เตรียมตัวไว้! 'อธิบดีกรมควบคุมโรค' ส่งสัญญาณ'อู่ฮั่นโมเดล'


เพิ่มเพื่อน    

18 ก.ค.64 -ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมหารือแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สำนักงาน กสทช. ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. พญ.อภิสมัยศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ร่วมหารือกับผู้บริหารสื่อทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  

มีรายงานว่า ในที่ประชุม พล.อ.ณัฐพล ได้ระบุว่า การแก้ไขปัญหาและการควบคุมโรคจะให้ได้ดีที่สุดจะต้องประกอบด้วย รัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน โดยรัฐกำหนดนโยบาย มีเอกชนและประชาชนให้ความช่วยเหลือและหนุนการทำงาน ส่วนสื่อมวลชนทำหน้าที่ช่วยชี้แจงทำความเข้าใจ จึงจะก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้ นอกจากนี้ พล.อ.ณัฐพล ยังยืนยันว่า โครงสร้างการทำงานของ ศบค. ทำงานด้วยร่วมมือกันทุกภาคส่วน

พล.อ.ณัฐพล ยังได้ใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงข้อกำหนดฉบับที่ 28 ที่ประกาศออกมาล่าสุดว่า จำเป็นที่ต้องต้องปรับให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการระบาดที่แพร่เพิ่มมากขึ้น  โดยการปรับมาตรการต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจาก ศบค.ชุดใหญ่ ได้ออกข้อกำหนดให้มีการเพิ่มมาตรการไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดฉบับที่ 28  มีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยด่วนเพื่อลดการเดินทางออกจากเคหะสถานของประชาชน เร่งการฉีดวัคซีน และชะลออัตราการระบาด ที่รุนแรงของโรคโดยต้องหยุดยั้งการกระทำใดๆ ที่เสี่ยงหรือเป็นเหตุให้แพร่เชื้อ

พล.อ.ณัฐพล ยังได้ชี้แจงถึงข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดถึงไม่มีการสั่งห้ามไปเลยในข้อกำหนดว่า การออกประกาศ หรือ คำสั่ง  เมื่อประกาศไปแล้วต้องทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา โดยมีความคาดหวังว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ อย่างน้อย 14 วันโดยฝ่ายความมั่นคงไม่อยากที่จะมีการตั้งด่าน ส่วนการเวิร์ก ฟอร์ม โฮมนั้น ให้ทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยากขอความร่วมมือภาคเอกชนในช่วงเวลานี้เพื่องดการเดินทาง  

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้เป็นการแค่ชะลอไม่ใช้ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่หากไม่มีมาตรการที่เข้มขึ้นจะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกคนในการที่จะร่วมมือกันดูแลตัวเอง  

รายงานข่าวแจ้งว่า จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยน สอบถาม พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยประธานสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้สอบถามถึงการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนว่าไทยมีจำนวนเพียงพอตามความต้องการของประชาชนหรือหรือไม่ ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ในการจัดหาเตียง การรักษาตัวที่บ้าน พร้อมกับเสนอเรื่องการสื่อสารต้องมีที่มีความชัดเจน โดยประเด็นการบริหารจัดการวัคซีน นพ.โอภาสกล่าวยอมรับในข้อทักท้วงเรื่องการกระจายวัคซีน แต่ยืนยันว่า ในเดือนมิ.ย.ไทยได้รับวัคซีน 6 ล้านโดส  เดือน ก.ค. อีก 10 ล้านโดส  ซึ่งได้คาดการณ์ไว้เช่นนั้น ทั้งนี้ ตามเป้าหมายคือไทยจะมีวัคซีนจนถึงสิ้นปี 64 นี้  100 ล้านโดส ขณะนี้มีการการจัดหาวัคซีนเพิ่มทั้งซิโนแวค และไฟเซอร์ และเตรียมเจรจาเพิ่มอีก โดยการกระจายวัคซีนจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ และ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดที่สูง

ในเรื่องของวัคซีนเรื่องไฟเซอร์ นพ.โอภาส ได้ชี้แจงด้วยว่า วันที่ 19 ก.ค.จะเซ็นซื้อ 20 ล้านโดส ไม่ใช่ 40 ล้านโดส อย่างที่เป็นข่าวลือ โดยจะมาไตรมาส 4 หลังเซ็นจะขอทางบริษัทไฟเซอร์ซื้อเพิ่มอีก 50 ล้าน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่  และจะมาเมื่อไหร่ อีกทั้งจะขอซื้อจากNovavax ด้วย  ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกา บริจาค 1.5 ล้านโดส จะมาถึงประเมศไทยในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ยืนยันจะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ต้องปฎิบัติตามองค์ข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก พร้อมยอมรับว่า ข้อมูลการจัดซื้อวัคซีน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น จะปรับปรุงในเรื่องของการให้ข้อมูล นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า เวปไซต์กระทรวงสาธารณสุข และ กรมควบคุมโรค มีข้อมูลที่จะอ้างอิงในการจัดหาวัคซีนทั้งหมด รวมถึงยุทธศาสตร์วัคซีนในไทย

ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่ลดลง ดังนั้น จึงต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มขึ้นเพื่อควบคุมการระบาด แต่หากแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง ใน 2 เดือน ก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการคล้ายเมืองอู่ฮั่น ของจีน คือล็อกดาวน์เมืองนั้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด กล่าวคือ ประชาชนอยู่บ้าน งดการเดินทาง หรือถึงขั้นต้องส่งข้าว ส่งน้ำตามบ้าน เป็นต้น

ส่วนอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ฉายคลิปวีดีโอ การรักษา Home Isolation ว่า มีจำนวนครองเตียง 14,000 คน ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้ป่วยสีเขียวกับ สีเขียวอ่อน 77-78 เปอร์เซ็นต์ทำ Home Isolation และ community Isolation โดยมีคนป่วยรอที่บ้านอีกนับหมื่นคน สำหรับตัวเลขเสียชีวิตแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้  Home Isolation สำคัญมาก ในการแยกกักตัว การใช้ Telemonitor และเข้าสถานพยาบาล คนที่ครบ 7 วันในฮอสพิเทล คนไข้สีเขียวหายแล้วกลับบ้านได้จะต้องมีการประเมินอาการที่บ้านอีก 7 วัน สำหรับการจัดตั้งศูนย์พักคอยในพื้นที่ กทม.รวม 2,950 เตียง ทั้งนี้ ในส่วนของศูนย์พักคอยนั้นยืนยันว่าไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม และต้องให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องช่วยกัน

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับว่า บุคลากรในโรงพยาบาลหลัก โรงเรียนแพทย์ ค่อนข้างตึง จึงขอให้ชุมชนเข้ามามีสวนร่วม เราพยายามทำ virtual Hospital covid care set ที่กำลังเตรียมให้ อยากได้อาสาสมัครโทรคุย ถ้าสามารถเปลี่ยนเตียงใน hospitel20,000 เตียงถ้าได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นการดี จะมีการประเมินเป็นระยะ จะจบเมื่อฉีดวัคซีนได้มากพอ และมาตรการตอบสนอง ทั้งนี้ ไตรมาส 4 สถานการณ์ต่างๆจะดีขึ้น ช่วงนี้ยันสถานการณ์ไว้ ไม่ให้พุ่งขึ้น ช่วง 1-2 เดือนนี้วิกฤตที่สุดที่ต้องขอความร่วมมือ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"