เข้าขั้นวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กรุงเทพมหานครเป็นแหล่งเพาะเชื้อกระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่มีท่าทีจะควบคุมได้ นับวันตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทำสถิตินิวไฮทะลุ 1 หมื่นคนต่อวันไปแล้ว ผู้เสียชีวิตเป็นเงาตามตัว ทะลุเพดาน 141 ราย อัตราการติดเชื้อแซงหน้าประเทศอินเดียไปแล้วในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการการแพร่ระบาดเชื้อโรคภาครัฐล้มเหลว
การแพร่ระบาดที่รุนแรงรอบนี้ไม่ได้เกินกว่าที่คาดการณ์ เพราะไทยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ปล่อยให้คนเดินทางกลับต่างจังหวัด กลายเป็นหายนะมาแล้วครั้งหนึ่ง กระทั่งมีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหญ่หลายร้อยแห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เหตุการณ์ซ้ำรอยผึ้งแตกรัง คนงานเดินทางกลับภูมิลำเนาทั่วทุกภาค เป็นพาหะนำเชื้อโรคกระจายไปทั่วประเทศ เพียงไม่กี่ชั่วโมง เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ขณะที่การนำเข้าวัคซีน การเข้าถึงวัคซีนของประชาชน การตรวจเชื้อ ยังเป็นปัญหา ยอดผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตคือคำตอบที่ชัดเจนที่สุด
หลังจากก่อนหน้านี้ วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับที่ 27 ล็อกดาวน์ 10 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด ประกอบไปด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส แต่ปรากฏว่ายอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มต่อเนื่อง นายกฯ ได้ลงนามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 28 ขยายล็อกดาวน์เพิ่มพื้นที่ในอีก 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยมีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.นี้
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายและดำเนินกิจกรรมของบุคคลในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่ ให้จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พักโดยไม่จำเป็น หรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์และรับบริการทางการแพทย์ ห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่งปิดทำการเวลา 20.00-04.00 น. ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามกินอาหารหรือดื่มสุราในร้าน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าเปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น. โรงแรมเปิดได้ตามปกติ แต่งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้เรียนออนไลน์ ห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไปหากการรวมกลุ่มนั้นไม่ใช่เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบอาชีพ กิจกรรมศาสนาหรือประเพณี ทั้งรัฐและเอกชนทำงานที่บ้านมากที่สุด
ความผิดพลาดการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงเป็นแผลเรื้อรังที่กำลังลุกลามกัดกร่อนรัฐบาลนายกฯ ตู่อยู่ โดยเฉพาะการจัดหานำเข้าวัคซีนทางเลือกที่มีคุณภาพนอกเหนือจากซิโนแวค ที่กลายเป็นวัคซีนการเมือง แม้แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างองค์การเภสัชฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถยังขัดขากันเองถึงขั้นจะฟ้องร้อง จะแฉกันเองกันแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่ต้องจับมือกันแก้วิกฤติชาติยังทำงานแบบตัวใครตัวมัน ขาดการประสาน แล้วประชาชนจะหวังไปพึ่งใคร กลายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลที่ต้องมารับภาระหนักอึ้ง ทำให้ด่านหน้าเริ่มหมดแรง ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ หลาย รพ.ต้องประกาศงดรับผู้ป่วยทุกกรณี
มาตรการล็อกดาวน์ที่อ้าง “เจ็บแล้วจบ” มันชักไม่ใช่ เมื่อตัวเลขยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงแม้จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาให้ประชาชนอยู่บ้าน งดการเดินทาง หน่วยงานรัฐเอกชนให้เวิร์กฟรอมโฮมมากที่สุด แต่อีกคลัสเตอร์ใหญ่ที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถจัดการได้คือ “ม็อบ” ที่นัดชุมนุมทุกวันหยุดของสัปดาห์เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากตำแหน่ง ชี้เป้ามุ่งโจมตีการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประชาชนเกิด ความเดือดร้อน ให้ลาออกทั้งองคาพยพ
พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมีการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่การชุมนุมยังคงมีต่อเนื่องมาตลอด โดยมีเก้าอี้นายกฯ เป็นเดิมพัน ตั้งแต่ห้วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หลายกลุ่มมีการนัดหมายชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ดำเนินคดี 99 ราย ฐานความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.ความสะอาด, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง ถึงแม้จะมีการประกาศเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นผู้ชักชวน แกนนำ ผู้เข้าร่วมชุมนุม เจ้าของรถขยายเสียง รถห้องน้ำ จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สนใจ ยังคงนัดหมายชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะโค่น พล.อ.ประยุทธ์ลงได้
“โควิด-ม็อบ” กลายเป็นโจทย์ตัวเดียวกันที่รัฐบาลลุงตู่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้รัฐบาลมีความเสถียรภาพ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 6 สาระสำคัญ ข้อ 2 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร
3.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ พื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ห้ามการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค
4.ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมพื้นที่เฝ้าระวังสูง หรือพื้นที่เฝ้าระวัง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2564 หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 6 ถูกมองเป็นเครื่องมือทางการเมือง ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม ห้ามมั่วสุมทำกิจกรรม ซึ่งทางผู้ชุมนุมยืนยันเชื้อโรคที่แพร่ระบาดไม่ได้มาจากผู้ชุมนุมเป็นต้นเหตุ แต่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอ และเกิดจากเจ้าหน้าที่คอร์รัปชันปล่อยแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศจนเกิดการแพร่ระบาด
ถึงแม้จะมีประกาศฉบับที่ 6 ออกมาวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ค. กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดการชุมนุมไล่นายกฯ ตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายจุด มีการระดมฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ปืนกระสุนยาง มีผู้ได้รับบาดเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่าย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไม่สนใจข้อกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ตำรวจมีกฎหมายรองรับอย่าให้ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 6 เป็นเพียงเสือกระดาษ หรือแค่เขียนเสือให้วัวกลัว ต้องบังคับใช้กฎหมายตีกรอบการแพร่ระบาดของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นอีกคลัสเตอร์ให้หมดไปให้เร็วที่สุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |