ทร.ยอมรับเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ในงบฯ ปี 65 เจรจาจ่ายงวดแรก 1 ใน 3 ยืนยันมีหน้าที่ต้องเสนอ ต้องทำทุกปีและโดนโจมตีมาตลอด เตรียมข้อมูลแจง กมธ. ยันปลัด กห., ผบ.ทสส., ผบ.เหล่าทัพพร้อมแจง กมธ.ทางออนไลน์ ก้าวไกลขวางใช้เรือผิวน้ำแทน
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 พลเรือเอกเชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 พรรคฝ่ายค้านคัดค้านการตั้งงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีการเสนอในการจัดทำงบประมาณทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอตัดงบประมาณ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
“กองทัพเรือทำตามหน้าที่ที่เราต้องเสนอทุกปี เป็นขั้นตอนตามปกติ เช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม ในการดำรงภารกิจของตัวเอง ส่วนจะผ่านหรือไม่ผ่านนั้นก็ไม่เป็นไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมาธิการและรัฐสภา ไม่ได้มีอะไรซ่อนเร้น”
เมื่อถามว่า การเสนอจัดซื้ออาวุธช่วงนี้ถูกโจมตีว่าไม่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์โควิด พลเรือเอกเชษฐากล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอขึ้นไป ไม่ว่าเสนอปีไหนก็โดน และไม่ใช่เพิ่งโดน ก็โดนมาตลอด จะเลือกจากประเทศใด เยอรมนี สวีเดน จีน ก็โดนโจมตี
ส่วนกรณีสังคมไม่เห็นด้วยเพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนนั้น โฆษกกองทัพเรือกล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่เราต้องเสนอ คงต้องรอการพิจารณาในขั้นตอนของกรรมาธิการ ซึ่งฝ่ายค้านเขาก็ทำหน้าที่ของเขา กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ของเรา หากเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไร เมื่อกองทัพมีแผนพัฒนาเพื่อดำรงความพร้อมตามหน้าที่ เราก็ต้องทำ เมื่อเว้นไปก็จะมีผลกระทบ เนื่องจากโครงการเป็นลักษณะของแพ็กเกจ เมื่อจัดหาลำหนึ่งมาแล้ว จำเป็นต้องมีลำที่ 2-3 เพื่อนำมาหมุนเวียนช่วงซ่อมบำรุง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประกอบ
โฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า ในการตั้งงบประมาณปี 65 ได้มีการเจรจากับจีนขอลดวงเงินในปีแรกลง 1 ใน 3 ตามคำแนะนำของฝ่ายค้านเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเตรียมข้อมูล เหตุผล ความจำเป็นไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการ ส่วนรายละเอียดเรื่องตัวเลขนั้นกองประชาสัมพันธ์กองทัพเรือจะนำมาเผยแพร่ต่อไป
สำหรับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการจะใช้ระบบออนไลน์ โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพ, เสนาธิการเหล่าทัพ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, เสนาธิการทหาร, ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม, ปลัดบัญชีทุกเหล่าทัพจะอยู่ ณ ที่ตั้งหน่วยของตัวเอง แล้วชี้แจงไปยังห้องประชุมคณะกรรมาธิการ
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ครุภัณฑ์และไอซีที ใน กมธ.พิจารณางบประมาณ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยหรือกองทัพเรือจะต้องมีเรือดำน้ำ เพราะการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ยุทโธปกรณ์บนผิวน้ำ หรือการเจรจาทางการทูต ด้วยความที่เราได้จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว ก่อนที่จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งมอบให้ในปี 2566
"หากพูดในมุมของคนที่อยากได้เรือดำน้ำ ชุดความคิดที่จะซื้อต่อก็จะโต้เถียงยาก แต่เรายืนยันว่าสามารถชะลอการซื้อลำที่ 2-3 ออกไปได้แน่นอน เพราะความเสี่ยงภัยและภัยคุกคามของประเทศขณะนี้ไม่มีความเร่งด่วนที่ต้องมีเรือดำน้ำ ความเสี่ยงภัยขณะนี้คือด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนมากกว่า ฉะนั้นงบประมาณที่จะผูกพันไปอีก 6-7 ปีข้างหน้าจากการซื้อเรือดำน้ำนั้นคือ 2.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องทยอยจ่าย จึงยังไม่ควรต้องเริ่มการผูกมัดในปีงบประมาณนี้" นายพิจารณ์กล่าว
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะ กมธ.พิจารณางบประมาณ กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะเข้าสู่การรับทราบภาพรวมของ กมธ.คณะใหญ่ก่อน ซึ่งในขั้นตอนการเข้า กมธ.คณะใหญ่ครั้งแรกจะไม่มีการตัดลดงบประมาณใดๆ ทั้งนี้ต้องผ่านการพิจารณาของอนุ กมธ.ก่อน ซึ่งหากอนุ กมธ.ว่าอย่างไรก็จะต้องมารายงานและพิจารณากันอีกครั้งในชั้น กมธ.คณะใหญ่ว่าเห็นด้วยกับคณะอนุ กมธ.หรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |