ทุบสถิติทะลุหมื่นตาย141คน


เพิ่มเพื่อน    

  ทุบสถิติทะลุหมื่น! ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 10,082 ราย ยอดสะสมใกล้แตะ 4 แสน ขณะที่เสียชีวิตนิวไฮ 141 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ผุดเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ แทบทุกจังหวัดจำนวนผู้ป่วยขยับขึ้นหมด วิกฤติหนัก เฉพาะ กทม.-ปริมณฑลติดเชื้อรายใหม่ 4,841 ราย เสียชีวิต 108 ราย

    เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 หรือ ศบค. เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19  ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,082 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 9,913 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 7,443 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,470  ราย ติดเชื้อในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง 127 ราย จากต่างประเทศ 42 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม  391,989 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,327 ราย มียอดหายป่วยสะสม 278,184 ราย อยู่ระหว่างการรักษา  110,565 ราย อาการหนัก 3,454 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 839 ราย
    มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 141 ราย เป็นชาย 73 ราย  หญิง 68 ราย อยู่ใน กทม. 71 ราย นนทบุรี 18 ราย  สมุทรสาคร 7 ราย ปทุมธานี 6 ราย นครปฐม 5 ราย  อุบลราชธานี 4 ราย นราธิวาส, ปัตตานี, กาญจนบุรี  จังหวัดละ 3 ราย ยะลา, ฉะเชิงเทรา, ตราด, ปราจีนบุรี,  อุดรธานี จังหวัดละ 2 ราย สมุทรปราการ, สงขลา,  สระแก้ว, เชียงราย, กำแพงเพชร, ชัยภูมิ, นครนายก,  อ่างทอง, นครพนม, นครราชสีมา, หนองบัวลำภู จังหวัดละ  1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,240 ราย
    ส่วนยอดฉีดวัคซีนเพิ่มเติม จำนวน 307,134 โดส ทำให้มียอดสะสม 14,130,489 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อ 190,296,856 ราย เสียชีวิตสะสม 4,091,909 ราย
    สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่  กรุงเทพฯ 2,302 ราย สมุทรปราการ 849 ราย สมุทรสาคร 680 ราย ชลบุรี 659 ราย นนทบุรี 471  ราย นครปฐม 288 ราย สงขลา 286 ราย ปทุมธานี 251 ราย ฉะเชิงเทรา 245 ราย ยะลา 196 ราย เฉพาะใน กทม.และปริมณฑล ไม่รวมเรือนจำ ติดเชื้อรายใหม่ 4,841 ราย เสียชีวิต 108 ราย
    ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่มีเกิดขึ้นหลายจังหวัด ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วยใหม่ในโรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง อ.เมืองสมุทรสาคร 39 ราย จ.ชลบุรี ที่บริษัทชิ้นส่วนโลหะ อ.เมืองชลบุรี พบผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย จ.นนทบุรี พบ 2 คลัสเตอร์ คือโรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.บางบัวทอง พบผู้ป่วย 20 ราย และแคมป์ก่อสร้าง อ.บางกรวย พบผู้ป่วย 16 ราย จ.นครปฐม พบผู้ป่วยใหม่ที่โรงงานเครื่องหอม อ.สามพราน 15 ราย จ.ปราจีนบุรี ที่โรงงานจอทีวี อ.ศรีมหาโพธิ พบผู้ป่วย 25 ราย จ.พระนครศรีอยุธยา พบ 2 คลัสเตอร์ คือตลาดเจ้าพรหม อ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วย 7 ราย และโรงงานเครื่องกลึง อ.วังน้อย พบผู้ป่วย 9 ราย จ.สระบุรี พบในโรงงานปูน อ.แก่งคอย 12 ราย และ จ.กาญจนบุรี ที่โรงงานผลไม้กระป๋อง อ.ท่ามะกา พบผู้ป่วย 47 ราย
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.รับทราบด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้างในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 และการรักษาพยาบาล จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาการจัดการและปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมีอยู่อย่างจำกัด
    โดยในที่ประชุม ศบค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการตรวจหาเชื้อให้ครอบคลุมมากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง และการจัดการดูแลผู้ติดเชื้อในลักษณะการดูแลรักษาที่บ้าน  (Home Isolation) หรือการดูแลรักษาที่ชุมชน  (Community Isolation) และปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ Antigen Test Kit (ATK) ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อตรวจให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว ลดการแพร่ระบาดในชุมชน ซึ่งมาตรการ Home  Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน และมาตรการ Community Isolation หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน เป็นมาตรการเสริมซึ่งนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูงโดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล
มาตรการ Home Isolation
    ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อน้อย ก็ยังคงใช้มาตรการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม  ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนก็จะได้รับการดูแลเสมือนอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดส่ง Comprehensive Covid-19  Response Team หรือ CCR Team ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข  เครือข่ายภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุข  (อสส.) และเจ้าหน้าที่เขตของ กทม.ไปติดตามการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชนของผู้ป่วยด้วย
    ทั้งนี้ มาตรการ Home Isolation มีหลักการดังนี้
    1.ผู้ป่วยติดเชื้ออาการต้องไม่รุนแรงหรือเป็นผู้ป่วยที่จัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก  หรือมีภาวะโรคเสี่ยง
    2.ที่พักต้องเป็นแบบที่อยู่ด้วยกันแบบไม่แออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วต้องนอนรวมกันก็ไม่เหมาะกับ Home Isolation เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องจัดเป็น Community Isolation  หรือที่ชุมชนจัดให้แทน
    3.ผู้ป่วยต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว ไม่ควรออกไปนอกบ้านจนทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
    4.โรงพยาบาลจะเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด มีแพทย์ที่สามารถทำ Video Call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน มีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนให้ มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์และยาฟ้าทะลายโจร และมีอาหารให้ผู้ติดเชื้อ 3 มื้อ และในกรณีที่อาการเปลี่ยนแปลงจะส่งต่อรักษาโรงพยาบาลทันที
    สำหรับมาตรการ Community Isolation  หรือการดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยระบบชุมชน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและเจ้าของสถานที่หรือชุมชนจะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และความพร้อม โดยพิจารณาจากจำนวนและระดับอาการผู้ติดเชื้อ จำนวนและระดับอาการของผู้ที่เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง  สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ผู้ป่วยยืนยันติดโควิด-19 เป็นผู้ที่อยู่ในชุมชน เป็นผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา และรองรับได้ทุกกลุ่มผู้ป่วย โดยจะคัดเลือกพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนหรือภาคเอกชนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ เป็นความร่วมมือระหว่างเขต โรงพยาบาล  (ทั้งภาครัฐและเอกชน) และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และเป็นชุมชนที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยถึงเป้าหมายสำคัญ ในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการที่บ้านหรือแยกกักในชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้เข้ารับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด รวมทั้งยังช่วยสงวนเตียงโรงพยาบาลเพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงได้เพียงพอ นอกจากนี้ ผอ.ศบค.ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่จะมีการยกระดับที่เข้มข้น เช่น งดการรวมกลุ่ม, จำกัดการเดินทางข้ามพื้นที่, อยู่ในที่พักตามเวลาที่กำหนด โดยขอให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน
ปากน้ำวิกฤติติดโควิด 849 คน
    สำหรับสถานการณ์การระบาดในจังหวัดต่างๆ นั้น พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มในทุกพื้นที่ นายแพทย์พรณรงค์   ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 849 ราย
    เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 706 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 246 ราย อำเภอพระประแดง จำนวน 214 ราย อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 54  ราย อำเภอบางพลี จำนวน 144 ราย อำเภอบางบ่อ จำนวน 17 ราย อำเภอบางเสาธง จำนวน 31 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการ จำนวน 143 ราย  
    เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชายอายุ 66 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ รวมเสียชีวิตสะสม  254 ราย การตรวจคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI  และในชุมชน จำนวน 249,347 ราย พบเชื้อ  22,339 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1  เมษายนจนถึงปัจจุบัน จำนวน 26,616 ราย ในพื้นที่  22,339 ราย นอกพื้นที่ 4,277 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 1,417 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 1,967 ราย รักษาใน  Hospitel มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ  จำนวน 1,398 ราย  
    ข้อมูลจำนวนเตียงผู้ป่วยในสถานการณ์โรคโควิด-19  จังหวัดสมุทรปราการ ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2564  โรงพยาบาลรัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่นๆ จำนวนเตียงเต็ม โรงพยาบาลสนาม  (Hospitel และ Field Hospital) จำนวนเตียงคงเหลือ 162 เตียง โรงพยาบาลเอกชนจำนวนเตียงคงเหลือ 3 เตียง Hospitel โรงพยาบาลเอกชนจำนวนเตียงคงเหลือ 325
    คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่าทุกวันที่ผ่านมาคือ 191 ราย กระจายในพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอ  รวมยอดผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ 2,802 ราย รักษาหายรวม  1,198 ราย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 1,574 ราย และ เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 30 ราย                        
    สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นรายที่ 30 ของ จ.นครราชสีมา ลำดับที่ 1,067 อำเภอวังน้ำเขียว ตำบลวังน้ำเขียว เพศหญิง อายุ 72 ปี ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 วันที่ 22 มิ.ย.64 มีอาการป่วย เข้ารับการรักษาที่ รพ.วังน้ำเขียว ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 23  มิ.ย.64 ส่งต่อเข้ารับการรักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมาวันที่ 16 ก.ค.64 อาการไม่ดีขึ้น ถึงแก่กรรมเวลา 08.50 น.    
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด้านหน้าแคมป์คนงานบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง ริมถนนมะลิวัลย์ เขตเทศบาลนครขอนแก่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงตรวจคัดกรองคนงานภายในแคมป์แห่งนี้ รวมทั้งการห้ามเข้าออกนอกบริเวณที่กำหนดอย่างเข้มงวด ภายหลังจากที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ได้มีคำสั่งปิดแคมป์คนงานดังกล่าวโดยให้มีผลทันที และเจ้าหน้าที่ได้มีการติดประกาศคำสั่งไว้ที่บริเวณด้านหน้าที่ทำการ และส่งมอบให้ผู้บริหารของบริษัทได้รับทราบถึงประกาศดังกล่าว หลังพบแรงงานของบริษัทติดเชื้อโควิด-19 รวม 85 ราย
บุรีรัมย์เอาไม่อยู่ป่วยเพิ่ม 108 ราย
    นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข  จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ข้อมูลของแคมป์คนงานแห่งนี้ซึ่งมีหน้าที่ในการทำงานที่ไซต์งานสร้างอาคารของบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยจุดนี้เป็นที่พักของพนักงานและแรงงาน ซึ่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทีมสอบสวนโรคได้ลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง หลังจากพบผู้ป่วยชุดแรก 28 ราย และล่าสุดมีรายงานว่าการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงผลยืนยันชัดเจนว่า มีผู้ป่วยที่แคมป์คนงานแห่งนี้เพิ่มอีก ทำให้ยอดรวมผู้ป่วยของแคมป์คนงานแห่งนี้ขณะนี้มีทั้งสิ้น 85 ราย
    "แคมป์คนงานแห่งนี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับแคมป์ทั้งหมด  345 คน แยกเป็นคนงานไทย 223 คน และคนงานต่างชาติ 122 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มาจาก กรุงเทพฯ ซึ่งเข้ารับการตรวจ 28 ราย พบเชื้อ 26 ราย  แรงงานประจำแคมป์ 137 ราย ทำการตรวจพบเชื้อ 52  ราย พนักงานประจำบริษัท 62 ราย ตรวจพบเชื้อ 5 ราย  และช่างเชื่อมแบบไม่ประจำ ทำการตรวจ 2 ราย พบเชื้อ 2 ราย รวมจำนวนพบเชื้อทั้งหมด 85 ราย ซึ่งขณะนี้การบริการทางการแพทย์ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อควบคุมสถานการณ์ไว้ในวงจำกัดในภาพรวมแล้ว"
    ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1  เม.ย.64 ถึงวันที่ 16 ก.ค.64 ว่ายังคงน่าเป็นห่วง ล่าสุด วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 108 ราย เป็นตัวเลขทำสถิติสูงที่สุดตั้งแต่มีการระบาดมาของ จ.บุรีรัมย์ กระจายใน 17 อำเภอ แยกเป็นผู้ติดเชื้อพบในจังหวัด 10 ราย เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยง 65  ราย และพบก่อนเข้าสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ (Local  Quarantine) 33 ราย แยกเป็นรายอำเภอ ดังนี้ อ.นางรอง 12 ราย (ในพื้นที่ 1ราย), อ.คูเมือง 12 ราย  (ในพื้นที่ 4 ราย), อ.ประโคนชัย 28 ราย (ในพื้นที่ 4  ราย), อ.บ้านกรวด 3 ราย (ในพื้นที่ 1 ราย), อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ 4 ราย, อ.เฉลิมพระเกียรติ 3 ราย, อ.พุทไธสง 2 ราย, อ.สตึก 5 ราย, อ.กระสัง 14 ราย, อ.ละหานทราย 6 ราย, อ.ปะคำ 5 ราย, อ.หนองหงส์ 1  ราย, อ.ห้วยราช 4 ราย, อ.โนนสุวรรณ 3 ราย, อ.ชำนิ  1 ราย, อ.บ้านด่าน 4 ราย  และ อ.แคนดง 1 ราย
     รวมยอดผู้ป่วยสะสม 1,279 ราย เสียชีวิตสะสม 4  ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 297 ราย อยู่ระหว่างรักษา  978 ราย โดยอำเภอที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อ.เมืองบุรีรัมย์ 199 ราย รองลงมา อ.ประโคนชัย 133 ราย,  อ.กระสัง 118 ราย, อ.สตึก 93 ราย, อ.คูเมือง 72  ราย, อ.ห้วยราช 71 ราย และ อ.บ้านกรวด 67 ราย  ตามลำดับ
    ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคสะสม ทั้งหมด  1,147 ราย แยกเป็นรายใหม่ 30 ราย และรายเก่า  1,117 ราย ส่วนการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้ม/แดง/ส้ม สะสม 26,186 ราย แยกกักตัวที่บ้าน  22,445 ราย และกักตัวในท้องถิ่น 3,741 ราย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ก็ยังมีมาตรการคุมเข้มอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 17 ก.ค.64 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 195 ราย ทำให้ขณะนี้ จ.ยะลามียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 4,634 ราย รักษาใน รพ. 2,005 ราย  รักษาหายแล้ว 2,590 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม สะสมคงที่ 39 ราย
นครศรีฯ ติดเพิ่ม 65 ราย
     สำหรับผู้ติดเชื้อ 4,634 ราย พบใน อ.เมืองยะลา  1,929 ราย รายใหม่ 88 ราย อ.กาบัง 184 ราย รายใหม่ 4 ราย อ.ยะหา 288 ราย รายใหม่ 11 ราย อ.กรงปินัง 503 ราย รายใหม่ 17 ราย อ.เบตง 312 ราย  รายใหม่ 1 ราย อ.รามัน 359 ราย รายใหม่ 41 ราย อ.บันนังสตา 754 ราย รายใหม่ 18 ราย อ.ธารโต  305 ราย รายใหม่ 15 ราย
     ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราชรายงานสถานการณ์โควิดในจังหวัดว่า วันนี้ (17 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 65 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 41 ราย ซึ่งรับมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล  24 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,053 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 632 ราย (รับจาก กทม. 267 ราย)  รักษาหายแล้วสะสม 1,594 ราย และเสียชีวิตสะสม 25 ราย
    รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลาเปิดเผยว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกแบบเข้มข้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 286 ราย เสียชีวิต 1 ราย ติดเชื้อสะสม 8,960 ราย เสียชีวิตสะสม 38 ราย และยังพบคลัสเตอร์ใหม่จากโรงงานอุตสาหกรรมทรอปิคอลแคนนิง พบ 58 ราย นอนโรงพยาบาล 2,893 ราย หายแล้ว  6,029 ราย รอผลตรวจวันที่ 17 ก.ค.อีก1,232 ราย
    นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่  127 ราย หายป่วยเพิ่ม 163 ราย รวมยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 2,339 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตติดต่อกัน 1 สัปดาห์ วันนี้สถานะเรือนจำสีแดงและสีขาวมีการเปลี่ยนแปลง 1 แห่ง คือ เรือนจำกลางอุบลราชธานีที่พบผู้ต้องขังแดนในติดเชื้อ ส่งผลให้เรือนจำสีแดงที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มเป็น 15 แห่ง  และเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาดลดเหลือ 118  แห่ง โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่พบในเรือนจำสีแดง 115 ราย  และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 12 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสม 36,063 ราย หรือ 93% ของผู้ติดเชื้อสะสม 38,743 ราย สำหรับผู้ต้องขังที่ยังรักษาตัวอยู่ เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว 74.5% สีเหลือง  24.5% และสีแดง 1% ผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย  หรือ 0.1% ของผู้ติดเชื้อสะสม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"