19ก.ค.64-"ปลัด ศธ." เผยข้อเรียกร้องการปรับแก้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ ให้คืนอำนาจ"อ.ก.ค.ศ."โยกย้ายข้าราชการครู อยู่ที่การพิจารณาของสภาฯ ชี้ 5 ปี ภายใต้โครงสร้าง กศจ. ปัญหาคอรัปชั่น ทุจริตการย้ายครูหายไป ไม่มีการร้องเรียนอีก
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ตามที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19 / 2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีหลักการสำคัญของการคืนอำนาจการบริหารงานบุคคลด้วยการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา 53 กลับคืนมาให้ อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ในฐานะผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 นั้น เรื่องนี้คงต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณา ว่า จะตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่ทราบร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีแนวทางปฏิบัติเรื่องอำนาจการบริหารงานบุคคลอยู่หลายรูปแบบ
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ได้กำหนดโครงสร้างอำนาจการบริหารงานบุคคลให้อยู่ในรูปแบบ โดยใน อ.ก.ค.ศ.จังหวัด ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้แทนผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ร่วมด้วย ดังนั้นตนคิดว่าไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช.นั้น มีเรื่องร้องเรียนถึงการโยกย้ายที่ส่อเป็นการเรียกรับผลประโยชน์เกิดขึ้น นอกจากนี้เมื่อมีการปรับโครงสร้างปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. เกิดขึ้นจนมีศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ทำให้การบริหารการศึกษาจะต้องเป็นภาพรวมทั้งจังหวัด ดังนั้นอำนาจการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายจะอยู่ที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ดำเนินการ ซึ่งจากการสำรวจการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายในรูปแบบ กศจ.พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการคอรัปชั่นหรือการวิ่งเต้นเกิดขึ้นจากเรื่องนี้ โดยถือว่าเรื่องดังกล่าวลดลงไปได้อย่างมาก