ชี้หมอหนูเป็นแพะ/เซ็นซื้อไฟเซอร์20ล้านโดส


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ กำชับหน่วยฉีดวัคซีนโควิดเข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่าง โชว์ยอดฉีดวัคซีนในไทยสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน "อนุทิน" ชง "ศบค." เคาะจำกัดส่งออก "แอสตร้าเซนเนก้า" ไปต่างประเทศ หวังได้ 10 ล้านโดสฉีดให้คนไทยก่อน สัปดาห์หน้าคุยทุกบริษัทจัดหาวัคซีน mRNA สธ.เปิดไทม์ไลน์ดีลแอสตร้าฯ ตั้งแต่ ส.ค.63 ยันต้องเจรจากันรายเดือน กรมการแพทย์เริ่มฉีดวัคซีนสลับเข็ม 19 ก.ค.นี้ "สส.ภท." ป้อง "อนุทิน" เป็นแพะรับบาป แฉเจ้าของ รพ.เอกชนนั่งคุม กก.จัดหาวัคซีน ซัดผลประโยชน์ทับซ้อนตีวัคซีนรัฐให้คนรอโมเดอร์นา
    เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เผยแพร่สถานการณ์ประจำวันถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนวันที่ 17​ ก.ค.2564 ว่ามีจำนวน 307,134 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม 14,223,762 โดส
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  จากกรณีที่มีรายงานภาพข่าวที่มีประชาชนจำนวนมากไปรอฉีดวัคซีน ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลบางแห่ง และไม่มีการเว้นระยะห่าง และมีการชี้แจงของผู้ดูแลพื้นที่ในเวลาต่อมาว่าเกิดจากประชาชนมา ณ จุดบริการก่อนเวลานัดหมายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีข้อห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกำชับให้หน่วยให้บริการแต่ละหน่วยเพิ่มความระมัดระวังเรื่องของการจัดคิวและให้ข้อมูลเวลารับวัคซีนแก่ประชาชนที่ชัดเจน รวมถึงมีมาตรการจัดการในเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด
    ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไทยทั่วประเทศ ณ วันที่ 17 ก.ค.2564  รวมอยู่ที่ 14.13 ล้านโดส ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่าเป็นปริมาณการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 57.48 ล้านโดส ขณะที่ฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนแล้ว 14.07 ล้านโดส, มาเลเซีย 13.62 ล้านโดส, กัมพูชา 9.67 ล้านโดส เป็นลำดับที่ 3-5 ในอาเซียน ตามลำดับ
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เสนอให้ ศบค.พิจารณาตัดสินใจ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย 
    รมว.สาธารณสุขกล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เชิญผู้แทนของบริษัทวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทยทุกรายเข้าพบในสัปดาห์หน้า  เพื่อหารือถึงแนวทางที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่ประชาชนต้องการ ซึ่งขณะนี้ผู้แทนของโมเดอร์นาได้ตอบรับที่จะร่วมหารือกับผู้บริหาร สธ.แล้ว รวมทั้งได้มีการยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทไฟเซอร์ประเทศไทย เพื่อสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือกันเร็วๆ นี้
บี้แอสตร้าส่งไทย 10 ล้านโดส/เดือน
    แหล่งข่าวจาก สธ.เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบหลักการที่จะมีการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติเสนอ และมอบให้สถาบันวัคซีนฯ กับกรมควบคุมโรคจัดทำร่างประกาศเพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา โดยให้คำนึงถึงผลกระทบ ผลประโยชน์ของประเทศไทย และประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ ทั้งปัจจุบันและอนาคตควบคู่กันไป และให้ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติกับ อธิบดีกรมควบคุมโรคไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศก่อน ซึ่งประเด็นนี้นายอนุทินเคยแจ้งเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงแอสตร้าเซนเนก้าแล้วว่าประเทศไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส  
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า การจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของประเทศไทยภายหลังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ได้จัดส่งวัคซีนมาแล้วดังนี้ วันที่ 24 ก.พ. ล็อตแรก 117,300 โดส จนถึงวันที่ 16 ก.ค. อีก 505,700 โดส รวมกว่า 8,193,500 โดส จะเห็นว่าการส่ง เมื่อผลิตได้เสร็จรับรองคุณภาพเสร็จก็ทยอยส่ง  เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขเคยกำหนดว่าการจัดส่งวัคซีนจะทยอยส่งให้กับพื้นที่ฉีดทั้งกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ เป็นรายสัปดาห์
    นพ.โอภาสกล่าวชี้แจงเหตุการณ์ตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายแรก ว่าเป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในเดือน ม.ค.62 จากนั้นวันที่ 22 เม.ย.63 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผนบลูปรินต์ (blue print) เพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประชากรไทย 24 ส.ค.63 สธ.ลงนามสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท แอสตร้าฯ ให้ผู้ผลิตในประเทศไทย 9 ต.ค.63 นายอนุทินออกประกาศเรื่องการจัดหาวัคซีนในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน 17 พ.ย.63 ครม.เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า กับบริษัท แอสตร้าฯ 26 ล้านโดส  27 พ.ย.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล ลงนามในสัญญา 3 ฝ่ายระหว่างบริษัท แอสตร้าฯ ประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค จากนั้นวันที่ 5 ม.ค.64 ครม.เห็นชอบให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส 
    “เราดำเนินการเรื่องนี้มาปีกว่าแล้ว ตั้งแต่การระบาดในครั้งแรกๆ เมื่อเดือน เม.ย.63 โดยจะสังเกตได้ว่าตอนที่เราส่งสัญญาไปแล้วบริษัท แอสตร้าฯ จะลงนามในสัญญากลับมา จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งที่เราเจรจากันแล้วถือว่าข้อผูกพันนี้จะไม่เป็นทางการ แต่ส่วนที่เป็นทางการจะอยู่วันที่ 4 พ.ค. ที่กรมควบคุมโรค"
    ส่วนกรณีจดหมายการเจรจาระหว่างแอสตร้ากับนายอนุทิน ที่มีการระบุตัวเลขการส่งวัคซีนที่ 3 ล้านโดสต่อเดือนนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า การประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ก.ย.63 ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยในเดือน ก.ย.63 ตอนนั้นมีการสอบถามว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยมีเท่าไหร่ ข้อมูลตอนนั้น คือฉีดได้ 3 ล้านโดส แต่ความเป็นจริง กรมควบคุมโรคไม่เคยบอกเป็นทางการ ว่าเราจะสามารถฉีดได้ 3 ล้านโดส เพราะจริงๆ เรามีการแจ้งเป็นทางการกับแอสตร้าฯ ว่าเรามีขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดส หากมีวัคซีนเพียงพอ
    "ดังนั้นข้อมูลที่ว่าแอสตร้าฯ จะส่งให้เราได้เท่าไหร่ มี 2 ส่วน คือความต้องการของประเทศไทยและกำลังการผลิตของเขา ซึ่ง 2 ส่วนนี้ต้องเชื่อมต่อกันและเป็นการส่งวัคซีนจริง” นพ.โอภาสกล่าว
สส.ภท.แฉผลประโยชน์ทับซ้อน
    เมื่อถามว่า ก่อนทำสัญญาทางบริษัทแอสตร้าฯ ได้ระบุสัดส่วนการส่งออกวัคซีนหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ในชุดสัญญา 3 ฝ่ายจากบริษัท แอสตร้าฯ กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นการจองล่วงหน้า จึงระบุไม่ได้ว่าเขาผลิตเท่าไหร่อย่างไร การผลิตและการส่งมอบจึงต้องเจรจาเป็นรายเดือน ส่วนการส่งออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ ก็ไม่ได้แจ้งเราในสัดส่วนตอนทำสัญญา ก็ได้ทราบตัวเลขจากที่เขาระบุไว้หนังสือเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.64 แต่ไม่ได้ระบุในตอนทำสัญญาว่าจะส่งออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ แต่ระบุว่าหากต้องส่งออกไปต่างประเทศ ขอให้ไทยสนับสนุน ไม่ขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร
     เมื่อถามอีกว่า บริษัท แอสตร้าฯ ยังส่งให้เราทุกสัปดาห์ต่อจากนี้หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนถูกส่งมาต่อเนื่อง บางสัปดาห์ส่งมา 2 ครั้ง ส่วนที่มีข่าวว่าจะขยายการจัดส่งถึงเดือน พ.ค.65 ข้อเท็จจริงคือ กำลังการผลิตของบริษัท แอสตร้าฯ โรงงานในไทย พยายามผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้มีกำลังการผลิตจากที่เราคำนวณเองคือ 15 ล้านโดสต่อเดือน ฉะนั้นหากคิด 1 ใน 3 ก็จะส่งให้เราได้เดือนละ 5 ล้านโดสเป็นอย่างต่ำ ซึ่งก็ต้องมีการเจรจารายเดือนต่อไป ส่วนที่มีข่าวว่าจะขยาย พ.ค.65 ก็ต้องเจรจาต่อไป แต่แอสตร้าฯ ไม่เคยระบุกรณีนี้
ขณะเดียวกัน มีรายงานการประชุมหารือแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สำนักงาน กสทช. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) เป็นประธาน 
โดย นพ.โอภาสได้รายงานถึงเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ว่า ในวันที่ 19 ก.ค. จะเซ็นซื้อ 20 ล้านโดส ไม่ใช่ 40 ล้านโดส และจะมาไตรมาส 4 และจะขอซื้อเพิ่มอีก 50 ล้าน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ และจะมาเมื่อไหร่ อีกทั้งจะขอซื้อวัคซีนโนวาแวกซ์ด้วย ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาค 1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ยืนยันมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลการจัดซื้อวัคซีน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
    กรมการแพทย์ประกาศเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้รับบริการที่ลงทะเบียนไว้กับหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้รับบริการกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนเก้า ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะปฏิบัติตามแนวทาง สำหรับหน่วยบริการต่างๆ รวมทั้งมีการติดตาม ประเมินผลการให้วัคซีนแบบสลับชนิดอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อให้การรับวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้สูงสุด และให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วที่สุด  
    เพจศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แจงกรณีการจัดสรรวัคซีนของสภากาชาดไทยที่จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาจำนวน 1 ล้านโดส ว่าในเบื้องต้นต้องมุ่งเน้นกลุ่มผู้ เปราะบางและมีความเสี่ยงที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
    ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง  “อนุทิน” กับการจัดหาวัคซีน แพะรับบาปของ ศบค. สรุปใจความว่า จำเป็นต้องออกมาพูดเพื่อปกป้องคนทำงานที่ชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีน เป็นคนที่ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงสำคัญที่ว่า "อนุทิน ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดหาวัคซีน" มาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 ที่นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ 5/2564 "เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)" มี อ.ปิยะสกลเป็นประธาน การกำหนดวัคซีนหลัก วัคซีนทางเลือก มาจาก กก.ที่ อ.ปิยะสกลเป็นประธาน มีเจ้าของ รพ.เอกชนเป็น กก.เบอร์ 9-16 เป็น เจ้าของ รพ.เอกชน อ.ปิยะสกลคืออดีต รมว.สธ. ที่มีอำนาจเหนือ รมว.สธ.
    "เจ้าของ รพ.เอกชนเป็นทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำหนดแนวทางซื้อและขาย ซึ่งนี่มันผลประโยชน์ทับซ้อนเห็นๆ นี่คือ ศบค.ได้มองเห็นหรือไม่? และนี่คือเหตุที่มีการใช้สื่อตีวัคซีนของรัฐบาล ให้คนรอโมเดอร์นาที่ รพ.เอกชนซื้อผ่าน อภ.มาทำธุรกิจ?"
    นายศุภชัยระบุว่า ศบค.ก็ต้องออกมาบอกประชาชนว่าความจริงเป็นเช่นไร ไม่ใช่ปล่อยให้อนุทินเป็นแพะรับบาป จนถึงวันนี้ คน สธ.ก็พร้อมรับปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ไม่อยากทำ เพราะนี่คือการเอาเปรียบรัฐ เอาเปรียบประชาชน หากินกับประชาชนที่กำลังเดือดร้อนและเสียขวัญ อนุทินวันนี้กลืนเลือด ไม่ท้อ ไม่ถอย ถ้าจำกันได้ตอนคำสั่งฉบับนี้ออกมา มีคนสะใจมากที่ รมว.สธ.โดนยึดอำนาจ แต่คนกลุ่มนี้เองที่บิดเบือนความจริงกล่าวหา รมว.สาธารณสุขว่าล้มเหลวการจัดหาวัคซีนและสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน จิตใจพวกคุณทำด้วยอะไรถึงกระทำการอันเลวร้ายเช่นนี้? แทนที่เราจะร่วมกันช่วยกันฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพื่อประเทศของเรา แต่กลับมีคนแบบนี้อยู่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"