แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤติโควิดที่มีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว แต่การทำงานขององค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในด้านการไต่สวนสำนวนคำร้องต่างๆ ยังมีออกมาต่อเนื่องและน่าสนใจหลายคดี ทั้งการดำเนินการกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการประจำในระดับชาติและท้องถิ่น เช่น การชี้มูลนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการที่องค์การคลังสินค้าเลือกบริษัท สยามอินดิก้า เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการตั้ง ป.ป.ช.ทั้งหมดเป็นองค์คณะไต่สวนคดีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 หรือล่าสุดกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการชี้มูลความผิดนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับพวก ฐานทุจริตประกวดราคาซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คดีสำคัญๆ ใน แฟ้มสำนวน ป.ป.ช. ก็มีหลายคดีกำลังจะได้ข้อสรุปในอนาคตอันใกล้นี้ ตามคำเปิดเผยของ นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มาเปิดเผยความคืบหน้าการทำงานของ ป.ป.ช.ไว้ว่า จากที่ก่อนหน้านี้ทางตัวแทนสำนักงาน ป.ป.ช.แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการไต่สวนคำร้องคดีต่างๆ ของ ป.ป.ช. โดยเฉพาะ 15 คดีสำคัญนั้น ก็มีทั้งคำร้องที่จบไปแล้วและคำร้องที่ใกล้จะแล้วเสร็จ ตัวอย่างเช่นคดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ ที่ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้อำนวยการเหมืองแร่ไปแล้วหนึ่งคน ส่วนเรื่องข้อกล่าวหาการให้สินบนอยู่ระหว่างการรอข้อมูลอย่างเป็นทางการจากฮ่องกง
...ส่วนคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่ต่อเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวภาคแรก อยู่ระหว่างการสรุปเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อวินิจฉัย น่าจะเสร็จประมาณไม่เดือนกรกฎาคมก็อาจเป็นสิงหาคม รวมถึงคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจีจำนวน 4 สัญญา ที่ไม่ใช่การซื้อขายแบบจีทูจีจริง
สำหรับ คดีเงินทอนวัด เป็นเรื่องที่มีหลายสำนวน มีร่วม 20 สำนวน แต่บางสำนวน ป.ป.ช.มีการชี้มูลไปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็ถูกศาลตัดสินไปบางรายแล้ว รวมถึงยังมีกรณีที่ ป.ป.ช.ไปยึดทรัพย์กรณีพบว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ
...ส่วนคดีจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT200 และอัลฟา 6 อยู่ระหว่างดำเนินการสรุปเรื่องทั้ง 26 เรื่อง น่าจะเสร็จช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้ ขณะที่คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาฟุตซอลที่จังหวัดนครราชสีมา อัยการสูงสุดแจ้งว่ามีความเห็นสั่งฟ้องคดีแล้ว จะมีการยื่นฟ้องแน่นอน ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ กับพวกมีชื่ออยู่ด้วย แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนยังไม่แล้วเสร็จ
...คดีต่างๆ ที่เคยแถลงไว้ 15 คดี จะแล้วเสร็จในชั้น ป.ป.ช.ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยอาจจะมีบางเรื่องที่ช้าไปบ้าง เช่นเรื่องข้าวจีทูจี ถ้าไม่ทันก็อาจต้องรอไปถึงเกือบสิ้นปีเพราะเอกสารเยอะมาก
โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบัน บัญญัติว่าหลังจากมีการตั้งกรรมการไต่สวนแล้ว ป.ป.ช.ต้องพิจารณาเรื่องให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีและขยายได้อีกหนึ่งปี อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีการไต่สวนในคำร้องที่มีข้อกล่าวหาในลักษณะ สินบนข้ามชาติ ถือเป็นคดีระหว่างประเทศ ซึ่งตามกฎหมายจะไม่มีการนำเรื่องการนับระยะเวลามาใช้บังคับ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้อายุความเช่นกัน ซึ่งการดำเนินคดีระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช.เรามีสำนักต่างประเทศ ที่จะคอยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เหมือนกับเป็น ป.ป.ช.ของต่างประเทศ หรือหน่วยงานต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันของต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ร่วมเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตฯ ที่เป็นของยูเอ็น ที่มีชาติสมาชิกประมาณหนึ่งร้อยกว่าประเทศ ที่มีการทำข้อตกลงว่าทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือกัน ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยมีการประสานงานทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
-เรื่องข่าวข้อกล่าวหามีการจ่ายสินบนเพื่อเลี่ยงการชำระภาษีนำเข้ารถโตโยต้า ป.ป.ช.ต้องรอให้ศาลยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้เสร็จสิ้นก่อนหรือไม่?
ตอนนี้เราก็ดำเนินการตรวจสอบควบคู่กันไป ความจริงแล้วเรามีการประสานกันเป็นทางลับอยู่แล้วกับหน่วยงาน เรื่องนี้เรามีการตรวจสอบอยู่ มีการได้รับมอบหมายให้ประสานงานไปยังต่างประเทศแล้ว แต่ยังไม่ให้ข่าวมากนักเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อข้อมูลที่ต่างประเทศให้เรา
เช่นเดียวกับคดีโรลส์-รอยซ์ (คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing ของบริษัทการบินไทย) พอมีข่าวเรื่องการให้สินบนโรลส์-รอยซ์ ก็มีบางหน่วยงานขอข้อมูลไปยังประเทศอังกฤษ บางหน่วยงานก็มีการขอข้อมูลไปที่ต่างประเทศเช่นกัน จนกระทั่งต่างประเทศเขาสับสนว่าหน่วยงานไหนที่มีหน้าที่จะมาขอข้อมูลจากเขา เขาก็บอกเขางง ทำให้เรื่องความร่วมมือเลยเกิดการชะงัก เรื่องพวกนี้มัน sensitive ระหว่างประเทศ ต้องระมัดระวัง
ส.ส.พปชร.เสียบบัตรแทนกันรอดยาก!
-การสอบสวนเอาผิด ส.ส.เสียบบัตรแทนกันในห้องประชุมสภาตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างไร?
เรื่องการเสียบบัตรแทนกันในห้องประชุมสภาใกล้จะมีการแถลงข่าวผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการแล้ว ก็อย่างที่มีข่าวออกมาว่ามี ส.ส.กี่รายที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ที่จะแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือจะมีการลงมติของที่ประชุมสภาตอนพิจารณร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิฯ รวมถึงการเสียบบัตรตอนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะมีสองกฎหมาย โดยกฎหมายแรกจะเป็นกรณีมี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ เป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่ไม่อยู่ในที่ประชุมสภา แต่มีชื่อลงคะแนน ร่วมลงมติในร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิฯ เราพิสูจน์ได้ว่าตอนที่สภาลงมติ ตัวเขาไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ในช่วงเวลานั้นเขาไปงาน เพราะได้รับมอบหมายให้เป็นประธานจัดงานแห่งหนึ่งแถวๆ รัฐสภา แต่เราเช็กแล้วงานนี้กลับมาไม่ทันแน่นอนตอนลงมติ กับ ส.ส.อีกกลุ่มหนึ่ง ตอนสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ไม่อยู่ในที่ประชุมสภา เช่นเดินทางกลับไปต่างจังหวัด เดินทางไปต่างประเทศ เราเช็กไทม์ไลน์เขาก็พบว่าไม่อยู่จริงๆ แต่มีชื่อเขาลงมติ เราถือว่าแบบนี้ชัดเจน ถือว่าเขาไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภา แต่มีการฝากบัตรให้ลงคะแนนกัน โดยเขามีเจตนาเอาบัตรของเขาไปฝากไว้
และก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคืออยู่ในห้องประชุมด้วย แล้วคนที่ฝากบัตรก็อยู่ อันนี้มันยังเทาๆ อยู่ พยานหลักฐานยังไม่ชัดว่าเขาฝากเพื่อมีเจตนาอย่างไร เพราะตัวเขาอยู่ เพียงแต่เขาอาจลงไม่ทัน ก็เลยฝากอีกคนช่วยเสียบบัตรแทน แต่ตัวเขาแสดงเจตนาว่าจะลงมติอย่างไร อันนี้เราถือว่าพยานหลักฐานยังไม่ชัด แต่ถือว่าทำผิดระเบียบข้อบังคับการประชุม ก็ต้องใช้วิธีส่งเรื่องให้ประธานสภาไปพิจารณาเอาเอง ตลอดจนอีกกลุ่มหนึ่งคือมีภาพวีดิทัศน์แต่ภาพเป็นช็อตสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเสียบบัตรเข้าไปแล้วถอนบัตรออกมา ทำ 2-3 ครั้ง โดยถือบัตรไว้สองอัน แต่ไม่รู้ว่าบัตรใคร แต่ภาพก็ยังไม่ชัดว่ากดปุ่มหรือเสียบบัตร เลยเอาผิดเขาไม่ได้ พยานหลักฐานยังไม่ชัดต้องปล่อยไป
-การไต่สวนคดีน้องชายนายกฯ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เรื่องแสดงบัญชีทรัพย์สินจะแล้วเสร็จได้เมื่อใด?
เป็นเรื่องของการจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินที่ไม่ถูกต้อง โดยมีทรัพย์สินบางรายการที่ยื่นไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อน ป.ป.ช.ก็มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา เปิดโอกาสให้เขาชี้แจงข้อกล่าวหา ตอนนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงอยู่
ส่วนคดีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย (สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา เรื่องจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์) ตอนนี้ระหว่างขั้นตอนที่อัยการตั้งข้อไม่สมบูรณ์ โดยตอนนี้มีการตั้งกรรมการร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ เร็วๆ นี้น่าจะแล้วเสร็จ แต่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุด
-ในส่วนของการตรวจสอบงบประมาณหรือการทำหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้จะมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ท. แต่ก็อาจจะมีปัญหาในเชิงพื้นที่ เช่นอิทธิพลของคนในพื้นที่ หรือมีปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่นการตรวจสอบงบสร้างเสาไฟฟ้าต่างๆ หลายแห่งที่เป็นข่าวออกมา ป.ป.ช.สามารถเข้าไปสนับสนุนการตรวจสอบใน อปท.ได้หรือไม่ ?
วันนี้ในส่วนของ ป.ป.ช.หากเรื่องใดที่อยู่ในความสนใจของ ป.ป.ช. ทางเลขาธิการ ป.ป.ช.ก็ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ลงไปดำเนินการตรวจสอบ
อย่างกรณีการก่อสร้างเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมต่างๆ ความจริงมันมีเรื่องเดิมอยู่แล้ว แต่สื่ออาจไม่ทราบว่าจริงๆ มีการร้องเข้ามายัง ป.ป.ช.แล้ว ที่ก็คือในพื้นที่ อบต.ที่เป็นข่าวตามสื่อมวลชน ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบการใช้งบประมาณว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่ เช่นก่อสร้างในพื้นที่ ก็ดูว่าพื้นที่ดังกล่าวมีถนนหรือไม่ มีประชาชนอยู่กันเป็นครอบครัวเป็นชุมชนเยอะหรือไม่ หรือว่าไปสร้างตรงท้องไร่ท้องนา รวมถึงดูเรื่องความคุ้มค่าของราคาในการสร้าง เสาไฟฟ้าธรรมดาทำไมใช้ไม่ได้ เป็นเมืองท่องเที่ยวหรือว่าเป็นเมืองธรรมดา จะเอาแบบเชียงใหม่ที่เขาสร้างเพื่อดึงดูดความสนใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องมาวิเคราะห์ดูกันถึงความคุ้มค่าเหมาะสม ป.ป.ช.ก็ได้เข้าไปตรวจสอบดำเนินการอยู่
"งบประมาณวันนี้ที่มีการกล่าวหากันมากที่สุด 60 เปอร์เซ็นต์เป็นการกล่าวหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่องการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง เช่นมีการฮั้วกัน มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ถูกต้อง ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง หรือระเบียบการของท้องถิ่นนั้นๆ ที่มีเป็นจำนวนมาก"
...ถ้าเป็นผู้กระทำความผิด เราพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายก อบต., นายกเทศบาล, นายก อบจ. อะไรพวกนี้เป็นต้น โดยจะมีในส่วนของนักการเมืองบ้าง คือนักการเมืองเป็นผู้สนับสนุน ในลักษณะเป็นโครงการที่นักการเมืองพยายามผลักดันโครงการลงมา หรือนักการเมืองเป็นผู้รับเหมาจัดซื้อจัดจ้างเอง เพียงแต่เปิดบริษัทให้คนอื่นไว้บังหน้า อันนี้เยอะเหมือนกันโดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจสอบสวนเอาผิดไปได้ถึงตัวการ ผู้สนับสนุน รวมถึงผู้ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐได้หมด
คดี 'เอ๋-ปารีณา' ป.ป.ช.หวังน็อกคาศาล?
เมื่อถามถึงกรณีรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช.ให้อำนาจ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกรรมการองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีทำผิดจริยธรรม หลังเกิดเคสคดี ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูก ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา กรณีการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบ เราถามถึงว่าการสอบสวนเอาผิดว่าใครทำผิดจริยธรรมพิจารณาจากอะไร มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดหรือไม่ นิวัติไชย โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. อธิบายเรื่องนี้โดยละเอียดว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่อง จริยธรรม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 219 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับองค์กรอิสระ ไปร่วมกันยกร่างจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น กรรมการการเลือกตั้ง, กรรมการ ป.ป.ช., กรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน, หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระ โดยให้มีผลบังคับใช้กับ ส.ส., ส.ว.และรัฐมนตรีด้วย แต่ต้องเป็นเรื่อง จริยธรรมร้ายแรง
..."มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561" มีการประกาศใช้เมื่อมกราคม 2561 ดังนั้น หลังจาก 30 มกราคม 2561 ที่มีการประกาศใช้มาตราฐานทางจริยธรรมดังกล่าว ทำให้หากผู้ใดมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดจริยธรรม ถ้าเป็นเรื่องการทำผิดจริยธรรมร้ายแรง เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องดำเนินการไต่สวนและยื่นคำร้องไปยังศาลฎีกา โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด เช่นคดีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ ป.ป.ช.มีการดำเนินคดีเรื่องจริยธรรม
...โดยในเรื่องจริยธรรมจะมีกำหนดไว้ด้วยกัน 3 หมวด โดยหมวดแรกเป็นเรื่องอุดมการณ์ เช่นการต้องจงรักภักดีต่อชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ เคารพรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ผิดกฎหมาย ซึ่งการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ผิดกฎหมาย คือต้องรักษากติกา หมวดที่สองคือเรื่องจริยธรรมที่เป็นเรื่องค่านิยมหลัก เช่นต้องไม่มีการกระทำอันเป็น conflict (การขัดกันแห่งผลประโยชน์) ซึ่งกันและกัน เช่นไม่ใช่ว่าตัวเองเปิดบริษัทเอกชน แล้วเอาบริษัทดังกล่าวไปรับจ้างกับหน่วยงานรัฐที่ตัวเองมีหน้าที่กำกับดูแล อันนี้เป็นเรื่อง conflict หรือว่าเอางบประมาณลงไปในพื้นที่ตัวเอง เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองเพื่อจะได้นำไปโฆษณาหาเสียง แบบนี้ก็เป็นเรื่อง conflict รวมถึงเช่นการรักษาความลับของที่ประชุม การให้ข้อมูลตามความเป็นจริงที่เป็นเรื่องเจตนารมณ์ ที่เป็นค่านิยมหลักกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรมทั่วๆ ไป
...หากมีการทำผิดในหมวดอุดมการณ์หลักถือว่าทำผิดจริยธรรมร้ายแรง เช่นถ้าผิดข้อใดข้อหนึ่ง อาทิ ไม่จงรักภักดีต่อชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไม่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หรือไปแสวงหา หรือยินยอมรู้เห็นให้ผู้อื่นนำตำแหน่งหน้าที่ของตนไปแสวงหาผลประโยชน์ หรือไปเรียกรับ หรือไปรับทรัพย์สินของผู้อื่น รวมถึงทำผิดกฎหมายต่างๆ อันนี้คือเรื่องของอุดมการณ์หลัก ซึ่งถ้าพบว่ามีใครทำผิดก็ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง
โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวต่อไปว่า การ พิจารณาของ ป.ป.ช.ในเรื่องความผิดจริยธรรม จะดูก่อนว่ากรอบเรื่องจริยธรรมเขียนไว้อย่างไร อย่างกรณีของ ปารีณา ไกรคุปต์ เขาถูกกล่าวหาเรื่องการครอบครองที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยคุณปารีณาที่ไม่ใช่เกษตรกร เป็น ส.ส.แต่ไปขอใช้พื้นที่โดยอ้างว่าเป็นเกษตรกร โดยพื้นที่่ดังกล่าวเป็นเขตป่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเขตที่ป่ายกให้เป็นที่ ส.ป.ก.เพื่อแบ่งปันให้เกษตรกรไปทำประโยชน์ในพื้นที่ เช่นไปทำการเกษตร แต่คนที่จะมาขอทำเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ต้องเป็นเกษตรกร ไม่มีอาชีพอื่น มีรายได้ต่อเดือนไม่กี่หมื่นบาท แต่คุณปารีณาเดิมเขาครอบครองมาก่อน แล้วครอบครองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ชี้ก่อนหน้านั้นที่เขาครอบครอง ก่อนหน้านั้นเขาอาจจะผิดบุกรุกที่ป่า กระทำการที่ไม่ถูกต้องในแง่ของไม่ได้มีคุณสมบัติการเป็นเกษตรกรมาก่อน แล้วมาขอใช้พื้นที่เพื่อทำการเกษตรไม่ได้ เพราะเขาครอบครองพื้นที่เป็นร้อยๆ ไร่ เจตนารมณ์ของ ส.ป.ก.คือแบ่งปันพื้นที่เกษตรให้ราษฎรคนละไม่เกิน 50 ไร่ หากคุณไปครอบครองทั้งหมด ส.ป.ก.ก็ไม่สามารถเอาที่ดินไปจัดสรรให้เกษตรกรรายอื่นได้ คนที่เขายากไร้กว่าไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้ จากที่ ส.ป.ก.จะต้องแบ่งเป็น 50 ไร่ ที่ไม่รู้ว่าหากแบ่งแล้วจะมีคนได้ตั้งกี่คน
“เพราะฉะนั้นถือว่าคุณเป็น ส.ส. มีหน้าที่ในการออกกฎหมาย แล้วการกระทำของคุณ คุณรู้หรือไม่ว่า ได้ครอบครองที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีโฉนด คุณบอกว่าคุณได้เสียภาษี แต่ ภ.บ.ท.5 เป็นเรื่องของท้องถิ่นที่คุณไปชำระกันเอาเอง แต่ไม่ใช่หลักฐานการแสดงการเสียภาษี และหลังจากที่คุณครอบครอง คุณครอบครองต่อเนื่องเรื่อยมา มีการไปขอน้ำขอไฟ มีการไปขอจดทะเบียนเป็นบริษัท มีการไปเปิดเป็นบริษัทเลยในพื้นที่นั้นเพื่อทำเกษตร ขายไก่ขายอะไรต่างๆ ลักษณะแบบนี้มันก็ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง เพราะฉะนั้นการกระทำก็ไม่ถูกต้อง และในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.เขาก็ยังครอบครองพื้นที่ดังกล่าวอยู่ ก็ถือว่าเขาผิดกฎหมายแล้ว แต่ไม่ได้ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่ผิดในแง่ของการดำรงตนในฐานะ ส.ส.ที่ต้องเป็นผู้รักษากฎหมาย เพราะคุณเป็นคนออกกฎหมายเอง และต้องเคารพสิทธิ ยึดมั่นในประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน มันก็เข้าหลักอันนี้ เพราะคุณไม่ได้ยึดมั่นในประโยชน์ของราษฎรที่เขายากไร้เลย เขาจะมาขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก. แต่คุณไปกันไว้หมดแล้ว เพราะเมื่อเขาไปครอบครองไว้ คนอื่นก็เข้าไม่ได้ เขาจะเข้ามาประกาศแล้วแบ่งพื้นที่ออกเป็น 50 ไร่ คนอื่นก็เข้าไม่ถึง ก็คือไปแย่งที่ดินทำกินของคนที่เขาเป็นเกษตรกรจริงๆ"
เมื่อถามว่า คดีปารีณาถูกยื่นฟ้องเอาผิดจริยธรรมเป็นคดีแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในส่วนของกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาจะดำเนินไปอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. อธิบายว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของทางศาล เพราะเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลเสร็จก็ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา กฎหมายเขียนไว้ว่าเมื่อส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแล้ว หากศาลฎีกาประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณา ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่จนกระทั่งศาลตัดสิน เพราะฉะนั้นกรอบเวลาที่ศาลจะตัดสินเสร็จคงใช้เวลาไม่เกินปี ซึ่งหากศาลฎีกาตัดสินวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องทำผิดตามที่ ป.ป.ช.แจ้งไป เขาก็จะถูกตัดสิทธิ์คือ พ้นจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งนั้นอีกตลอดไป คือห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐตลอดไป นอกจากนั้นยังถูกตัดสิทธิ์ที่จะไปสมัครรับเลือกตั้ง และอาจจะถูกตัดสิทธิ์ในการไปลงคะแนนเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีก็ได้ อันนี้เป็นดุลยพินิจของศาลฎีกา
-ความมั่นใจของฝ่าย ป.ป.ช.ในการสู้คดีในศาลฎีกามีมากน้อยแค่ไหน?
เรื่องนี้เป็นเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมที่เพิ่งเริ่มเป็นคดีแรก ก็อยู่ที่ศาลจะวางดุลยพินิจในการวินิจฉัยคดีไว้อย่างไร ถ้าวางดุลยพินิจเช่นเดียวกับที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้กับการดำเนินคดีกับนักการเมืองอีกหลายคนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ในเรื่องการบุกรุกและครอบครองที่ดินโดยมิชอบ เพื่อเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์ของแผ่นดินกลับคืนมาสู่แผ่นดิน เพราะมันคือทรัพย์สินของทางราชการ เพราะที่ดินป่าเขา เป็นของแผ่นดิน ผู้ใดบุกรุกครอบครองไม่ได้ ผู้ใดจะอ้างสิทธิต่อสู้ไม่ได้เพราะมันเป็นที่ของแผ่นดิน
-ในส่วนของการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมยังมี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณีการครอบครองที่ดินโดยมิชอบเช่นเดียวกับกรณี ปารีณา ถึงตอนนี้ ป.ป.ช.สอบไปถึงไหนแล้ว?
ผมคิดว่าตอนนี้มีประมาณ 20 กว่าคนแล้ว ก็มีทั้งที่มีคนร้องเข้ามาแล้วเราตรวจสอบบัญชีพบ คือเขาแจ้งบัญชีทรัพย์สินไว้ว่าเขาครอบครอง กับในส่วนที่มีการร้องเข้ามายัง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ รวมแล้วก็ประมาณ 20 กว่าราย โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนอีกหนึ่งราย ยังไม่แล้วเสร็จ ก็เป็นประเด็นเรื่องจริยธรรมเช่นเดียวกัน
ป.ป.ช.ต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสารหลักฐาน เพราะการครอบครองที่ดินบางครั้งครอบครองมานานแล้ว โดยบางครั้งก็ครอบครองแบบหาเอกสารไม่เจอ หรือบางทีเอกสารถูกทำลายก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เพราะมีการอ้างว่าน้ำท่วมบ้าง ไม่ได้เก็บรักษาหรือคนที่ครอบครองเดิมไม่รู้เก็บเอกสารไว้ที่ไหน เพราะการที่จะไปดำเนินการเอาผิด มันขึ้นอยู่กับเอกสารหลักฐาน เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินป่าไม้
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ป.ป.ช.มีหน่วยงานที่เรียกว่า หน่วย GIS คือหน่วยงานวิเคราะห์ แปลและอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ที่จะตรวจสอบได้ว่าที่ดินเดิมเป็นที่ของป่าไม้เมื่อปี พ.ศ.ใด เรามีแผนที่ภาพถ่ายอยู่ มีแนวแบ่งเขต ทำให้รู้ได้ว่าคนที่ครอบครอง มีการไปขอเอกสารถูกต้องหรือไม่ เราก็ดูจากสิ่งนี้นำมาประกอบกัน
-ช่วงนี้คำร้องเกี่ยวกับนักการเมือง ส.ส. รัฐมนตรี ออกมาเยอะติดๆ กัน?
คือ ป.ป.ช.ทำการพิจารณาเรื่องมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ผลสัมฤทธิ์มาบรรลุในช่วงใกล้เคียงกัน เนื่องจากกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบันเขียนไว้ให้ต้องมีการเคลียร์คดีให้ได้ตามกรอบเวลา เลยเป็น priority สำคัญที่ ป.ป.ช.ต้องทำให้แล้วเสร็จ ส่วนเรื่องที่ร้องเข้ามาใหม่ก็ต้องทยอยทำไปเรื่อยๆ แต่ต้องเร่งเรื่องที่ค้างอยู่ ทำให้ผลสัมฤทธิ์เลยออกมาในช่วงใกล้เคียงกัน เพราะหากเกินกำหนดสามปี เจ้าหน้าที่ก็จะถูกเล่นงาน ถูกดำเนินการทางวินัยถ้าปล่อยปละละเลย
ถามทิ้งท้ายเรื่องที่สังคมก็ยังคงมองว่า ป.ป.ช.อาจได้รับแรงกดดันทางการเมือง อาจมีเรื่องการร้องขอจากฝ่ายการเมืองในการทำสำนวนคดีบางคดีของ ป.ป.ช. นิวัติไชย-โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความเห็นกับประเด็นนี้ว่า คืออาจจะเป็นความเข้าใจของประชาชนหรือต่อสาธารณะ อย่างเช่นอาจมีกรรมการเราเคยทำงานกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เลยไปมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะถูกสั่งการหรือถูกอะไรได้ แต่อย่าลืมว่า ป.ป.ช.มีกรรมการเก้าคน ถ้าจะล็อบบี้ต้องล็อบบี้กับทั้งเก้าคนหรือกึ่งหนึ่งของกรรมการ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีความเห็นตรงกัน เพราะเวลาประชุมกรรมการก็มีการ defend มีการถกเถียงกันมาก ไม่ใช่ว่าเห็นสอดคล้องต้องกันหมด เพราะกรรมการแต่ละคนก็มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน และเป็นลักษณะองค์คณะ ซึ่งเมื่อมีการนำเสนอข้อเท็จจริง มีพยานหลักฐานชัดเจน คิดว่าจะไปเบี่ยงเบนพยานหลักฐานยาก เพราะมันตอบสังคมยาก เพราะฉะนั้นต้องเชื่อมั่นและเชื่อใจก่อน.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |