ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าการประชุมสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน (Kim Jong-un) 12 มิถุนายนนี้จะมีผลลัพธ์และน่าตื่นเต้น แต่ไม่น่าจะจบในการเจรจาเพียงรอบเดียว ยืนยันว่าเกาหลีเหนือต้องยกเลิกนิวเคลียร์ทั้งหมด รัฐบาลสหรัฐยินดีที่จะลงนามยุติสงครามเกาหลี มีความสัมพันธ์ปกติ (normalization) หากดำเนินตามข้อตกลงทุกอย่างจนเสร็จสมบูรณ์
ชัยชนะของระบอบเกาหลีเหนือ :
ถ้ามองย้อนหลังปี 2016 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางโรดอง (Rodong) มูซูดาน (Musudan) ขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ (SLBM) ผ่านการทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วหลายครั้ง รัฐบาลโอบามาไม่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรง
เทียบกับกรณีซัดดัม ฮุสเซน ถูกกล่าวโทษว่ามีระเบิดนิวเคลียร์และอาจส่งมอบให้ผู้ก่อการร้ายไปโจมตีอเมริกา พันธมิตรในตะวันออกกลาง ในกรณีเกาหลีเหนือรัฐบาลสหรัฐไม่ยอมเอ่ยเรื่องทำนองนี้
ต้นปี 2017 ผู้นำคิมประกาศพร้อมทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในขั้นสุดท้าย จะทดลองยิงหลายครั้งและเป็นจริงตามนั้น กลางเดือนพฤษภาคม 2017 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธรุ่นใหม่ “ฮวาซอง-12” (Hwasong-12) ระบุว่าเป็นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลางถึงไกล ด้าน The U.S. Pacific Command (PACOM) เห็นว่าไม่ใช่ขีปนาวุธพิสัยไกล ยังไม่คุกคามแผ่นดินใหญ่
4 กรกฎาคม 2017 เกาหลีเหนือประกาศว่าประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) “ฮวาซอง-14” (Hwasong-14) สามารถยิงไกลถึง 10,000 กิโลเมตรสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ เกาหลีใต้ชี้ว่าอาจมีพิสัยไกล 7,000-8,000 กิโลเมตร แต่ยังไม่สรุปว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลที่ใช้การได้จริง ด้านรัฐบาลทรัมป์ถือว่าเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปแล้ว Rex W. Tillerson รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ (ในขณะนั้น) แถลงว่า “การทดสอบ ICBM ยกระดับภัยคุกคามต่อสหรัฐกับพันธมิตรและหุ้นส่วนต่อภูมิภาคและต่อโลก”
2 สัปดาห์ต่อมาเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป “ฮวาซอง-14” อีกครั้ง สื่อสหรัฐ สื่อตะวันตกประโคมข่าวความร้ายแรง ทั้งยั้งนำเสนอในเชิงว่าเกาหลีเหนือจะใช้นิวเคลียร์กับสหรัฐ ทั้งๆ ที่เกาหลีเหนือประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน
รายงานของหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐขัดแย้งกันเอง บ้างบอกว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์แล้ว บ้างบอกว่าไม่มี ในที่สุด Mike Pompeo ผู้อำนวยการ CIA ชี้แจงเมื่อสิงหาคม 2017 ว่าจนถึงบัดนี้รัฐบาลสหรัฐยังไม่คิดว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ จึงไม่ใช่ภัยคุกคามจวนตัว (imminent) ที่กังวลคือเกาหลีเหนือค่อยๆ พัฒนาจนใกล้สำเร็จแล้ว
ปี 2017 จึงเป็นปีที่สับสน สังคมอเมริกันอยู่ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือกับรัฐบาลตนเอง จนไม่แน่ใจว่าอะไรคืออะไร ข้อสรุปสุดท้ายจากรัฐบาลคือเกาหลีเหนือยังไม่มีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ แต่ต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ปล่อยไว้ไม่ได้
หากมองย้อนหลัง 1-2 ปีจะได้คำตอบว่าหากรัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อข่มขู่ เรียกร้องให้เปิดเจรจา ควรนับว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในขั้นแรกแล้ว
ขั้นต่อจากนี้คือการประกันความอยู่รอดของชนชั้นปกครอง
เกาเหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจริงแท้เพียงไร :
ปลายเดือนกรกฎาคม 2017 หลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ “ฮวาซอง-14” ไปแล้ว 2 ลูก รัฐบาลรัสเซียประกาศว่า เกาหลีเหนือต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถสร้างเป็น “อาวุธ” ชี้ว่าตัวขีปนาวุธใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ล้าสมัยมาก ต้องเสาะหาเครื่องมือชิ้นส่วนจากหลายแหล่ง และต้องใช้เวลาเตรียมการหลายเดือนกว่าจะพร้อมยิง
ต้นเดือนกันยายน 2017 ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า รัฐบาลรัสเซียไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์
คำถามเรื่องเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ มีขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์หรือยัง เป็นประเด็นที่สำคัญมาก มีผลต่อความเข้าใจการดำเนินนโยบาย การตัดสินใจของประเทศต่างๆ
