 16 ราย
"เมื่อปีที่แล้วมีการคาดการณ์ว่าจะติดเชื้อ 16.9 ล้านคน ถ้าไม่ทำอะไรเลยมีการคาดการณ์อาจจะติด 9 แสนคน หรือ 9 ล้านคน หรือ 4 แสนคน วันนี้เห็นเป็นรายวันที่บอกวันละ1 หมื่น, 2 หมื่น, 3 หมื่นคน แต่เราไม่อยากให้เป็น วันนี้แตะหมื่นหลายวัน จึงอยากให้ลดลงไป โดยทุกคนต้องช่วยกัน ช่วยกันได้ ความสามัคคีที่จะช่วยกันได้ ข้อกำหนดออกมาเหมือนกติกาที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อดึงกราฟตัวเลขลงมาได้ เพื่อให้เห็นพลังและจิตใจของคนไทย นอกจากช่วยตัวเองและญาติพี่น้อง ก็ยังช่วยชาวไทยทุกคนด้วย จึงขอกราบขอความร่วมมือประชาชนทุกคน แล้วเราจะผ่านความทุกข์ยากไปด้วยกัน" โฆษก ศบค.กล่าว
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แซงสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เป็นที่เรียบร้อย ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ยังอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าดูแนวโน้มภาพรวมของประเทศที่เราตรวจกว่า 3,000 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์เดลตาเกือบ 63% และสายพันธุ์อัลฟา 34% อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เดลตาในวันนี้พบ 71 จังหวัด โดยเพิ่มขึ้นมา 11 จังหวัด ซึ่งมีหลายจังหวัดเดิมที่เป็นศูนย์อยู่กลับเพิ่มขึ้น เช่น แม่ฮ่องสอน 3 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย, สมุทรสงคราม 4 ราย, ฉะเชิงเทรา 20 ราย, ตราด 2 ราย, สุรินทร์ 28 ราย, ชุมพร 1 ราย, นครศรีธรรมราช 2 ราย, กระบี่ 2 ราย, พังงา 1 ราย และปัตตานี 2 ราย จึงเป็นเหตุว่าทำไมผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เพราะสายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติในการแพร่เชื้อที่ง่าย
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สายพันธุ์เบตายังอยู่ที่บริเวณชายแดนใต้เป็นส่วนใหญ่ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพิ่มในนราธิวาสกว่า 90 ราย ส่วนจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง พบเพิ่มขึ้นเช่นกัน และขึ้นไป จ.ชุมพร ซึ่งเป็นรายใหม่ ส่วนที่บึงกาฬสัปดาห์ที่แล้วพบ 1 ราย เป็นคนงานที่กลับมาจากไต้หวัน โดยพบผู้สัมผัสใกล้ชิด 3 ราย ส่วนกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ติดเชื้อติดจากญาติที่มาเยี่ยมจากนราธิวาส สัปดาห์นี้ยังไม่เจอ ถ้าสัปดาห์หน้ากรุงเทพมหานครยังเป็นศูนย์อยู่ สายพันธุ์เบตาก็อาจจะจบได้
สธ.ห่วงโควิดกลายพันธุ์
"ถ้าการติดเชื้อมีจำนวนสูงมาก โอกาสที่จะมีการกลายพันธุ์ก็จะสูงตามไปด้วย เมื่อไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ ก็อาจจะมีความผิดเพี้ยนเกิดขึ้นกลายเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังปล่อยให้มีการติดเชื้อมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีการกลายพันธุ์ก็สูงเท่านั้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบ 7 ราย ที่เราพบการติดเชื้อแบบผสมพบ 2 สายพันธุ์ทั้งอัลฟาและเดลตาในคนเพียงคนเดียว แต่มันยังไม่กลายเป็นพันธุ์ใหม่ แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้มากๆ เดี๋ยวมันก็จะพบกัน และอาจจะเป็นพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ ถ้ากลายพันธุ์แล้วมีขีดความสามารถมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อบ่อยขึ้น เร็วขึ้น การทำอันตรายมากขึ้น หรือดื้อวัคซีนมากขึ้น อันนี้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็จะจัดเป็นสายพันธุ์กลายเป็นที่น่ากังวล" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงอยู่บ้านที่ไม่สามารถเข้าไปดูแลส่งต่อออกไปยังโรงพยาบาลได้ ซึ่งหน่วยงานที่เข้าไปดูแลพบปัญหาหลักคือการเข้าไม่ถึง มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการได้เลยจำนวนมาก เจ็บป่วยไม่สบายก็ไม่สามารถออกมาได้
"ทีมช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรุงเทพมหานครก็เข้าไปไม่ถึง แต่กรณีที่เข้าถึง ก็พบปัญหาที่ซับซ้อนจริงๆ ไม่ใช่มิติที่จะเข้าไปควบคุมโรคอย่างเดียว แต่มีหลายมิติ เช่น การดูแลรักษา ให้วัคซีนป้องกัน ตรวจหาเชื้อเชิงรุก ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความหลากหลายของหน่วยงาน ดังนั้นภารกิจของหน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในชุมชนได้" นพ.รุ่งเรืองกล่าว
โฆษก สธ.กล่าวว่า สธ.และ กทม.เห็นปัญหาดังกล่าว จึงมองว่าภาพการแก้ไขปัญหาต้องมีการบูรณาการทำอย่างเบ็ดเสร็จ ต้องมีทีมเคลื่อนที่เร็ว (CCRT) เป็นการเข้าไปเชิงรุกพาผู้ป่วยที่มีอาการในกลุ่มสีเหลือง สีแดง ออกมา รพ.เพื่อทำการรักษา ซึ่งเราพบว่าจำนวนมากเป็นกลุ่มสีเหลืองที่พร้อมเข้าสู่อาการรุนแรงจนเสียชีวิต เราต้องทำให้ผู้ป่วยไม่พัฒนาอาการไปถึงความรุนแรงของโรค ดังนั้นจึงต้องเร่งเข้าไปดูแลและต้องป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อไปแพร่ต่อให้คนอื่น
"การดำเนินการของทีม CCRT ได้เริ่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการปฐมภูมิจากภาคเอกชนที่มีอยู่ใน กทม.มากถึง 80% การทำงานของทีมจะไม่ทำเป็นครั้งๆ แล้วจบไป แต่สิ่งสำคัญคือความต่อเนื่อง มองปัญหาของประชาชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อดูแลเขาเสมือนเป็นคนในครอบครัว เราเน้นพื้นที่สำคัญ โดย กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง แต่ละพื้นที่จะคัดเลือกออกมาว่า พื้นที่ใดเป็นปัญหามีความเร่งด่วน ทีมดังกล่าวจะไปทำเชิงรุกในพื้นที่ดูแลความเจ็บป่วยทันที" โฆษก สธ.กล่าว
ที่กองทัพบก พ.ต.หญิงจุฑาทิพย์ วุฒิรณฤทธิ์ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มอบนโยบายให้เร่งช่วยเหลือประชาชน ทั้งการสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เช่น การจัดเตรียม โรงพยาบาลสนาม ทบ.ในหลายพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลเพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกองทัพบกสนับสนุนรัฐบาลแล้ว 19 แห่ง รองรับได้ 3,177 เตียง
"กองทัพบกยังได้พิจารณาใช้ประโยชน์ของอาคารสถานที่ที่มีความพร้อมและยังไม่ถูกใช้งานเตรียมรองรับผู้ป่วยสีเขียวจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อเป็นการคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากบุคคลอื่นๆ และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อภายในครอบครัว และใช้เป็นสถานที่แยกกักตัวชุมชน (Community Isolation) โดยจะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพื่อดำเนินการต่อไป" ผู้ช่วยโฆษก ทบ.กล่าว
พ.ท.หญิงพัชรินทร์ บุศยกุล ผู้ช่วยโฆษก ทบ. เสริมว่า ผบ.ทบ.ยังได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ 37 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกทั่วประเทศดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อสีเขียวสามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก โดยกรมแพทย์ทหารบกรับผิดชอบบริหารจัดการในภาพรวมและกำหนดแนวทางการปฏิบัติ
ปากน้ำเร่งสร้างที่พักคอย
วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งสำนักอนามัย กทม.รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,166 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-18 ก.ค.64 พื้นที่เขตที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก คือ เขตคลองเตย บางแค ราชเทวี ดินแดง และหลักสี่ สำหรับผลการเฝ้าระวังสุ่มตรวจผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ ตลาด ชุมชน แคมป์คนงานก่อสร้าง และโรงงาน มีดังนี้
จากการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิดในตลาด ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย.-18 ก.ค.64 เป้าหมาย 466 ตลาด สามารถดำเนินการได้ 346 ตลาด คิดเป็น 74.25% จำนวนสุ่มตรวจ 18,952 ราย พบผู้ติดเชื้อ 365 ราย คิดเป็น 1.93% ของจำนวนที่ตรวจทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้สำนักอนามัยได้เข้าดำเนินการควบคุมโรคตลาดทุกแห่งแล้ว ส่วนผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิดในชุมชน ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-18 ก.ค.64 เป้าหมาย 248 ชุมชน สามารถดำเนินการได้ 252 ชุมชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวนสุ่มตรวจ 12,222 ราย พบผู้ติดเชื้อ 194 ราย คิดเป็น 1.30% ของจำนวนที่ตรวจทั้งหมด และได้เข้าดำเนินการควบคุมโรคชุมชนทุกแห่ง
ในส่วนการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิดในแคมป์คนงาน ระหว่างวันที่ 10 มิ.ย.-18 ก.ค.64 เป้าหมาย 608 แคมป์ สามารถดำเนินการได้ 102 แคมป์ คิดเป็น 16.80% จำนวนสุ่มตรวจ 6,446 ราย พบผู้ติดเชื้อ 544 ราย คิดเป็น 8.44% ของจำนวนที่ตรวจทั้งหมด และได้เข้าดำเนินการบับเบิลแอนด์ซีลทุกแห่ง และผลการสุ่มตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิดในโรงงาน ระหว่างวันที่ 2-18 ก.ค.64 เป้าหมาย 72 โรงงาน สามารถดำเนินการได้ 72 แห่ง คิดเป็น 100% จำนวนสุ่มตรวจ 5,892 ราย พบผู้ติดเชื้อ 380 ราย คิดเป็น 6.45% ของจำนวนที่ตรวจทั้งหมด
จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ รายงานสถานการณ์โควิดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 483 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 432 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการจำนวน 51 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 57 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ
"ขณะนี้ในเขตอำเภอเมืองสมุทรปราการได้เร่งดำเนินการจัดตั้งสถานที่พักคอยผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตามนโยบายจังหวัดสมุทรปราการแล้วจำนวน 9 แห่ง ในพื้นที่ 9 ตำบลอยู่ในระหว่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกมาพักคอยรอรักษาจะได้ไม่แพร่เชื้อไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัวระหว่างรอเตียง" นพ.พรณรงค์ระบุ
จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 106 ราย แยกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 6 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 100 ราย โดยกระจายใน 12 อำเภอ วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม ทั้งหมด 1,216 ราย แยกเป็นรายใหม่ 23 ราย และรายเก่า 1,193 ราย ส่วนการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม/แดง/ส้ม สะสม 26,515 ราย แยกกักตัวที่บ้าน 22,680 ราย และกักตัวในท้องถิ่น 3,835 ราย
จ.นครราชสีมา สาธารณสุขจังหวัดรายงานพบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่าทุกวันที่ผ่านมาถึง 142 ราย กระจายในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอ เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายอายุ 52 ปี อ.ขามสะแกแสง ต.เมืองนาท มีโรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติเดินทางมาจาก กทม. วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
จ.อำนาจเจริญ นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ (สสจ.) รายงานสถานการณ์โควิดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 33 ราย เป็นผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง แล้วเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีที่มาถึง จำนวน 33 ราย
จ.สมุทรสาคร สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ทุกฝ่ายจะได้เร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเต็มกำลังความสามารถ จากการรายงานข้อมูลล่าสุด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมจำนวนทั้งสิ้น 789 ราย จำแนกเป็นพบผู้ติดเชื้อจากค้นหาเชิงรุกลดลงมาที่ 128 ราย
จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 179 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา กล่าวว่า กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่มีค่อนข้างสูง ส่วนกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงในตลาด ในหน่วยงานและกลุ่มผู้ติดเชื้อในโรงงานเบาบางลง ต้องทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบเข้มข้นต่อไป ส่วนในพื้นที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร ยังมีการประเมินสถานการณ์อยู่ หากพบผู้ติดเชื้อแนวโน้มสูงจะล็อกดาวน์ชุมชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |