มองโควิดผ่านประวัติศาสตร์โรคระบาด


เพิ่มเพื่อน    

ถึงเดือนนี้การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกก็ยืดเยื้อมานานกว่า 18 เดือนหรือปีครึ่ง และไม่มีท่าทีว่าจะจบง่าย ๆ ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มเฉลี่ยเจ็ดวันอยู่ที่ 373,545 คนต่อวัน (ตัวเลขวันจันทร์ที่แล้ว) ในประเทศเราทั้งตัวเลขระบาดใหม่และผู้เสียชีวิตก็อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง ทำให้มีการวิตกกันว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ และทางการจะควบคุมการระบาดได้หรือไม่

สาเหตุที่การระบาดทั่วโลกยังมีต่อเนื่องคงเกิดจากหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญน่าจะเป็นสามเรื่อง หนึ่ง เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด ทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ยาก สอง พฤติกรรมใช้ชีวิตของคนทั่วโลกก็สลับไปสลับมาระหว่างการมีวินัยทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาด กับการผ่อนคลายวินัย เมื่อสถานการณ์ระบาดดูดีขึ้นที่อาจเร็วเกินไป สาม ความเหลื่อมล้ำในการกระจายและฉีดวัคซีนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จุดอ่อนเหล่านี้เปิดพื้นที่ให้การระบาดกลับมาได้ง่ายและในหลายพื้นที่ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง อัฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมประเทศไทย การระบาดขณะนี้รุนแรงมากกว่าครั้งก่อน ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่า ในหลายประเทศการระบาดรอบใหม่นี้กำลังพุ่งขึ้นเป็นเส้นตรง คำถาม คือ เราจะหยุดการระบาดได้หรือไม่ และจะหยุดอย่างไร

ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ เรากำลังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือ Pandemic เป็นเหตุการณ์ที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นครั้ง ครั้งสุดท้ายก็คือการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปน ปี 1918-20 ที่ใช้เวลากว่าสองปีก่อนที่การระบาดจะสงบ คร่าชีวิตผู้คนไปมาก และถ้าเราศึกษาการระบาดใหญ่อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนปี 1918 จะเห็นว่าในทุกการระบาดใหญ่ ลักษณะของผลกระทบที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจจะคล้ายกัน คือ เป็นรูปแบบ หรือ Pattern เดียวกัน เพราะเป็นผลของพฤติกรรมมนุษย์ที่มีต่อการระบาด และพฤติกรรมมนุษย์มักไม่เปลี่ยนแม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยปี ทำให้จะมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายที่มากับการระบาดใหญ่

ข่าวร้ายคือการระบาดจะไม่จบเร็ว แต่จะยืดเยื้อและใช้เวลา สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ส่วนข่าวดีคือ ทุกการระบาดใหญ่จะจบ และเมื่อจบแล้วสังคมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นตามมา นำประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น

ข้อสังเกตนี้มาจากงานเขียนล่าสุดของศาสตราจารย์ นิโคลัส คริสตาคิส (Niclolas Christakis) มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ในหนังสือ "ลูกศรของอพอลโล" หรือ Apollo's Arrow : The Profound and Enduring Impact of Coronavirus on the Way We Live ตีพิมพ์ปี 2020 ผู้เขียนเป็นทั้งแพทย์และนักสังคมวิทยาที่ศึกษาการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีตและวิเคราะห์รูปแบบของผลกระทบที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งน่าสนใจมาก

ผู้เขียนวิเคราะห์การระบาดใหญ่ โดยแบ่งช่วงเวลาการระบาดเป็นสามช่วง ช่วงแรก คือ ช่วงที่การระบาดเกิดขึ้น ช่วงสอง คือ ช่วงกลางที่การระบาดลดลงและสังคมเริ่มปรับตัวกลับสู่ความเป็นปรกติ ช่วงสาม คือ ช่วงหลังการระบาดที่การระบาดสงบและโลกเข้าสู่โลกใหม่ที่ดีขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละช่วงพฤติกรรมของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ระบาด

ช่วงแรกที่เกิดการระบาด ผลกระทบจะรุนแรงทั้งในเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ การสูญเสียจะมากเพราะไม่มีวิธีแก้ไขโรคระบาด ต้องพึ่งแนวทางดั้งเดิมคือ กักตัวลดการติดต่อเพื่อหยุดการระบาด ช่วงนี้การใช้อำนาจของรัฐจะเพิ่มมากเพื่อแก้ไขปัญหา และประชาชนหวังให้รัฐทำหน้าที่ เช่น ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ออกกฏเกณฑ์ที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเพื่อลดการระบาด รักษาระบบสาธารณสุขให้ทำงานได้ต่อไป เยียวยา และพัฒนายา หรือวัคซีน ขณะเดียวกันการระบาดก็เปิดให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่สังคมและเศรษฐกิจมี เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่เพียงพอของระบบประกันสังคม เป็นต้น

สำหรับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่บ้านพฤติกรรมก็จะเปลี่ยน คิดถึงชีวิตตนเองและความสำคัญของครอบครัวมากขึ้น ลดการใช้จ่าย เก็บออม เข้าหาศาสนา และมองหาความหมายของชีวิต ขณะเดียวกันก็อึดอัดกับความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ความไม่เป็นธรรมในสังคมเห็นได้ชัดเจน เช่น การเข้าถึงการรักษาพยาบาล เกิดความไม่พอใจที่รัฐควบคุมการระบาดไม่ได้ และจะปลดปล่อยความรู้สึกเหล่านี้ด้วยการแสดงออกหรือประท้วง

ศาสตราจารย์ คริสตาคิส วิเคราะห์ว่า ช่วงการระบาดนี้จะจบเมื่อสังคมมีภูมิต้านทานหมู่มากพอที่จะชะลอพลังทางชีวภาพของไวรัสและลดการระบาด และมองการพัฒนาวัคซีนที่ทำได้สำเร็จคราวนี้เป็นความก้าวหน้าสำคัญของมนุษยชาติเทียบกับการระบาดใหญ่ในอดีตที่ไม่มีวัคซีน ทำให้เราขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปลายของช่วงการระบาด และประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็จะเข้าสู่ช่วงที่สอง คือ ช่วงการระบาดต่ำประมาณปลายปีนี้ ถ้าสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากกว่าร้อยละ 75 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยเหตุนี้วัคซีนจึงสำคัญมากต่อการลดการระบาด และปัญหาขณะนี้คือการผลิต และการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทุกประเทศในโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ช่วงสอง เป็นช่วงที่การระบาดลดลงจากผลของภูมิคุ้มกันหมู่ แต่การระบาดยังมีอยู่ แต่เป็นการระบาดในระดับต่ำ ทำให้มาตรการป้องกันต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายได้เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปรกติ ช่วงนี้ความไม่แน่นอนยังมีมาก แต่ประชาชนและเศรษฐกิจก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่ความเป็นปรกติ โดยประชาชนจะให้ความสำคัญกับการหารายได้ การมีงานทำ และการศึกษาเล่าเรียนของลูกหลานว่าจะชดเชยเวลาเรียนที่เสียไปอย่างไร ภาคธุรกิจก็จะปรับตัวด้วยวิธีการทำงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อเคลื่อนย้ายทรัพยากรและกำลังการผลิตออกจากสาขาเศรษฐกิจที่ไปต่อไม่ได้ไปสู่สาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องการแนวทางว่าจะอยู่ในโลกที่โควิดมีการระบาดต่ำอย่างไรอย่างปลอดภัย ซึ่งต้องพึ่งคำชี้แนะและแนวทางที่ชัดเจนจากภาครัฐ และขณะนี้หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ก็เริ่มวางแนวทางในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์คริสตาคิส ประเมินว่า ช่วงการระบาดต่ำนี้จะใช้เวลาสองปีก่อนที่โลกจะเข้าสู่ช่วงสาม คือ ช่วงโลกใหม่หลังโควิดในปี 2024

ช่วงสาม คือ ช่วงที่โควิดหายไปจากโลก อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ทำให้ชีวิตกลับมาเป็นปรกติไม่ต้องระมัดระวัง ผลคือ ในช่วงนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะพุ่งทะยาน เศรษฐกิจจะเติบโตมากจากความอึดอัดที่มีมานาน พฤติกรรมบุคคลจะเปลี่ยนตรงข้ามกับความระมัดระวังที่เคยมีในช่วงโควิด คนพร้อมที่จะผจญภัยและเสี่ยงมากขึ้น ใช้ชีวิตและสังคมกันเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่ความคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะพรั่งพรู และเศรษฐกิจจะเติบโตมาก

ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น เป็นโลกที่ดีขึ้นหลังโควิด จะมีการผลักดันการปฏิรูปหลายอย่างให้เกิดขึ้น  เป็นการปฏิรูปใหญ่ที่ทุกคนอยากเห็นเพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูประบบการเมือง ระบบข้าราชการ การศึกษา ระบบประกันสังคมและสุขภาพ และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่เศรษฐกิจและการเมืองใหม่ที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น

นี่คือบริบทที่รออยู่ข้างหน้า มองผ่านประวัติศาสตร์ของโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งการระบาดของโควิด-19 คราวนี้ก็คงอยู่ในแนวนี้ไม่ต่างกัน คือ มีเริ่ม มีจบ และระยะทางระหว่างเริ่มกับจบก็จะใช้เวลา ดังนั้นถ้าเราตระหนักเช่นนี้ เราจะมองสถานการณ์ระบาดในประเทศขณะนี้ด้วยความสุขุมและร่วมกันนำประเทศออกจากวิกฤติด้วยสติและปัญญา

ในแง่เศรษฐกิจ ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เศรษฐกิจจะตกต่ำมากจากผลของการระบาด อย่างที่เห็นปีที่แล้ว และเมื่อการระบาดลดลงเข้าสู่ช่วงที่สองของการระบาดต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัว ก่อนเข้าสู่ช่วงที่สามที่การระบาดสงบ เศรษฐกิจจะรุ่งเรือง และเติบโตมาก

ที่ต้องระวังคือ การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสามอาจเพาะเชื้อวิกฤติเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นตามมาได้ถ้าไม่ระมัดระวัง ดูจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกร้อยปีที่แล้ว หลังการระบาดของไข้หวัดสเปนจบลงในปี 1920 จากนั้นสองปีที่เศรษฐกิจใช้เวลาปรับตัวและเศรษฐกิจโลกก็บูมมากช่วงปี 1922-29 ตลาดหุ้นบูม ทั้งจากนวัตกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและการเก็งกำไร จนเกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นในปี 1929 นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลกในปี 1930 ตามมา

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นหนึ่งร้อยปีที่แล้ว คำถามคือ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยได้หรือไม่ ที่การพุ่งทะยานของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจบลงจะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกและวิกฤติเศรษฐกิจโลกตามมา

เรื่องนี้คงยังไม่มีใครตอบได้ เป็นสิ่งที่รอพิสูจน์และสิบปีก็ไม่นานเกินรอว่าจะเป็นเหมือนที่ มาร์ค ทเวน (Mark Twain) นักเขียนชาวอเมริกัน เคยพูดไว้หรือไม่ว่า History never repeat itself, but it rhymes คือ ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย แต่จะสัมผัสเหมือนบทกวี.

 

คอลัมน์ เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"