มองจากมุมสหรัฐ หากเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ยิงถึงสหรัฐหรือใกล้จะมีแล้ว การเจรจาเพื่อทำลายอาวุธเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่หากเกาหลีเหนือปั้นเรื่องเพื่อขู่ การเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนือในท้ายที่สุดอาจไม่ลงเอยด้วยสันติภาพ ทำไมสหรัฐต้องเสียประโยชน์จากคำขู่หลอกๆ
สู่สันติภาพได้จริงหรือ :
Paul Wolfowitz อดีต รมต.กลาโหมสหรัฐ เห็นว่าการประกาศจะยกเลิกนิวเคลียร์เป็นคำพูดเดิมๆ ที่เกาหลีเหนือเคยละเมิดหลายรอบแล้ว ครั้งนี้คงไม่แตกต่าง ทั้งยังเห็นว่าการประชุมสุดยอดจะไม่ได้อะไร และควรพิจารณาเรื่องอาวุธทั่วไป (conventional weapons) การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย แนวคิดคือต้องทำให้เกาหลีเหนืออ่อนแอจนถึงที่สุด จนระบอบล่มสลาย ไม่ยอมรับฐานะรัฐอธิปไตยเกาหลีเหนือ เป็นตัวอย่างแนวคิดที่เห็นว่าสันติภาพคือทำลายศัตรู
Dan Smith ผู้อำนวยการ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) เห็นว่าการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนืออาจประสบความสำเร็จ แต่ไม่ควรเล็งผลเลิศจนเกินไป เพราะผลการเจรจาอาจได้เพียงกรอบข้อตกลงกว้างๆ แล้วให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาต่อไป และท้ายที่สุดอาจตกลงกันไม่ได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐไม่ได้คิดเรื่องคาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์เท่านั้น
จากข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เกิดคำถามว่า ท้ายที่สุดสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ หรือว่าเป็นแค่ “ระงับความตึงเครียดชั่วคราว” ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองแล้ว รัฐบาลสหรัฐกับอีกหลายประเทศ องค์กรวิชาการหลายแห่งยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน แต่ไม่มีใครรู้จำนวนที่แน่ชัด รายงาน North Korea’s Nuclear Futures : Technology and Strategy เมื่อปี 2015 ระบุว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด 10-16 ลูก เป็นระเบิดพลูโตเนียม 6-8 ลูก ยูเรเนียม 4-8 ลูก (weapons-grade uranium) อย่างไรก็ตามไม่ยืนยันข้อมูลนี้
รายงานของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ปี 2017 ประเมินว่าเกาหลีเหนือมี 10-20 หัวรบนิวเคลียร์
หากข้อตกลงกำหนดให้เกาหลีเหนือต้องละทิ้งนิวเคลียร์ทั้งหมด จะเกิดคำถามใหญ่ว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ทำตามนั้นจริงหรือไม่ สรุปว่ามีนิวเคลียร์กี่ลูก ทำลายแล้วกี่ลูก จะตรวจสอบอย่างไร ใครจะเป็นผู้ยืนยันการทำลาย ยืนยันว่าปลอดนิวเคลียร์จริง
รัฐบาลสหรัฐจะยอมรับผลการตรวจสอบหรือไม่ กรณีอิหร่านเป็นตัวอย่างว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของ IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานสหประชาชาติ
ไกลกว่าประเด็นนิวเคลียร์ มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถ “หาเรื่อง” ได้เสมอ ต่อให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์ ไร้ขีปนาวุธจริง ยังสามารถหาเหตุอื่นๆ เช่น สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย (ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐเคยกล่าวหาเรื่องนี้แต่ยกเลิกในเวลาต่อมา ในระยะหลังมีแนวคิดหยิบยกข้อกล่าวหานี้ขึ้นมาอีก) การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีหลักฐานมากมาย ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลคิม จึงต้องล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือ และอื่นๆ สุดแต่สรรหา
ความซับซ้อนของการเจรจาจึงอยู่ที่เรื่องเหล่านี้ด้วย อย่างไรเรียกว่าประกันความมั่นคงของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
เมื่อพิจารณาข้อมูลรอบด้าน เป็นไปได้ว่าผลการประชุมที่สิงคโปร์อาจได้เพียงข้อสรุปประกาศยุติสงครามเกาหลี ริเริ่มการเจรจาสันติภาพ โดยที่เกาหลีเหนือประกาศจุดยืนทำลายและยุติโครงการนิวเคลียร์ ขีปนาวุธข้ามทวีป แลกกับที่สหรัฐยอมรับการมีอยู่ของระบอบเกาหลีเหนือ คลายการคว่ำบาตร ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่อาจกินเวลาเป็นปี ข้อตกลงจะคงอยู่หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของกระบวนการที่ดำเนินเป็นขั้นๆ
ในขณะที่สื่อทั่วโลกนำเสนอข่าวการเจรจาสันติภาพอย่างครึกโครม ไม่ว่าผลการผลประชุมจะเป็นอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าความเป็นไปของคาบสมุทรเกาหลีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น
เกมคาบสมุทรเกาหลีเป็นเกมกระดานเล็กที่อยู่ในกระดานที่ใหญ่กว่า.
ภาพ : การทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป “ฮวาซอง-14” (Hwasong-14)
ที่มา : http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_02&newsID=2017-07-29-0001_photo
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |