ผ่าน ‘1 สัปดาห์ยาแรง’ เอาไม่อยู่ วิกฤติติดเชื้อ-วัคซีน ทรงกับทรุด


เพิ่มเพื่อน    

 

กำลังจะเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ภายใต้การนำของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ฉีดยาแรง “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี

                แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ที่ได้ในสัปดาห์แรกหลังการประกาศใช้จะไม่เป็นที่น่าพอใจนัก หลังยอดผู้ติดเชื้อวนทะลุหมื่นกว่ารายแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ค. เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตที่ทะยานไปถึงร้อยกว่าราย

                ยังไม่เห็นความแตกต่างที่เด่นชัดมากนัก ระหว่างก่อนและหลังของการประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวใน 10 จังหวัด มิหนำซ้ำยังน่ากังวลว่าสถานการณ์อาจย่ำแย่ไปกว่าเดิม

               ขณะที่สภาพปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น วันนี้ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปหรือมากกว่าเก่าในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการแชร์กันออกมา ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหลายคนต้องรอการรักษาอยู่ที่บ้านจนเสียชีวิตรายแล้วรายเล่า

ความช่วยเหลือปัจจุบันที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มาจากประชาชนทั่วไปที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะไม่สามารถทนเห็นสภาพแห่งความสิ้นหวังนี้ได้

                ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องอดตาหลับขับตานอนเพื่อไปต่อแถว-จองคิว ขอเข้าการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีอะไรการันตีว่า ทุกคนที่ไปแออัดยัดเยียดในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่จะได้รับการตรวจหาเชื้อ

                เช่นเดียวกับสภาพประชาชนที่ทราบผลว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐได้ ต้องออกมาตายดาบหน้าด้วยการนอนรออยู่บริเวณโรงพยาบาลเกลื่อนกลาด สะเทือนใจผู้คนที่พบเห็น

                มันเป็นภาพรวมสถานการณ์ที่ยังดำรงอยู่ ตั้งแต่ก่อน ศบค.จะประกาศล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวใน 10 จังหวัด รวมไปถึงหลังการประกาศแล้วจนถึงตอนนี้

                มาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวที่เป็นดังยาแรง และเคยใช้ได้ผลเมื่อตอนการระบาดรอบแรกต้นปี 2563 ดูเหมือนจะไม่สามารถใช้ได้ในรอบนี้ หลังสถานการณ์มันเลยจุดที่จะควบคุมได้ไปแล้ว

            มันเหมือนกับว่าตอนนี้ทำได้แค่เพียงแต่ภาวนาให้ตัวเลขลดลง ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต

                พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะรับรู้ได้ว่า ยาแรงเข็มล่าสุดที่ใช้มันออกอาการดื้อยาไปแล้ว ในการประชุม ศบค.วาระพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม จึงเตรียมการที่จะยกระดับมาตรการให้เข้มข้นขึ้นไปอีก

“ที่ประชุมเป็นห่วง และเห็นว่าอาจต้องปิดกิจการบางอย่างมากขึ้น มากที่สุด และอาจต้องปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เปิดกิจการ กิจกรรมถึงเวลา 20.00 น. เพื่อให้มีเวลาเดินทางกลับก่อนเวลา 21.00 น. ที่กำหนดห้ามออกนอกเคหสถาน ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศไปนั้นเป็นไปตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันเป็นการล็อกดาวน์เป็นพื้นที่ เฉพาะใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่เมื่อทบทวนมาตรการช่วง 5 วัน ยังพบว่าการบังคับใช้มาตรการยังน่าเป็นห่วง นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ขอให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาทบทวนมาตรการสาธารณสุข เพื่อเสนออย่างเร่งด่วน ขอให้ประชาชนและสื่อติดตามอาจจะมีการปรับมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นจากนี้” พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุตอนหนึ่งระหว่างการแถลงผลการประชุมเมื่อศุกร์

ท่าทีดังกล่าวยังเป็นสัญญาณว่า มาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว อาจจะไม่ได้ประกาศใช้เพียงแค่ 14 วันเหมือนที่วางกรอบเอาไว้ตอนแรก แต่มีแนวโน้มที่จะขยายออกไปอีก หลังสัปดาห์แรกหลังการประกาศใช้ไม่ได้ผล

ขณะเดียวกัน พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม อาจจะไม่ได้อยู่แค่ 10 จังหวัด หากสถานการณ์ยังเลวร้ายอยู่ เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายจังหวัดที่ไม่ได้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม พบผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายเป็นเวลาหลายวัน

นอกจากการขยายระยะเวลาล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวแล้ว จึงยังมีโอกาสที่จะปรับระดับพื้นที่ของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์อีกด้วย

                แต่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า การใช้ยาแรงย่อมมีผลข้างเคียง” เพราะมีหลายกิจการ/กิจกรรม ที่ต้องถูกปิดและได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว โดยเฉพาะเรื่องรายจ่ายที่มากกว่ารายรับ ประกอบกับการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและไม่สอดคล้อง

                เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดเผื่อไปข้างหน้าให้รอบคอบกว่านี้ เพราะขนาดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ออกมาเมื่อวันอังคาร ยังเป็นปัญหาอินุงตุงนังจนถึงตอนนี้

                เพราะปัจจุบันมีหลายจังหวัดออกมาขอความชัดเจนว่า มาตรการช่วยเหลือเยียวยามีเฉพาะใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มหรือไม่ และบางจังหวัดระบุว่า พวกเขาสมควรได้รับการเยียวยาแม้ไม่ใช่พื้นที่สีแดงเข้มก็ตาม เพราะมียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมากและได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่เหมือนกัน

                อย่างล่าสุดที่ จ.ชลบุรี แม้แต่ ส.ส.ในรัฐบาลอย่าง ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยังออกมาเรียกร้องให้เยียวยาประชาชนในจังหวัดตัวเองด้วย เพราะมีผู้ติดเชื้อเกินร้อยไม่แพ้พื้นที่ 10 จังหวัด

                “แม้ว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด แต่ จ.ชลบุรีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายอำเภอ และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งสูงทุกวัน โดยอยู่ใน 10 อันดับจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายคลัสเตอร์ โดยในวันนี้จังหวัดชลบุรีมีจำนวนผู้ติดเชื้อในลำดับ 4 รองจากจังหวัดสมุทรปราการและ กทม.”

                ดังนั้นหากสถานการณ์การติดเชื้อนอกเหนือจาก 10 จังหวัดเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีการใช้ยาแรงเป็นระยะเวลายาวนานออกไป ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลเองต้องคิดคำตอบเอาไว้ล่วงหน้าเหมือนกัน

                ขณะที่ปัญหาวัคซีนโควิด-19 วันนี้ใกล้เคียงกับคำว่าเละมากขึ้นตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการฉีดวัคซีนผสมสูตร โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วบูสเตอร์เข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า และให้ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และให้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มสอง ที่แม้จะมีการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่าปลอดภัยทำได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้สั่งห้าม แต่ในแง่ของความมั่นใจของประชาชนติดลบ

                ลำพังให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ประชาชนยังลังเลและคลางแคลงใจเรื่องประสิทธิภาพ แต่วันนี้ให้ฉีดสลับยี่ห้อ ก็ทำให้ประชาชนหลายคนชะลอการเข้ารับวัคซีน

                ในขณะเดียวกัน ยังเกิดการตั้งคำถามว่า สาเหตุที่รัฐบาลตัดสินใจฉีดสลับยี่ห้อ แท้จริงเป็นเพราะเกิดปัญหาวัคซีนขาดแคลนหรือไม่ จึงเลือกความเสี่ยงแบบนี้

สอดรับการกรณีที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ออกมายอมรับแล้วว่า “แอสตร้าเซนเนก้าไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ได้ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลได้แจ้งกับประชาชนไว้”

                เช่นเดียวกับมติคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ที่ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยผลการหารือถึงเรื่องการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน ตลอดจนได้มอบหมายให้เลขานุการคณะกรรมการดำเนินการเจรจาอย่างเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคภายในประเทศ

                ประเด็นของแอสตร้าเซนเนก้าจึงกลับมาถูกจับจ้องอีกครั้ง โดยเฉพาะเครื่องหมายคำถามตัวโตว่า ในเมื่อประเทศไทยเป็นฐานผลิต ประกอบการมีการอุดหนุนวงเงิน 600 ล้านบาท ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนผลิตในประเทศ เหตุใดประเทศไทยจึงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

                เรื่องจึงลามกลับมาสู่สัญญาขอแอสตร้าเซนเนก้าอีกครั้ง หลังตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้อย่าง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเข้มข้นอีกรอบ

“ตกลงแล้วสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส ที่ลงนามในวันที่ 12 ม.ค.2564 นั้นมีเงื่อนไขจำกัดการส่งออก และประเทศไทยมีสิทธิ์ซื้อก่อน อยู่หรือไม่ แล้ว ณ วันนี้ ที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน 10 ล้านโดสต่อเดือน รัฐบาลสามารถบังคับสัญญาได้หรือไม่”

เรื่องแอสตร้าเซนเนก้าถือเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาลที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ และวางเป้าหมายการฉีดวัคซีนเอาไว้เรียบร้อยในปีนี้

สัญญาของแอสตร้าเซนเนก้าจะเป็นประเด็นล่อแหลมในวันที่ประเทศขาดแคลนวัคซีน อาจนำไปสู่การตรวจสอบรายละเอียดสัญญาว่ามีพิรุธอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่

มิเพียงเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องเจอความกดดันอีกหนึ่งคำรบคือ เมื่อทำไม่ได้อย่างที่พูด จะต้องแสดงความรับผิดชอบหรือไม่

                อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเดินมาถึงจุดวิกฤติ ที่รัฐบาลต้องคิดทำอะไรที่ดีกว่านี้ เพื่อแลกกับผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม

                โดยเริ่มจากการพูดความจริงกับประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่มีทางแก้ได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"